สุชาติ รับวิกลจริต ซัด ‘กวีภิวัฒน์’ คือนั่งร้าน รปห. ร่ายรอยด่างของแวดวง

สุชาติ รับวิกลจริต ซัด ‘กวีภิวัฒน์’ คือนั่งร้าน รปห. ร่ายรอยด่างของแวดวง เผยเข้าใจ ‘ขุนเขาที่ร่วมปีน อาจคนละด้าน’

วันที่ 23 มกราคม นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อเขียน ผ่านทางเฟซบุ๊ก สุชาติ สวัสดิ์ศรี จำนวนหลายโพสต์ โดยมีใจความว่า

บทกวี The Hill We Climb ของ อแมนด้า กอร์แมน ที่แปลอีกสำนวนหนึ่งโดย ธีรภัทร เจริญสุข กวีรุ่นใหม่ และเป็นคนรุ่นใหม่ที่ “ไม่เอารัฐประหาร” และไม่ใช่ “นั่งร้านเผด็จการ”
อแมนด้า กอร์แมน เป็นกวีรุ่นใหม่ชาวอเมริกันผิวสี อายุ 22 เธอมีจิตใจรักประชาธิปไตย เสรีภาพ และ ความเป็นธรรม ไม่แตกต่างไปจาก “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ อายุ 22 และ อานนท์ นำภา อายุ 30 กว่าๆ ที่ก็รักชอบในเรื่องการแต่งบทกวีเช่นเดียวกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับข้อเขียนที่ 2 ความว่า

Advertisement

เนื่องมาจาก “อแมนด้า กอร์แมน” และ “กวีภิวัฒน์” (ตอบโพสต์ใน ฟ.บ.ของ Siriworn Kaewkan)

“คนวิกลจริตทางการเมือง” ณ ที่นี้รับทราบแล้ว
บางทีผมอาจจะ “วิกลจริต” มาตั้งแต่เมื่อครั้งขบวน กปปส. และพันธมิตรฯ ขัดขวางการเลือกตั้ง และขัดขวางหลักการประชาธิปไตย (ที่มาจากการเลือกตั้งของ “นายกยิ่งลักษณ์”) เพื่อ “สมรู้ร่วมคิด” เปิดทางให้ คสช.เข้ามาทำรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และหนึ่งในขบวนขัดขวางการเลือกตั้ง ขัดขวางหลักการประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2557 หลังจาก “นายกยิ่งลักษณ์” ยุบสภา ไม่ว่าจะโดยตั้งใจ ไม่ตั้งใจ หรือจะแก้ตัวประการใดก็ตาม รูปธรรมที่ชัดเจนส่วนหนึ่งก็คือหนังสือรวมบทกวีชื่อ “กวีภิวัฒน์” ที่ประกาศตัวพิมพ์ออกมาในช่วงเดือนมีนาคม เพื่อหาเงินช่วยการต่อสู้ทางการเมืองของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ (ที่ต่อมายอมรับว่าตนเองนั้นสมรู้ร่วมคิดกับ คสช.ทำรัฐประหาร)

ดังนั้น ถ้าเห็นว่าหลักการประชาธิปไตย เช่น ยุบสภา – ให้เลือกตั้งใหม่ ( ของ “นายกยิ่งลักษณ์” ) เป็น “ความวิกลจริตทางการเมือง” ของผม ผมก็พอจะเข้าใจความเป็นไปต่างๆ แล้วล่ะครับว่า มันเกิดความไม่ปกติอะไรขึ้นในแวดวงกวี/นักเขียน/ศิลปิน บ้านเรา

Advertisement

เอาวะ – บ้าก็บ้าวะ
อยากให้ท่านอื่นๆ ในแวดวงช่วยชี้แนะความวิกลจริตของผมด้วย

โดยข้อเท็จจริงตามไทม์ไลน์ ผมไม่เคยเชียร์ทั้ง “ทักษิณ” และ “ยิ่งลักษณ์” มิหนำซํ้ายังเคยขึ้นเวที “เสื้อเหลือง” ที่สนามหลวง ภายใต้การนำของนายสนธิ ลิ้มทองกุล เมื่อช่วงต้นปี 2549 เพื่ออ่านแถลงการณ์ในนาม “แนวร่วมนักเขียนแห่งประเทศไทย” ที่ผมเป็นคนเขียน โดยกล่าวว่า “ทักษิณ” เป็นตัวปัญหา และขอให้ทักษิณ “เว้นวรรคทางการเมือง” ต่อมานายกทักษิณก็เว้นวรรคทางการเมือง แต่แล้วในช่วงกลางปี 2549 ก็เกิดรัฐประหารของ คมช.ที่นำโดย “บิ๊กบัง” มีการสร้างแนวทางเรื่อง “นายก” ผมก็เลยรู้ว่าถูก “ขบวนเสื้อเหลือง” ของนายสนธิ ลิ้มทองกุล หลอก ผมนี่แหละครับด่าทักษิณมาก่อน เรื่องนี้เป็นความผิดพลาดอย่างยิ่ง ผมก็ยอมรับและได้ขอโทษไปแล้วอย่างเป็นลายลักษณ์ โดยเรียกว่า “สำนึกพลาด”

ผมก็วิกลจริตแบบไม่เนียนมาเช่นนี้แหละ ดังนั้นอย่ามาส่งเดชว่าผมเชียร์ “ทักษิณ – ยิ่งลักษณ์” และในความถูกต้อง – ถ้าย้อนเวลาได้ ก็ควรจะสนับสนุนด้วยซํ้า เพราะไม่ว่าจะมีข้อผิดพลาดอย่างไร ทั้ง ทักษิณและยิ่งลักษณ์ ก็มาจากหลักการประชาธิปไตย ถ้าไม่ชอบ – ถึงเวลาก็ไปเลือกตั้งกันใหม่ได้ ไม่ใช่มาจากการ “เป่านกหวีด” สนับสนุนเผด็จการทางอ้อม โดยไม่ว่าจะตั้งใจ หรือแก้ตัวอย่างไรก็ตาม มันก็คือการเป็นนั่งร้าน หรือการสมรู้ร่วมคิดให้กับการทำ “รัฐประหาร” ของ คสช.เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 (ดังปรากฎการณ์ในหนังสือ “กวีภิวัฒน์” ที่กลายเป็น “รอยด่าง” ของแวดวงกวีไทยร่วมสมัย ทั้งที่ตั้งใจ และเนียนๆเบลอๆ มาแทบทุกยุคทุกสมัย เมื่อครั้ง “เพื่อชีวิต” ก็เหมือน “ซ้ายจัด” เต็มรูปแบบ พอเวลาผ่านไป กลายเป็น “เพื่อชีวิต-เป่านกหวีด” แต่กลับอ้างว่าเปล่งเสียงแบบ “ศรีบูรพา” “นายผี “เสนีย์ เสาวพงศ์” เปลื้อง วรรณศรี จิตร ภูมิศักดิ์ หน้าตาเฉย ซึ่งเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของประวัติศาสตร์ที่แวดวงกวี/นักเขียน/ศิลปิน รุ่นต่อไปจะประเมิน เพื่อศึกษาอาการ “ลงแดง” ของผู้คนในแวดวงระดับต่างๆ)
หมายเหตุ : ที่โพสต์อีกด้านหนึ่งมานี้ ก็ไม่ทราบว่า ฟ.บ. “ข่าวสารวงการหนังสือ” จะถือเป็นธุระในการส่งทอด เหมือนเช่นที่แชร์โพสต์ของกวีหนุ่มคนนั้นหรือไม่ (เรื่อง “กวีนั่งร้าน” นี้ยังมีโพสต์ต่ออีก – ถ้าต้องการ )

สำหรับข้อเขียนที่ 3 ความว่า

หนังสือรวมบทกวีที่ชื่อ “กวีภิวัฒน์” ไม่ว่าใครจะตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจ หรือไม่ว่าจะแก้ตัวอย่างไร ( เช่น “ฉันไม่ได้อยู่ข้างไหนนะ” “ฉันเป็นกลาง” ) แต่สิ่งที่เปล่งเสียงออกมาเมื่อหนังสือเล่มนี้ปรากฎ ก็คือ การร่วมขบวน “เป่านกหวีด” เพื่อขัดขวางหลักการประชาธิปไตย ไม่ยอมรับการประกาศ “ยุบสภา” คืนสิทธิ์ให้ประชาชนทุกกลุ่มเหล่าไปใช้ “วิธี” เลือกตั้งกันใหม่ แต่แล้วขบวน กปปส. ที่มีบรรดา “กวีภิวัฒน์” ที่มีผลงานปรากฎเป็น “นั่งร้าน” ในหนังสือเล่มนี้ ไม่ว่าจะตั้งใจ ไม่ตั้งใจ หรือจะเนียนๆ เบลอๆ ในเวลาต่อมาอย่างไรก็ตาม มันก็เหมือนเป็น The Hill We Climb แบบ “แนวร่วมด้านกลับ” ให้กับการทำรัฐประหารของ คสช.ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เพราะขุนเขาที่กำลังปีนป่ายต่อมาก็คือ “ขุนเขาเผด็จการ” และขุนเขาลูกนี้ยังทอดเงาสืบทอดอำนาจเผด็จการต่อมาในรูปแบบ “อำพราง” ต่างๆ แม้เวลาจะผ่านไป 7 ปีกว่าแล้วก็ตาม (เช่น การยื้อเวลาในการร่างรัฐธรรมนูญ การประกาศ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” เพื่อการเปลี่ยนผ่านรัชกาล และการ “ถวายอำนาจคืน” และที่ชัดเจนก็คือการมี “ส.ว.ลากตั้ง” 250 คน ที่มี “กวีเป่าขลุ่ย” หนึ่งในหัวขบวนของ กปปส. และ “กวีภิวัฒน์” รวมอยู่ด้วย )

ว่าไปแล้ว บทกวี The Hill We Climb ของ อแมนด้า กอร์แมน ที่มีบรรดา “กวีภิวัฒน์” ในขบวน กปปส. ( ที่ต่อมากลายเป็นส่วนหนึ่งของการ “ขัดขวางการเลือกตั้ง” ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ เนียนๆ เบลอๆ ไปเรื่อย ขอให้ได้เขียนแล้วกัน (โดยที่บางคนอาจตามไม่ทันว่าตัวเองได้กลายเป็นเหมือน “นั่งร้าน” ให้กับการรัฐประหารของ คสช.ในเวลาต่อมา)

ครับ ผมก็เข้าใจที่มี “กวีภิวัฒน์”หลายคนรู้สึกสะเทือนใจกับ “พลังของถ้อยคำ” ของอแมนด้า กอร์แมน แต่บทกวีของอแมนด้า กอร์แมน ที่มันส่งพลังเปล่งเสียงออกมาชัดเจนนั้น ก็เพราะมันคือ The Right Side of the Hill We Climb ไม่ใช่ The Wrong Side of the Hill We Climb

แทนที่จะพยายามทำความเข้าใจกับเรื่องราวที่ผ่านมาอย่างไม่มีอคติ แต่ก็กลับเหมือนยังไม่สำนึกพลาด เนียนๆ เบลอๆ ไปเรื่อย ก็ไม่ว่ากันหรอก เพราะก็พอเข้าใจมานานแล้วว่า “ขุนเขา” ที่ “เรา” ต่างปีนร่วมกันมามากกว่า 7 ปีนั้น (ความจริงต้องนับมาตั้งแต่การทำรัฐประหารของ คมช. เมื่อ พ.ศ.2549 ) มันอาจอยู่คนละด้าน และมีภูมิทัศน์ที่แตกต่างกันออกไป

หมายเหตุ : ไม่ทราบว่าโพสต์นี้ ฟ.บ.”ข่าวสารวงการหนังสือ” จะนำไปร่วมส่งต่อเหมือนเช่นที่แชร์โพสต์ของ “กวีภิวัฒน์” 2 คนนั่นหรือเปล่า นี่เป็นเนื้อหาของ “ข่าวสารวงการหนังสือ” เช่นเดียวกันนะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image