ต้นตอ‘ข้อบกพร่อง’
‘ทวงคืนเบี้ยคนแก่’
หมายเหตุ – ความเห็นของนักวิชาการกรณีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง มีหนังสือแจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หลายจังหวัด เรียกคืนเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เนื่องจากเบิกจ่ายทับซ้อนกับสิทธิสวัสดิการอื่น
บรรณ แก้วฉ่ำ
นักวิชาการด้านกฎหมายท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ
ตามหลักการนอกจากจะเรียกเงินคืนไม่ได้ พบว่าตามระเบียบที่เจ้าหน้าที่ในกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กำหนดให้เจ้าหน้าที่ อปท.ปฏิบัติ ได้บังคับให้ อปท.ต้องจ่ายเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุจนกว่าจะเสียชีวิต ขณะที่นักวิชาการด้านกฎหมาย ทนายความ เสนอความเห็นโดยยกกฎหมายแพ่งมาทำการวินิจฉัย แต่ไม่ได้พิจารณาระเบียบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดแนวทางในการปฏิบัติ ยืนยันว่าผู้สูงอายุรายที่รับเงินไปแล้ว ไม่มีความผิดใดๆ ไม่ต้องคืนเงิน แม้ในความผิดฐานแจ้งความเท็จ และประเด็นนี้ไม่ใช่ความผิดของเจ้าหน้าที่ของ อปท. เนื่องจากปัญหาเกิดจากระเบียบ เจ้าหน้าที่ที่เข้าข่ายความผิดจึงเป็นเจ้าหน้าที่ในกรมส่งเสริมฯ เนื่องจากระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพของ อปท.ในข้อ 6 ในปี 2548 ไม่ได้กำหนดห้ามผู้สูงอายุซึ่งได้รับเงินอื่นจากรัฐ ที่จะยื่นคำขอรับเงินเบี้ยยังชีพจาก อปท. สำหรับเจ้าหน้าที่ อปท. เมื่อได้รับคำขอแล้ว ไม่มีอำนาจยกเหตุต่างๆ ที่ระเบียบไม่กำหนดไว้ มาปฏิเสธสิทธิของผู้สูงอายุ
ต่อมาในปี 2552 กระทรวงมหาดไทยได้แก้ไขระเบียบ กำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับคุณสมบัติเพิ่มเติมว่า ห้ามจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ แก่ผู้สูงอายุที่รับสิทธิอื่นอยู่แล้ว จึงมีปัญหาว่า ผู้สูงอายุซึ่งรับสิทธิอื่น ที่ไม่ขาดคุณสมบัติตามระเบียบ ปี 2548 และรับเบี้ยผู้สูงอายุแล้ว จะกลายเป็นผู้ขาดคุณสมบัติตามระเบียบที่แก้ไขในปี 2552 หรือไม่ และฝ่ายเจ้าหน้าที่ อปท.จะต้องระงับสิทธิ ตั้งแต่วันที่ระเบียบที่แก้ใหม่มีผลบังคับหรือไม่ ประเด็นนี้อยู่ในบทเฉพาะกาลของระเบียบที่แก้ไขใหม่ในข้อ 17 ระบุว่า มิให้กระทบสิทธิของผู้สูงอายุตามระเบียบฉบับเดิม โดยให้ถือว่าผู้สูงอายุดังกล่าวได้เป็นผู้ลงทะเบียนและยื่นคำขอถูกต้องตามระเบียบ ทำให้ระเบียบที่แก้ไขเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมฯได้ห้าม อปท.ตัดสิทธิในการรับเบี้ยผู้สูงอายุ หาก อปท.ตัดสิทธิ จะมีโอกาสถูกฟ้องฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
หลังจากกรมบัญชีกลาง หรือหน่วยงานที่สั่งให้ อปท.เรียกเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุคืน ถือเป็นการสั่งการโดยผิด เพราะไม่อ่านระเบียบกระทรวงมหาดไทยให้รอบคอบ และระเบียบที่ให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นปฏิบัตินั้น ผู้ออกระเบียบเป็นเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในกรม กระทรวง ซึ่งไม่เคยทำงานใน อบต. เทศบาล หรือ อบจ.มาก่อน ดังนั้น หากจะถามหาความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ ก็แนะนำให้ไปเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ในกรมส่งเสริมฯผู้ออกระเบียบ ไม่ควรเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น
วีระศักดิ์ เครือเทพ
นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการ
การกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กก.ถ.)
ประเด็นนี้ไม่เกี่ยวกับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือเทศบาล แต่เป็นปัญหาของกรมบัญชีกลางที่ไม่ตรวจสอบการจ่ายงบด้วยเลขไอดี 13 หลักตั้งแต่อดีต เข้าใจว่าเดิมเป็นระบบทำมือ ดังนั้น การแก้ไขของกรมบัญชีกลางคงยึดหลักกฎหมาย เพื่อเรียกคืน ขณะที่แนวทางแก้ไขตามหลักมนุษยธรรมเพื่อให้มีข้อยุติ กรมบัญชีกลางอย่ายกแค่ประเด็นกฎหมายหรือระเบียบเป็นสูตรสำเร็จ โดยไม่ได้ดูว่าหน่วยงานบกพร่องหรือไม่ ในขั้นตอนใด แต่แนวทางที่จะทำให้มีทางออก กรมควรเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ยกเว้นหนี้ เพราะเป็นความผิดพลาดที่เกิดจากเจ้าหน้าที่ของกรมไม่ตรวจสอบตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น ส่วนผู้รับเบี้ยยังชีพจะทราบหรือไม่ว่าไม่สิทธิ แต่ได้รับเงินก็ต้องไปพิจารณาตามข้อเท็จจริงเฉพาะราย
งบประมาณส่วนนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเพียงทางผ่านของการใช้งบจากนโยบายของรัฐบาล หรือเป็นเพียงหนังหน้าไฟ ที่ผ่านมา อปท.มีหน้าที่รับลงทะเบียนในพื้นที่รับผิดชอบ ดังนั้น เจ้าหน้าที่ อปท.จึงไม่ทราบว่ามีบุคคลใดรับสิทธิประโยชน์อื่นหรือไม่และการออกระเบียบของกระทรวงมหาดไทยที่แจ้งเวียนให้ อปท.ปฏิบัติคงไม่เกี่ยวกับการใช้งบนี้โดยตรง
ขณะที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) แทบไม่มีบทบาทและลอยตัวในเรื่องนี้ เนื่องจากกรมบัญชีกลางจ่ายตรงเบี้ยยังชีพเข้าบัญชีผู้รับสิทธิรายบุคคล ทั้งที่ พม.หากไม่ต้องการจัดการหรือมีส่วนร่วมกับปัญหานี้ก็ควรโอนภารกิจความรับผิดชอบให้ อปท.ตรวจสอบทั้งหมด และในอนาคตการจ่ายเบี้ยคนพิการ ผู้ป่วยเอดส์ก็ควรใช้หลักเกณฑ์เดียวกัน เพราะอีกไม่นานจะมีการจ่ายตรงเช่นกัน โดยจะต้องตรวจสอบเงื่อนไขตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน ไม่ควรมีปัญหาในทางปฏิบัติภายหลัง
สำหรับการให้เบี้ยยังชีพคนชรายืนยันเป็นหลักประกันความมั่นคงเรื่องรายได้เมื่ออายุครบ 60 ปี แต่หากพบว่ามีการจ่ายซ้ำซ้อนโดยไม่ได้เกิดจากผู้รับในกลุ่มเป้าหมาย ก็ต้องเป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานภาครัฐ และวันนี้รัฐบาลต้องยอมรับความบกพร่อง แต่ไม่ควรปล่อยให้มีอีกในเรื่องอื่นๆ และการยกประโยชน์ให้ผู้ที่รับเบี้ยยังชีพไปแล้วก็คงใช้เม็ดเงินไม่ถึง 100 ล้านบาท ถ้าเทียบกับรูรั่วที่จ่ายไปกับโครงการประชานิยมด้านอื่น ถือว่ามีสัดส่วนที่น้อยกว่ามาก
วิษณุ วิทยวราวัฒน์
ท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่
จ.เชียงใหม่ มีประชากรกว่า 1.7 ล้านคน ล่าสุดพบมีผู้สูงวัยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปกว่า 300,000 คน คิดเป็น 15.7% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เชียงใหม่ 211 แห่ง ได้สำรวจผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับสิทธิสวัสดิการใดๆ จำนวนมาก จึงให้ลงทะเบียนผู้สูงอายุเพื่อรับเบี้ยยังชีพตามสิทธิมากว่า 10 ปีแล้ว แต่ผู้สูงอายุบางรายอาจได้รับสิทธิสวัสดิการอื่น อาทิ บำนาญจากญาติที่เสียชีวิต ทำให้ได้รับเบี้ยยังชีพและเงินบำนาญซ้ำซ้อน ซึ่งผิดระเบียบของกรมบัญชีกลาง ที่ให้รับสิทธิและสวัสดิการดังกล่าวเพียงช่องทางเดียว
ปัญหาการรับเบี้ยยังชีพและเงินบำนาญซ้ำซ้อน เกิดจากไม่มีระบบเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกระทรวงการคลังกับกระทรวงมหาดไทย เพิ่งมีระบบดังกล่าวเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งตรวจพบว่ามีการจ่ายเงินซ้ำซ้อน ทำให้กรมบัญชีกลางต้องเรียกเงินคืนจากผู้สูงอายุที่รับเบี้ยยังชีพดังกล่าว โดยทำหนังสือถึงจังหวัด ส่งมายังท้องถิ่นจังหวัด เพื่อแจ้งไปยัง อปท. 211 แห่ง ตรวจสอบและดำเนินการเรียกเงินคืนย้อนหลังตามระเบียบกรมบัญชีกลางซึ่งไม่ใช่ระเบียบท้องถิ่น ดังนั้น ไม่ใช่ความผิด อปท. เพราะต้องปฏิบัติตามระเบียบกฎหมาย ถ้าไม่ปฏิบัติตามหรือละเว้น อาจโดนลงโทษตามมาตรา 157 ได้
แนวทางแก้ปัญหาหรือทางออก กรมบัญชีกลางควรแก้ระเบียบดังกล่าวให้ผู้สูงอายุมีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพได้ ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล ส่วนเงินบำนาญ ถือเป็นมรดกตกทอดจากญาติ หรือคนในครอบครัว ถ้าทำไม่ได้อาจทำหนังสือยกเว้นเรียกเงินดังกล่าวคืน หรือผ่อนชำระ 10-20 ปีแทน ส่วน อปท.ต้องช่วยเหลือและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนอีกทางหนึ่ง เพราะผู้ที่ได้รับเบี้ยยังชีพและเงินบำนาญซ้ำซ้อน ไม่ทราบเรื่องดังกล่าวมาก่อน จึงไม่มีเจตนาทุจริตหรือทำให้รัฐเสียหายแต่อย่างใด
ทวิสันต์ โลณานุรักษ์
อดีตเลขาธิการหอการค้าภาคอีสาน และนักวิชาการอิสระ
เรื่องนี้เป็นความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะกรมบัญชีกลาง ซึ่งก็รู้อยู่แล้วว่าตนเองมีข้อผิดพลาดในเรื่องการลิงก์ข้อมูลกับหน่วยงานต่างๆ แล้วมาตรวจพบในภายหลัง ก่อนที่จะแจ้งมายังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ทราบ และเกิดการเรียกเงินคืนย้อนหลัง ส่งผลให้ผู้สูงอายุทั้งหลายถูกฟ้องศาล จนกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วประเทศ เรื่องนี้เป็นความผิดของหน่วยงานรัฐ แต่ปัดความผิดไปให้ประชาชน จึงเป็นบทเรียนสำคัญของหน่วยงานรัฐ ที่กำลังจะทรานส์ฟอร์มตัวเอง จากระบบอนาล็อกไปสู่ระบบดิจิทัลในอนาคต เพราะหากเปลี่ยนแปลงอะไรแล้วเกิดข้อผิดพลาดย้อนหลัง แล้วมาโยนความผิดให้กับประชาชนอย่างนี้ขึ้นอีก ต่อไปการจะขอความร่วมมืออะไรจากประชาชนก็จะไม่ค่อยได้รับความร่วมมือมากนัก เพราะประชาชนจะเกิดความหวาดระแวงว่า หากไปเผลอกรอกข้อมูลรับประโยชน์อะไรแล้ว จะถูกเอาผิดย้อนหลังเช่นนี้อีกหรือไม่
ตอนนี้ประเทศไทยก็มีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมอยู่แล้ว เหตุใดจึงไม่ออกมาปกป้องประชาชน เพราะเป็นเรื่องของความผิดพลาดในระบบการลิงก์ข้อมูลกัน แต่กลับให้หน่วยงานท้องถิ่นต่างๆ ไปเรียกเงินคืนสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย ทั้งที่ในบัตรประชาชนก็มีชิปคอมพิวเตอร์ไว้สำหรับเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ เข้าสู่ระบบดิจิทัลมาตั้งนานแล้ว แต่ยังไม่เคยนำมาใช้ประโยชน์อะไรมากนัก
ขณะเดียวกันรัฐบาล ซึ่งเป็นผู้ควบคุมนโยบายต่างๆ ของประเทศ ตอนนี้ก็กำลังออกมาตรการต่างๆ เพื่อมาช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มข้น แต่กรมบัญชีกลางกลับปล่อยให้มีเรื่องแบบนี้ขึ้นมา ซึ่งเป็นการไปซ้ำเติมประชาชนที่กำลังได้รับความลำบากเพิ่มอีก ดูแล้วจะไม่สอดคล้องกันเลย ดีไม่ดีอาจจะถูกพรรคฝ่ายค้านนำเรื่องนี้ไปเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้ ซึ่งเท่ากับกรมบัญชีกลางกำลังวางยารัฐบาลชัดๆ ดังนั้น รัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องเข้ามาดูแลสั่งการแก้ปัญหาเรื่องนี้เป็นการเร่งด่วน