‘เฉลิมชัย’ ย้ำเร่งสร้างความเข้าใจ ประมงชลบุรีทำผิดกม. ชี้ต้องเปลี่ยนวิธีทำประมงหอยแครง

“เฉลิมชัย” ย้ำเร่งแก้ปัญหา พร้อมทำความเข้าใจชาวประมงพื้นที่จังหวัดชลบุรีไม่ถึง 1 % ที่ยังทำประมงลูกหอยแครงผิดกฏหมาย ขณะที่กรมประมงเดินหน้าหนุนเปลี่ยนวิธีการทำการประมงลูกหอยแครง งดใช้เครื่องมือทำการประมงที่ผิดกฏหมาย เพื่อให้ทรัพยากรมีใช้อย่างยั่งยืน

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการประมงลูกหอยแครง พื้นที่บริเวณกลางอ่าวบางปะกง จังหวัดชลบุรี ด้วยเครื่องมือผิดกฎหมาย ทั้งเครื่องมือคราดลูกหอยแครง  อวนลากคานถ่าง ที่ใช้มุ้งทำถุงอวนลากเก็บลูกหอยแครง และทำให้เกิดเป็นข้อพิพาทส่งผลทำให้เรือตรวจการประมงเสียหาย และเจ้าหน้าที่บาดเจ็บ 3 นาย จากการถูกกลุ่มเรือประมงผิดกฎหมายจากพื้นที่คลองตำหรุ จังหวัดชลบุรี  หลายสิบลำเข้าขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าตรวจการประมง ด้วยการล้อมเรือ และขับเรือพุ่งชนขณะเจ้าหน้าที่ศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงทะเลชลบุรี เหตุให้เรือตรวจการประมงเสียหาย และเจ้าหน้าที่บาดเจ็บ 3 นาย ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาในระยาว จึงมีนโยบายและข้อสั่งการไปยังกรมประมงให้รีบดำเนินการแก้ไขปัญหา และสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อกฎหมาย พรก.ประมง 2558 เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรลูกหอยแครงในธรรมชาติซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะให้ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้อย่างเหมาะสม พร้อมกันนี้ได้กำกับให้กรมประมงได้ดูแลเจ้าหน้าที่บาดเจ็บอย่างเต็มที่ด้วย

“ สำหรับ กลุ่มชาวประมง ซึ่งมีเรือประมงพื้นบ้านที่ทำผิดกฎหมายนั้นตามรายงานของกรมประมงพบว่ามีอยู่เพียง 50 ลำ ซึ่งไม่ถึง 1 % ของจำนวนเรือประมงพื้นบ้านทั้งหมด ประมาณ 6,200 ลำ ที่ทำประมงอย่างถูกกฎหมายในเขตพื้นที่อ่าวไทยตอนบน  ดังนั้นจึงต้องมีการกำหนดแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรหอยแครงอย่างยั่งยืน ภายใต้พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 อีกทั้งต้องประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อกฎหมาย พรก.ประมง 2558 เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรลูกหอยแครงในธรรมชาติซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะให้ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้อย่างเหมาะสม” นายเฉลิมชัยกล่าว

ขณะที่ นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า จากข้อสั่งการของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขณะนี้กรมประมงได้มีการดำเนินการอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะการมอบหมายให้สำนักงานประมงจังหวัดพื้นที่อ่าวไทยรูปตัว ก  และหน่วยตรวจการประมงที่รับผิดชอบควบคุมพื้นที่ ดำเนินการประชุมกลุ่มชาวประมง และเร่งประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง  เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ ให้พี่น้องชาวประมงได้ปรับเปลี่ยนวิธีการทำการประมงลูกหอยแครง โดยใช้วิธีการที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย และสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า  และสามารถส่งผลให้พี่น้องชาวประมงโดยทั่วไป สามารถเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างเสมอภาค ลดการสูญเสีย ของทรัพยากร ลดผลกระทบต่อระบบนิเวศ และสร้างห่วงโซ่การผลิตทรัพยากรในธรรมชาติ ทำให้ลูกหอยมีอัตราการรอดสูง

Advertisement

“ พื้นที่ดังกล่าว มีสภาพเป็นหาดโคลนหรือพื้นดินเลนละเอียด มีความลึกของน้ำไม่เกินสองเมตร  ซึ่งเป็นพื้นที่ที่หอยแครงชอบฝังตัว  ทำให้ขณะนี้พบว่าชาวประมงขนาดเล็กจำนวนมากที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ได้หันมาปรับเปลี่ยนวิธีจากเดิม ที่ใช้เรือประมงประกอบเรือยนต์คราดหอยแครงขนาดเล็ก ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย  มาเป็นการช้อนหอยลูกหอยแครงด้วยเครื่องมือสวิง มีลักษณะเป็นถุง ลากด้วยมือ โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือคราดประกอบเรือยนต์ ส่งผลให้พี่น้องชาวประมงที่ทำการประมงลูกหอยแครง มีรายได้ โดยเฉลี่ย 1,000-2,000 บาทต่อคนต่อวัน “

อธิบดีกรมประมงกล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้จากการออกสำรวจพบว่า ในระหว่างวันที่ 26-27 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา มีชาวประมงอย่างน้อย 100-200 รายต่อวัน ใช้วิธีการทำการประมงโดยไม่ใช้เรือยนต์ประกอบเครื่องมือคราด สภาวะการทำการประมงเช่นนี้จะส่งผลให้เกิดการใช้ทรัพยากรประมงอย่างมีคุณค่า ยาวนาน และยั่งยืนในโอกาสต่อไป  การปรับเปลี่ยนโดยใช้วิธีการดังกล่าวข้างต้น กรมประมง เห็นว่าเป็นวิธีการที่สมควรได้รับการชื่นชมและสนับสนุนให้มีการทำการประมงลูกหอยแครง ในลักษณะเช่นนี้ทั่วประเทศ เพื่อนำลูกหอยไปเลี้ยงในที่ที่มีอัตรารอดสูง สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่สำคัญอีกทางหนึ่งด้วย

“ดังนั้น กรมประมงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หากพี่น้องชาวประมงเข้ามามีส่วนร่วมและเป็นกำลังหลักในการวางแผนเพื่อการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรด้วยวิธีการที่เหมาะสมถูกต้อง  ร่วมกันปรับเปลี่ยนวิธีการ งดเว้นการใช้เครื่องมือทำการประมงที่ผิดกฏหมาย ก็จะสามารถลดความสุญเสีย ลดความขัดแย้ง สามารถสร้างเศรษฐกิจฐานราก สร้างอาชีพ และก่อให้เกิดความยั่งยืน จึงขอเน้นย้ำ และขอความร่วมมือมายังพี่น้องชาวประมง  หากทุกท่านรู้จักวิธีการจัดการภายใต้กรอบของกฎหมาย และร่วมแรงร่วมใจกัน จะทำให้ทรัพยากรลูกหอยแครงในธรรมชาติ ซึ่งเป็นทรัพยากรในพื้นที่สาธารณะ ที่ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้อย่างเหมาะสม ซึ่งการลักลอบทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่ง ที่เป็นแหล่งเลี้ยงตัวสัตว์น้ำวัยอ่อน ถือเป็นการทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีค่าอย่างร้ายแรง” อธิบดีกรมประมงกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image