เครือข่ายแรงงาน รวมตัวหน้าทำเนียบ ทวงเงินเยียวยาโควิด 5 พันบาท นาน 3 เดือน
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 26 มกราคม เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนจากหลายภาคส่วน ทั้งจากโรงงานอุตสาหกรรม และแรงงานต่างด้าว รวมตัวเรียกร้องเงินเยียวยาตามสิทธิผู้ประกันตนตาม ม.33 จากการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พร้อมอ่านแถลงการณ์เปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
โดยตัวแทนกลุ่มได้ร้องขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ดุสิต พาเข้าไปยังสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน แต่เมื่อตำรวจมาถึง ทางกลุ่มกลับเดินข้ามถนนพิษณุโลกมายังรั้วทำเนียบรัฐบาล พร้อมแขวนและชูป้ายข้อความเรียกร้องต่างๆ
นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย กล่าวว่า ที่ผ่านมา รัฐไม่มีความชัดเจนในการเยียวยาผู้ประกันตนตาม ม.39 ซึ่งตนก็อยู่ในส่วนนี้เช่นกัน ทั้งที่เราเพียงนำเงินที่กองทุนประกันสังคมนำไปลงทุนในธุรกิจต่างๆ มาเยียวยาก็เหลือเฟือ แต่เงินส่วนต่างๆ กลับถูกนำไปใช้กับการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์กว่า 1 แสนล้านบาท รวมถึงเงินเดือนตำแหน่งนายพลในกองทัพที่มีมากเกินไป แต่กลับไม่ทำงานใดๆ และงบประมาณที่ไม่จำเป็นอีกมากมาย
อ่านข่าว : ‘ประยุทธ์’ ลั่น พร้อมรับมือซักฟอก ไม่กลัวถูกจี้ซื้ออาวุธ มั่นใจชี้แจงได้ มีความจำเป็น (มีคลิป)
ต่อมา มีตัวแทนกลุ่มอ่านแถลงการณ์ว่า มติเห็นชอบ โครงการเราชนะ เพื่อเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 มกราคม จะจ่ายเงินเยียวยา 3,500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน รวมเป็น 7,000 บาทต่อคน หรือทั้งหมด 31.1 ล้านคน โดยเน้นอาชีพอิสระ เกษตรกรผู้มีรายได้น้อย คล้ายกับโครงการเราไม่ทิ้งกัน แต่กลับไม่ให้เป็นเงินสด และจะโอนผ่านแอพลิเคชั่นสัปดาห์ละครั้งจนครบ แต่ประชาชนบางคนยังไม่เข้าถึงเทคโนโลยี
อีกทั้งนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้เหตุผลว่า ที่ไม่อยากให้ประชาชนสัมผัสตัวเงินเพราะโควิดเข้ามาปะปนได้ และต้องการให้ประชาชนปรับตัวเป็นสังคมไร้เงินสด ถ้าให้เป็นเงินสดก็จะหายไปกับสุรา การพนัน และการจ่ายเงินสัปดาห์ละ 1,000 บาท ก็เพื่อให้ประชาชนได้วางแผนการใช้เงินที่จำเป็น แต่ประชาชนล้วนมีความจำเป็นในการใช้จ่ายต่างกันไป
ตัวแทนกล่าวอีกว่า การกำหนดนโยบายเยียวยารอบ 2 ของรัฐบาล ยังทิ้งแรงงานในระบบประกันสังคม ม.33 กว่า 11 ล้านคน รวมถึงแรงงานข้ามชาติที่เข้าระบบประกันสังคม กว่า 1.5 ล้านคนไว้ข้างหลัง รัฐต้องช่วยเหลือแรงงานในระบบนี้ ด้วยการจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน
โดยขอเสนอแนวทางแก้ปัญหา โดยการปฏิรูประบบภาษี ให้จัดเก็บภาษีคนรวย 1 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ และลดงบประมาณที่ไม่จำเป็นเพื่อนำมาสร้างสวัสดิการถ้วนหน้าให้แก่ประชาชน ในที่นี้ รวมถึงการแจกจ่ายวัคซีนป้องกันโควิด-19 อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม รัฐสามารถใช้ข้อมูลกรมการปกครอง หรือทะเบียนราษฎรที่มีในมือมาเยียวยาประชาชนได้อย่างทั่วถึง โดยไม่ต้องใช้แอพพลิเคชั่นพิสูจน์ความจน เพราะคน 99 เปอร์เซนต์ก็ได้รับผลกระทบ จากนี้ พวกเราก็จะกลับมาทวงถามเงินเยียวยาอีกครั้ง หลังได้ติดตามทวงคืนมาตั้งแต่โควิดแพร่ระบาดรอบแรกเมื่อปี 2563
ต่อมาเวลา 11.30 น. นายภานุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ระยอง เดินทางมาสมทบ พร้อมกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ไปยื่นหนังสือที่กระทรวงการคลังให้พิจารณาลดงบประมาณกองทัพ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ตามสิทธิผู้ประกันตนประกันสังคม ม.33 ที่กลับกลายเป็นการแย่งชิง
“หากรัฐจริงใจที่จะแก้ปัญหาจริงๆ เราไม่จำเป็นต้องมารับเศษเงินเช่นนี้เลย ขอบอกว่าเงินเยียวยา 3,500 บาท ตีเป็นเงินวันละ 100 บาท ไม่เพียงพอต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งค่าเรียนออนไลน์ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ หากยังเห็นหัวประชาชน ขอให้สวัสดิการถ้วนหน้าแก่ประชาชน” นายภานุพงศ์กล่าว
อ่านข่าว : ‘ไมค์’ มาแล้ว ยื่น 3 มาตรการถึงคลัง ช่วย ปชช.ถ้วนหน้า จวกรัฐบาลเยียวยาล้มเหลว