กรธ.หวั่น ชงอำนาจ ส.ว.เสนอชื่อ ทำเกินคำถามพ่วง ยันต้องให้ ส.ส. โหวตปลดล็อกก่อน

กรธ. ยัน เปิดช่อง “นายกฯคนนอก” ต้องยึด 2 สเต็ป ต้องให้ ส.ส. โหวตปลดล็อกก่อน หวั่นชงอำนาจ ส.ว.เสนอชื่อ ทำเกินคำถามพ่วง

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม นายสุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) คนที่ 1 ให้สัมภาษณ์ถึงการพิจารณาปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญตามคำถามพ่วงในวันที่ 19 สิงหาคมนี้ว่า กรณีที่มีผู้ระบุว่า เวที สนช.ชี้แจงคำถามพ่วง บางเวทีระบุกับประชาชนว่า ส.ว.มีสิทธิเสนอชื่อบุคคลที่สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯด้วยนั้น ตนยังไม่เห็นรายละเอียด เพราะแม้แต่ในเวทีชี้แจงประชาชนและเทปบันทึกการชี้แจงของนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 1 ไม่เคยมีคำพูดที่ว่าให้อำนาจ ส.ว.มีสิทธิเสนอชื่อบุคคลที่สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ ซึ่งในการรับฟังข้อมูลของ สนช.ก่อนการนำมาปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญในส่วนบทเฉพาะกาลให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงนั้น ตนมองว่า มีหลายประเด็นต้องคำนึงถึงให้รอบคอบ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาทางตันทางการเมืองหรือทางออกหากเกิดกรณีที่ไม่สามารถเลือกนายกฯ ตามกระบวนการหลักของร่างรัฐธรรมนูญได้ เช่น พรรคการเมืองที่ได้รับเสียงข้างมากในสภา หรือพรรคการเมืองขนาดใหญ่เบอร์ 1 หรือพรรคการเมืองขนาดใหญ่เบอร์ 2 ไม่มีบัญชีรายชื่อของบุคคลที่พรรคการเมืองสนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ที่จะเสนอให้รัฐสภาลงมติเห็นชอบจะทำอย่างไร หรือกรณีที่บุคคลในบัญชีนายกฯ ของพรรคการเมืองตัดสินใจถอนตัวออกจากบัญชีนายกฯ ก่อนการลงมติ เป็นต้น

เมื่อถามว่า กรณีการปรับร่างรัฐธรรมนูญถูกตั้งข้อสังเกตว่า มีความพยายามเปิดทางให้ผู้นำคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กลับเข้าสู่ตำแหน่งบริหารอีกครั้งหลังการเลือกตั้ง นายสุพจน์กล่าวว่า ทางหัวหน้าคสช.ก็พูดชัดเจนแล้ว ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็บอกแล้วว่าไม่เป็น แต่ทั้งหมดนั้นหากใครจะคิดว่าอย่างไร เขาสามารถกลับมาเป็นได้ทั้งหมด เพราะการตัดสินใจจะกลับมาหรือไม่อยู่ที่ตัวของผู้นำใน คสช. แต่ทั้งหมดต้องพิจารณาปัจจัยที่สำคัญด้วย คือ การมีบารมีและเป็นที่ยอมรับจากประชาชนด้วย

ด้าน นายเธียรชัย ณ นคร กรธ. กล่าวว่า หลังจากที่ กรธ.รับฟัง สนช. แล้ว กรธ.ต้องนำข้อมูลมาพิจารณาร่วมกันว่าจะเขียนบทบัญญัติอย่างไร ส่วนที่หลายฝ่ายให้ความเห็นให้ ส.ว.เสนอชื่อนายกฯนั้น อาจทำให้เกินกว่าตัวเนื้อหาของคำถามพ่วงได้ ขณะที่แนวทางพิจารณาของ กรธ.นั้น ตนยืนยันว่าไม่มีเสียงแตก และเห็นตรงกันกับคำให้สัมภาษณ์ของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ที่ว่า กระบวนการเลือกนายกฯ ต้องเป็นไปตามบทหลักของร่างรัฐธรรมนูญ คือขั้นตอนที่ 1 การเสนอชื่อนายกฯ ต้องมาจากสภาผู้แทนราษฎร และเป็นไปตามบัญชีรายชื่อของบุคคลที่พรรคการเมืองสนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ และขั้นตอนที่ 2 หากเลือกบุคคลในบัญชีนายกฯ ของพรรคการเมืองไม่ได้ ต้องขอความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภาเพื่อยกเว้นการใช้บัญชีนายกฯ ของพรรคการเมือง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image