เตรียมเฮ! พ.ร.บ.เข้าชื่อเสนอกฎหมายจ่อผ่านสภา ขยายสิทธิเสรีภาพ-การมีส่วนร่วมของ ปชช.

เตรียมเฮ! พ.ร.บ.เข้าชื่อเสนอกฎหมายจ่อผ่านสภา ขยายสิทธิเสรีภาพ-การมีส่วนร่วมของประชาชน

เมื่อเวลา 13.45 น. วันที่ 26 มกราคม ที่รัฐสภา นพ.อำพล จินดาวัฒนะ พร้อมด้วยน.ส.ณัฏฐา มหัทธนา ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ…. แถลงถึงความคืบหน้าในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ว่า การพิจารณาร่างพ.ร.บ.เสนอกฎหมาย เป็นการทำงานร่วมกันของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา (รัฐสภา) ดังนั้นการพิจารณาแต่งตั้งกมธ.จึงต้องใช้เวลาในการพิจารณาให้รอบคอบเพราะจะเป็นขั้นตอนเดียวในวาระ 2 และหลังจากนั้นเมื่อเข้าสู่รัฐสภาก็จะพิจารณาใน 2 และ 3 ให้จบเลย วันนี้ประชุมเพื่อพิจารณาเนื้อหาสาระที่สำคัญเสร็จสิ้นทั้งหมดแล้ว 17 ครั้ง ซึ่งจะเหลือการประชุมอีกหนึ่งครั้งที่จะสรุปสุดท้าย

ด้าน น.ส.ณัฏฐา กล่าวว่า หลักการและเหตุผลในการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพ.ร.บ.จากฉบับเดิมที่ใช้อยู่นั้น เป็นไปเพื่อขยายสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการเสนอกฎหมายทางตรงต่อสภาผู้แทนราษฎร และเพิ่มกลไกในการอำนวยความสะดวกและคุ้มครองสิทธิในการเสนอกฎหมายให้มีความรัดกุมยิ่งขึ้น

น.ส.ณัฏฐา กล่าวต่อว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้เพิ่มกลไกสนับสนุนและอำนวยความสะดวก ทั้งในการร่างกฏหมายที่ให้ผู้เสนอกฎหมายมีโอกาสเลือกว่าจะดำเนินการเอง หรือจะร้องขอให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฏรจัดทำร่างกฎหมายให้ก็ได้ ดังที่ระบุในมาตรา 7 ซึ่งในขั้นตอนการรับและรวบรวมหลักฐานการร่วมเข้าชื่อ ที่ผู้เชิญชวนอาจร้องขอให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้รับและรวบรวมให้ได้ โดยในการอำนวยความสะดวกดังกล่าวจะมีช่องทางไปรษณีย์และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ตามระบุในมาตรา 8 ซึ่งถือเป็นพันาการที่สำคัญที่เกิดขึ้นในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้

น.ส.ณัฏฐา กล่าวด้วยว่า ในมาตรา 14 ได้กำหนดกลไกคุ้มครองร่างกฎหมายที่เสนอโดยประชาชนไม่ให้ตกไปตามสภาผู้แทนราษฎร หากมีการยุบสภาหรืออายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง โดยร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดให้ผู้แทนของผู้เข้าชื่อสามารถยืนยันเป็นหนังสือต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรให้พิจารณาร่างพ.ร.บ.นั้นต่อไปให้ถือว่าเป็นการเข้าชื่อเพื่อเสนอร่างพ.ร.บ.ใหม่และให้ประธานสภาผู้แทนราษฏรดำเนินการต่อไปตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร

Advertisement

นพ.อำพล กล่าวว่า ก่อนจะมีการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับ เคยมีพ.ร.บ.เข้าชื่อเสนอกฎหมายอยู่แล้วที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งถึงเวลาในการปรับให้เข้ากับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยถือเป็นการต่อยอดจากสิ่งที่เคยมี ทำให้ในสิ่งที่ประชาชนสามารถเสนอกฎหมายได้ ซึ่งถือเป็นกลไกประชาธิปไตยแบบทางตรงมากขึ้น แทนที่จะรอเสนอกฎหมายต่างๆ โดนผ่านส.ส.ที่เข้ามาทำหน้าที่บริหารในสภาเท่านั้น แต่ให้ประชาชนมีสิทธิ์ที่จะเสนอชื่อได้ ในขณะเดียวกันก็มีกลไกเสริมเข้ามาเพื่อให้ทันยุคสมัยปัจจุบัน ซึ่งประชาชนที่มีความกระตือรือร้นตั้งใจที่จะเสนอกฎหมายก็สามารถทำได้ง่ายมากขึ้น และเมื่อทำแล้วหากมีการเปลี่ยนแปลงสภาก็จะไม่เสียหายที่จะสามารถเสนอให้เดินหน้าต่อ

“ในสัปดาห์หน้าคณะกรรมาธิการจะมีการประชุมเพื่อสรุปปิดงานเป็นครั้งสุดท้าย และเสนอบรรจุเข้าระเบียบวาระของรัฐสภา ซึ่งจะเป็นในสมัยประชุมนี้ในเดือนหน้าหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาอีกครั้ง แต่ผมคิดว่าเรื่องนี้ทุกฝ่ายคงอยากจะทำให้เร็ว ที่หายไปพักใหญ่ เราประชุมกัน 17 ครั้ง เนื่องจากพิจารณาร่วมกัน 2 สภาร่วมกัน จึงต้องดูให้รอบคอบและต้องดูให้เสร็จในรอบนี้” นพ.อำพล กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image