ที่เห็นและเป็นไป : บทบาทที่‘หลงทาง’ของกกต. โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

วันก่อนที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีวาระรับฟังรายงานผลปฏิบัติการประจำปีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยเปิดโอกาสให้ ส.ส.อภิปรายคนละ 7 นาที

เท่าที่ติดตามฟังแล้ว เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ของ ส.ส.ที่เสนอตัวขึ้นมาอภิปราย ล้วนไม่พอใจการทำงานของ กกต.ที่ผ่านมา

มีประเด็นมากมายที่ ส.ส.ช่วยกันชี้ให้เห็นความล้มเหลวในการทำหน้าที่ของ กกต.

จากเดิมที่กองการเลือกตั้ง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เป็นแม่งานจัดการเลือกตั้ง แล้ว ส.ส.เห็นว่าการใช้กลไกราชการมาทำหน้าที่นี้ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ เพราะข้าราชการถนัดที่จะทำหน้าที่รับใช้ผู้มีอำนาจ เป็นช่องว่างทำให้เกิดการจัดการเลือกตั้งไม่เป็นธรรม หรือถึงขั้นร่วมมือทุจริตกับผู้สมัครบางคน

Advertisement

จึงเรียกร้องให้มี “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” ในสถานะองค์กรอิสระที่ไม่ขึ้นตรงต่อใครขึ้นมา ด้วยความหวังว่าจะทำให้การเลือกตั้งโปร่งใส เป็นธรรม ไม่มีทุจริต

แต่ดูเหมือนว่าความหวังนั้นไม่เคยเป็นจริง

จากวันแรกที่ตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งมาทำหน้าที่แทนกระทรวงมหาดไทยจนถึงวันนี้ การจัดการเลือกตั้งยังไม่เคยสักครั้งที่จะได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย

Advertisement

เรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวกับการสมคบกับผู้สมัครบางคน หรือพรรคบางพรรคเพื่อกำหนดผลเลือกตั้งตามธงมีอยู่ตลอด แทบจะเรียกได้ว่าในทุกขั้นตอนตั้งแต่รับสมัคร จนถึงรับรองผลการเลือกตั้ง เลยไปถึงการพิจารณา
ยุบพรรค

กกต.ซึ่งมีหน้าที่จัดการเลือกตั้งให้โปร่งใสเป็นธรรมกลับเป็นว่ายิ่งอยู่ยิ่งเป็นที่กังขาของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นผู้แพ้หรือผู้ชนะมากยิ่งขึ้นทุกที

หากใครได้ฟัง ส.ส.อภิปรายเรื่องการทำงานของ กตต.เมื่อวันก่อน น่าจะรู้สึกไม่ต่างกันว่า ปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นและขยายความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกวันนี้เพราะ กกต.ไม่ทำหน้าที่อย่างที่ควรจะทำ

ที่เป็นเช่นนี้นั้น บางทีอาจจะเกิดจากการตั้งเป้าหมายภารกิจที่ไม่ถูกทางของ กกต.

แทนที่จะกำหนดบทบาทตัวเองไว้ที่จัดการเลือกตั้งให้มีความโปร่งใส ประชาชนได้ใช้สิทธิอย่างเท่าเทียม

กลับไปกำหนดไว้ที่ทำให้ผลการเลือกตั้งได้คนดีเข้ามาทำหน้าที่ตัวแทนประชาชน

และตรงนี้เป็นปัญหา เนื่องจากภารกิจของ กกต.พลิกไปเป็นเรื่องการกำจัดคนไม่ดีไม่ให้เข้ามาทำหน้าที่ได้

ทว่า “คนดี” หรือ “คนไม่ดี” นั้น ไม่ควรจะเป็นเรื่องที่ กกต.ตัดสิน

การเคารพการตัดสินใจของประชาชน เชื่อมั่นในอำนาจประชาชนต่างหากที่ควรจะเป็นหลักยึดของ กกต. แทนที่จะวางตัวเองเป็นผู้ตัดสินความดี ความไม่ดีของคน อันนำมาซึ่งความยุ่งยาก เกิดการทำหน้าที่ตีตความกฎหมายโดยไม่เคารพอำนาจประชาชน

กกต.เป็นองค์กรหลักของการปกครองระบอบประชาธิปไตย

มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเชื่อมั่นใจอำนาจประชาชน เชื่อในการตัดสินใจของประชาชน

คนที่มาทำหน้าที่ต้องเริ่มจากไม่หมิ่นแคลนความสามารถของประชาชนในการเลือกผู้แทน

เนื้อหาการอภิปรายของ ส.ส.ต่อบทบาทหน้าที่ของ กกต.ดังกล่าว ว่าไปแล้วสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องหยิบยกมาขยายให้เป็นแผนปฏิบัติการเพื่อสร้างคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ทำงานในภารกิจที่ควรจะเป็น

ผลงานของ กกต.จะต้องไม่ใช่ “ปริมาณที่สามารถจับผิดผู้สมัครได้” แต่ต้องเป็น “การสร้างทัศนคติที่เชื่อมันต่อการตัดสินใจของประชาชน” ให้ทุกคนทุกฝ่ายตระหนักถึงอำนาจของประชาชน ซึ่งเป็นหัวใจของประชาธิปไตย

การตัดสินใจของประชาชนคือความยุติธรรม

กกต.ไม่ควรเน้นหน้าที่ในการหมิ่นแคลนการตัดสินใจของประชาชนว่าไม่ชอบธรรม

เนื่องจากตราบใดที่ กกต.ยังทำหน้าที่อย่างหวาดระแวง ไม่ไว้วางใจความรู้ความสามารถในการเลือกของประชาชน ยังกำหนดภารกิจไว้ที่จ้องจับผิดประชาชน เนื่องจากมีทรรศนะไม่ให้เกียรติ ไม่ไว้วางใจ หมิ่นแคลนประชาชน ตราบนั้น กกต.จะไปกำหนดความดีความไม่ดีของผู้สมัคร ของประชาชน

การทำหน้าที่ด้วยทัศนคติเช่นนี้แต่เริ่มต้น ไม่มีทางที่จะอำนวยความยุติธรรมได้

เนื่องจากยุติธรรมจะไม่เกิดขึ้นจากอคติ

ด้วยเหตุสิ่งที่ ส.ส.พูดถึงบทบาทของ กกต.เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา สมควรอย่างยิ่งที่ผู้มีอำนาจควรเอามาสังเคราะห์ให้เป็นปัญหาที่แท้จริงของการจัดการเลือกตั้ง

การเลือกตั้งที่เป็นหัวใจของประชาธิปไตย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image