นิด้าโพลยก ‘เฉลิมชัย’ แก้ราคายางเจ๋ง ปราบ AFS ในหมูอยู่หมัด ลั่นปี 64 ลุยงานเพื่อเกษตรกร

นิด้าโพลเผยผลสำรวจเกษตรกรร้อยละ 79.27 พอใจผลการทำงาน “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” หลังแก้ราคายางเจ๋ง พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในรอบ 3 ปี แถมคุมโรค ASF อยู่หมัด ทำส่งออกสุกรพุ่งถึง 2.2 หมื่นล้าน พร้อมลุยตลาดนำการผลิตจนเห็นผล ประกาศลั่น ปี 64 ลุยทำงานหนักเพื่อเกษตรกรใน 15 โครงการพัฒนา

วันที่ 24 ม.ค. 64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้เปิดเผยผลสํารวจความคิดเห็นของเกษตรกร เรื่อง “การดําเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์” ซึ่งทำการสํารวจในช่วงเดือนธันวาคม 2563 – มกราคม 2564 จากเกษตรกรที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,225 ตัวอย่าง ประกอบด้วย เกษตรกรสวนยางพารา 421 ตัวอย่าง เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร 400 ตัวอย่าง และเกษตรกรทั่วไป 404 ตัวอย่าง

โดยสอบถามถึงความพึงพอใจต่อผลงาน และการทำงานของ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ข้อมูลในภาพรวมพบว่า ผลงานและการทํางานของ นายเฉลิมชัย ค่อนข้างพอใจถึงพอใจมากที่ร้อยละ 79.26 ส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ค่อนข้างพอใจถึงพอใจมากที่ร้อยละ 83.26

พร้อมกันนี้ นิด้าโพล ยังได้เปิดเผยผลสำรวจที่เจาะลึกถึงความพึงพอใจในแต่ละกลุ่ม พบว่า ความพึงพอใจของกลุ่มเกษตรกรสวนยางพาราต่อผลงานและการทํางานของ นายเฉลิมชัย ค่อนข้างพอใจถึงพอใจมากที่ร้อยละ 82.90 ส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ค่อนข้างพอใจถึงพอใจมากที่ร้อยละ 81.48 สำหรับผลงานที่พึงพอใจ ได้แก่ การประกันรายได้เกษตรกร เงินเยียวยาเกษตรกรชาวสวนยางพารา การรับประกันราคายางพารา และการพักชําระหนี้เงินกู้ยืมเกษตรกร เป็นต้น

ขณะที่ความพึงพอใจของกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรต่อผลงานและการทํางานของ นายเฉลิมชัย ค่อนข้างพอใจถึงพอใจมากที่ร้อยละ 81.00 ส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ค่อนข้างพอใจถึงพอใจมากที่ร้อยละ 89.00 โดยผลงานที่พึ่งพอใจ เช่น ราคาซื้อขายเนื้อสุกรมีราคาดีขึ้น และการควบคุมโรคระบาดของกรมปศุสัตว์ เป็นต้น

Advertisement

ส่วนความพึงพอใจของกลุ่มเกษตรกรทั่วไปต่อผลงาน และการทํางานของนายเฉลิมชัย ค่อนข้างพอใจถึงพอใจมากที่ร้อยละ 73.76 ส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ค่อนข้างพอใจถึงพอใจมาก ที่ร้อยละ 79.45 สําหรับผลงานที่พึงพอใจ เช่น การจ่ายเงินเยียวยาช่วยเหลือเกษตรกร การประกันราคาผลผลิตทางการเกษตร และการส่งเสริมมาตรฐาน GAP เป็นต้น

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตุว่า สาเหตุที่เกษตรกรในกลุ่มต่างๆ มีความพึงพอใจต่อผลงาน และการทำงานของนายเฉลิมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นั้น เป็นผลสืบเนื่องจากความสำเร็จในการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญ ที่สร้างประโยชน์ให้กับเกษตรกรอย่างเด่นชัดในหลายๆ นโยบาย

อาทิ การผลักดันราคายางพาราจนขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ ภายใต้โครงการและมาตรการต่างๆ ส่งผลให้ราคายางพาราท้องถิ่น ราคาประมูลตลาดกลางการยางแห่งประเทศไทย และราคาส่งออก FOB โดยเฉพาะราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ณ ตลาดกลางยางพาราสงขลา ปรับตัวสูงที่สุดในเดือนตุลาคม 2563 ที่กิโลกรัมละ 83 บาท สูงมากที่สุดในรอบ 3 ปี ขณะที่ราคาสูงสุดปี 2561 ที่กิโลกรัมละ 53 บาท ปี 2562 ราคาสูงสุดที่กิโลกรัมละ 60 บาท ด้วยใช้ยุทธศาสตร์การตลาดนำการผลิตในโครงการประกันรายได้ เฟส 1 และ 2 รวมถึงมาตรการสนับสนุนต่าง ๆ

Advertisement

ขณะที่นโยบายการตลาดนำการผลิต เป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับบริบทของประเทศและการเปลี่ยนแปลงของโลกในทุกมิติ โดยยึดเกษตรกรเป็นศูนย์กลาง คำนึงถึงประโยชน์ของเกษตรกรเป็นหลัก โดยร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ และภาคเอกชน จัดหาตลาดเพิ่มช่องทางจำหน่าย นำเทคโนโลยีและข้อมูลทันสมัยมาใช้ทำการตลาดอย่างแม่นยำ สร้างเกษตรกรให้เป็นผู้ค้าออนไลน์มืออาชีพ ส่งเสริมและสร้างความเชื่อมั่นให้สินค้าไทย ผ่านทั้งตลาดออฟไลน์ ตลาดออนไลน์ คอนแทรคฟาร์มมิ่ง และ เคาน์เตอร์เทรด ได้ส่งผลดีต่อเกษตรกรเป็นอย่างมาก

การเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever : ASF) เป็นอีกผลงานที่ทำให้ไม่เกิดการระบาดได้เด็ดขาด 100% ส่งผลทำให้มีการส่งออกสุกรได้เพิ่มมากขึ้น ในปี 2563 มีมูลค่าเกิน 22,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่า 300% จากปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังรับคำชื่นชมจากองค์กรระหว่างประเทศว่า ไทยเป็นประเทศที่มีการป้องกันที่ดีที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ปลอดโรคระบาดเป็นเวลา 2 ปีติดต่อกัน ในขณะที่มี 34 ประเทศทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างมาก

นายเฉลิมชัย ได้ให้สัมภาษณ์ถึงผลการสำรวจของนิด้าโพลว่า ต้องขอขอบคุณที่เกษตรกรมีความพึงพอใจต่อการทำงานและผลงานที่ผ่านมา ขอยืนยันว่า ตนเองจะทุ่มเททำงานต่อไปอย่างเต็มที่ในการปฎิรูปภาคการเกษตรของประเทศไทย เพื่อให้นำมาซึ่งประโยชน์สุขและความอยู่ดีกินดีของพี่น้องเกษตรกร โดยเฉพาะในปี 2564 ที่จะดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ที่กำหนดใน 5 ยุทธศาสตร์ 15 โครงการที่กำหนดไว้

“ปี 2564 ในส่วนของสินค้าเกษตรที่สำคัญ อย่าง ยางพารา ได้ตั้งเป้าให้ไทยเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์จากยางพาราเพื่อส่งออก ส่วนแนวโน้มราคายังมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อีก และอยู่ในแนวบวก จากปัจจัยความต้องการซื้อของจีน แต่ยังคงต้องจับตาทิศทางราคาในตลาดล่วงหน้าของโตเกียว ซึ่งเป็นปัจจัยชี้วัดที่สำคัญ รวมทั้งปัจจัยกลไกลตลาดและมาตรการของรัฐบาล โดยเฉพาะการขับเคลื่อนโมเดลเกษตรฯ-พาณิชย์ทันสมัย และนโยบายเกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด

“เป้าหมายดำเนินงานอีกประการ คือ การเดินหน้าสู่เป้าหมายเป็นศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพของโลก ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19จะยึดความปลอดภัยในอาหารสำคัญ โดยเฉพาะสุกรจะเป็นสินค้าเรือธง เพราะชื่อเสียงด้านการป้องกันโรคเป็นที่รับรู้ทั่วโลก รวมถึงการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรในสาขาอาชีพต่าง ๆเช่น การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ซึ่งกรมหม่อนไหมจะเน้นทำงานเชิงรุก เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าหม่อนไหมและเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากสถานการณ์ต่างๆ เป็นต้น ” ดร.เฉลิมชัย กล่าว

ขณะที่ น.สพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมถึงการควบคุมโรค ASF ว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังคงมีสถานะปลอดจากโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ท่ามกลางการระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน เป็นเวลา 2 ปีกว่าแล้ว สิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญเกิดจากทั้งความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ ในการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดในต่างประเทศอย่างใกล้ชิด จนนำไปสู่การเตรียมความพร้อมที่ดี โดยมีแผนเฝ้าระวังป้องกัน ควบคุม และกำจัด ที่มีประสิทธิภาพเป็นที่ยอมรับของสากล อีกทั้งรัฐบาลให้ความสำคัญยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ อีกทั้งยังได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนด้วย

“ ที่ถือเป็นพลังสำคัญที่ช่วยส่งผลให้ประเทศไทยสามารถยืนหยัดปลอดโรค ASF ได้ คือ ความร่วมมือของภาคเอกชน สมาคมต่างๆ และเกษตรกร รวมถึงหน่วยงานภาครัฐอื่นๆที่เกี่ยวข้องถึง 26 หน่วยงาน ที่รวมพลังกันต้านโรคนี้อย่างเข้มแข็ง หากทุกภาคส่วนยังคงสามัคคี ร่วมแรง ร่วมใจ กันในการเฝ้าระวัง ป้องกัน อย่างเข้มแข็ง ต่อเนื่อง เชื่อว่าประเทศไทยจะยังคงสถานะการปลอดโรค อันจะเป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร อย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนต่อไป” อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image