‘นิธิ’ ชี้ ปี 64 เศรษฐกิจเดินต่อยาก หลีกไม่พ้นขัดแย้งรุนแรง แนะจับตา ‘กบฏในระบบ’

‘นิธิ’ ชี้ ปี 64 เศรษฐกิจเดินต่อยาก หลีกไม่พ้นขัดแย้งรุนแรง แนะจับตา ‘กบฏในระบบ’

เมื่อวันที่ 29 มกราคม เวลาประมาณ 09.00 น. เครือมติชนจัดเสวนา ‘เบรกทรูไทยแลนด์ 2021’ ในรูปแบบเวอร์ชวล คอนเฟอร์เรนซ์ เนื่องในโอกาสที่หนังสือพิมพ์มติชนก้าวเข้าสู่ปีที่ 44โดยมีวิทยาการร่วมเสวนา ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในหัวข้อการวิเคราะห์โครงสร้างและนำเสนอทางออกประเทศ, ศาสตราจารย์ ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร และ ดร.คริส เบเคอร์ นักเศรษฐศาสตร์การเมืองและนักประวัติศาสตร์ ร่วมเสวนาในหัวข้อคนไทยเสมอหน้าด้วยภาษี, ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในหัวข้อ พลวัตรขบวนการเคลื่อนไหวคนรุ่นใหม่, นายธานี ชัยวัฒน์ ผอ.ศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหัวข้อคอร์รัปชั่นและความเหลื่อมล้ำ , ภญ.สุธีรา เตชคุณวุฒิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง ใบยา ไฟโตฟาร์ม ร่วมวิดคราะห์ในหัวข้อวัคซีนโควิด-19 ฉีดอย่างไรให้รอดจริง และนายสันติธาร เสถียรไทย นักเศรษฐศาสตร์ภาคเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ในหัวข้อ โอกาสและความหวังของประเทศไทยในปี 2021 ดำเนินรายการโดย นายบัญชา ชุมชัยเวทย์

ศาสตราจารย์ ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวว่า ตนคิดว่า ประเทศไทยจะเดินต่อในทางเศรษฐกิจในปีนี้ ค่อนข้างยากมาก เพราะปัญหาในเวลานี้ ไม่ใช่แค่นักท่องเที่ยวไม่ได้เข้ามาอย่างเดียว ซึ่งก็เป็นปัญหาใหญ่มากอย่างหนึ่งอยู่แล้ว แต่อย่าลืมว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจของโรคระบาดครั้งนี้ เกิดแก่ทุกประเทศทั่วโลก เพราะฉะนั้นการที่จะเดินต่อ จะต้องประคองตัวเองให้อยู่รอดให้ได้ในเศรษฐกิจแบบนี้ของโลก ที่ผ่านมา

“ผมคิดว่าเราประคองตัวเองอย่างกระปลกกระเปลี้ยเต็มทน ไม่ใช่เพียงเพราะว่านักท่องเที่ยวไม่เข้าอย่างเดียว ผมคิดว่าวิธีการจัดการเพื่อจะรักษาพลังของประเทศไทย ทำได้ไม่ดีพอเพราะเราไปเน้นเรื่องการแจกเงินมากเกินไป แทนที่จะพยายามรักษาการจ้างงานไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ผลก็คือในที่สุด ถ้าโลกเริ่มฟื้นขึ้นมา มีคนต้องการซื้อของมากขึ้น มีคนที่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ต้องการซื้อพวกอุปกรณ์อะไหล่ทั้งหลายจากเรา ผมคิดว่าเราจะไม่พร้อม เมื่อเทียบกับประเทศอย่างเวียดนาม มาเลเซีย กัมพูชา อะไรก็แล้วแต่
นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่า การเดินในทางเศรษฐกิจเฉพาะในปีนี้ คงเดินได้ยาก ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลก็ตามแต่ คงเดินได้ไม่มากนัก เพราะโลกยังไม่ฟื้นจริงๆ แม้เปลี่ยนประธานาธิบดีของอเมริกันไปแล้ว และมาให้ความสนใจกับการต่อสู้กับโรคระบาดมากขึ้นอย่างเต็มที่เช่นนี้ สมมติว่าเขาประสบความสำเร็จเต็มที่ ถามว่าอเมริกาจะฟื้นกลับคืนมาได้ภายใน 6 เดือนหรือไม่ในด้านเศรษฐกิจ ผมคิดว่าไม่

Advertisement

คนอาจจะรอดจากโรคระบาด แต่ถามว่าเศรษฐกิจจะฟื้นกลับขึ้นมาในปีนี้หรือไม่ คิดว่าถึงจะขึ้นมาก็ไม่มากนัก เป็นตลาดที่ไม่ดีนักสำหรับทั้งโลกอยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้นในทางเศรษฐกิจคงยาก” ศาสตราจารย์ ดร.นิธิกล่าว

ศาสตราจารย์ ดร.นิธิกล่าวต่อไปว่า สำหรับในทางการเมือง ไม่ว่าอย่างไร ก็ต้องเผชิญหน้ากับความขัดแย้งรุนแรงอย่างหนีไม่พ้น ไม่ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะตอบโต้อย่างไร สมมติว่าปราบอีกฝ่ายหนึ่งได้อย่างราบคาบ นองเลือดก็ยอม ซึ่งตนไม่แน่ใจว่าทำได้ แต่สมมติว่านองเลือดก็นองเลือด ปราบจนสนิทนิ่งไปเลย ถามว่า คราวนี้จะไว้ใจใคร คนอีก 70 ล้านคนที่เหลือ มองหน้าใครก็ไม่รู้ว่าเขาคิดอะไรอยู่ และจะทำอะไรในวันข้างหน้าอีกหรือไม่

Advertisement

“อย่างที่บอกว่า ประเทศไทยมันเปลี่ยนไปแล้ว ผมคิดว่าเผด็จการทหารในประเทศไทย ไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไรกับคนไทยนั่นแหละ ตำราที่คุณมีเกี่ยวกับการควบคุมบังคับคนไทยที่เคยมีมาตั้งแต่สร้างกองทัพจนถึงบัดนี้ ผลที่สุดตำราเหล่านั้นพ้นสมัยไปในพริบตา ผมไม่คิดว่าคุณจะสามารถทำอย่างไรต่อไปได้อีก

ถ้าใครหวังว่าการปราบปรามแกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆอย่างรุนแรง ตั้งข้อหา 108 พันประการ แล้วจะทำให้เขาหยุดได้ ผมคิดว่าไม่หยุด แล้วตราบเท่าที่เขาไม่หยุด สิ่งที่อยากให้จับตามอง คือ กบฎในระบบ เช่น ตำรวจรู้สึกว่า ไม่ไหวแล้วในการีที่จะโดนประชาชนรุมด่าถึงขนาดนี้ เริ่มเข้ามาหาข้อบังคับตามกฎหมายจริงๆ บอกเจ้านายว่าผมทำไม่ได้ เพราะกฎหมายไม่อนุญาตให้ทำ ถ้าเป็นอย่างนี้ ผู้พิพากษาระดับล่างๆที่กล้าให้ประกันตัวในคดีที่เขารู้สึกว่า มันเป็นคนมามอบตัวเองแล้วจะไปจับมันไว้ทำไม อย่างนี้เป็นต้น

ขอให้สังเกตการที่ผมเรียกกว้างๆอย่างนี้ว่า กบฎในระบบ ถ้ากลุ่มต่อต้านเคลื่อนไหวยังสามารถดำเนินงานได้ต่อไปในรูปใหญ่ๆ แบบที่เคยผ่านมาแล้ว หรือในรูปเล็กๆ เช่น ติดป้ายทั่วไปอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ก็ตามแต่ จะทำให้การกบฎในระบบเริ่มขยายขึ้น ถ้าระบบไม่สามารถร่วมมือกันในการกดขี่ประชาชนได้ ผมคิดว่าตัวระบบนี้ ถ้ามันไม่ปรับตัวมันเอง มันก็พัง เพราะจุดสำเร็จจริงๆของการเคลื่อนไหว มันอยู่ที่การทำให้ตัวระบบไม่ทำงาน หรือทำงานขัดกันเอง นั่นคือตัวที่ทำให้คุณประสบความสำเร็จได้” ศาสตราจารย์ ดร.นิธิกล่าว

ศาสตราจารย์ ดร.นิธิกล่าวว่า สิ่งที่น่าสนใจมาก ที่ตนพยายามย้ำอยู่เสมอ คือการเคลื่อนไหวของนักเรียน นักศึกษา ประชาชน หลายต่อหลายครั้งที่เขาดำเนินการอยู่ กระทำขึ้นโดยสำนึกถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน นี่คือสำนึกสาธารณะ ที่ไม่ได้เข้ามาร่วมการชุมนุม เช่น มีวัยรุ่นคนหนึ่ง ต้องนั่งรถเมล์กลับบ้าน แต่มีฐานะดีพอที่จะนั่งแท็กซี่ก็ได้ แต่วันนี้จะด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ เขารอรถเมล์ แล้วโพสต์ว่า มันเดือดร้อนขนาดไหน ทำไมเราไม่มีรถเมล์ที่ทำให้ทุกคนไม่ต้องรอนาน ไม่ต้องเบียดเสียดกันถึงขนาดนี้ เขากำลังนึกถึงคนที่ไม่เคยเห็นหน้า ไม่เคยรู้จัก รู้แต่ว่ามีคนจำนวนมากที่ต้องทนลำบากในระบบการขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ
ถ้าค่าเดินทางของรถไฟฟ้าที่คิดว่าจะมาแทนที่มันแพงขนาดนี้ ก็ไม่ได้ตอบโจทย์เลย เวลาเราพูดถึงการขนส่งในกรุงเทพฯ เรากำลังคิดถึงการแก้ปัญหารถติด หรือคิดว่าคนทุกคนควรมีสิทธิและโอกาสในการเดินทางที่สะดวกสบายด้วยราคาที่เข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน คุณคิดตอบอะไรกันแน่ ใน 2 เรื่องนี้

“ผมคิดว่าที่ผ่านมา เราคิดตอบกันว่า รถจะได้ไม่ติด ไม่ได้คิดว่า คนจนจะเดินทางได้สะดวกขึ้นบ้างหรือไม่ เมื่อวัยรุ่นโพสต์แบบนี้ เป็นครั้งแรกที่คนไทยเริ่มคิดถึงคนอื่น ไม่ใช่ว่า รถจะได้ไม่ติด ตัวเองจะได้สบาย
ถ้าคุณมองแบบนี้ ไม่ว่านักเรียนเลว ไม่ว่าอะไรก็แล้วแต่ คนกำลังคิดถึงจิตสาธารณะ มากมายมหาศาลในการเคลื่อนไหวชุมนุมประท้วงของประชาชน นักเรียน นักศึกษา ในช่วงปัจจุบันนี้
ส่วนความเสมอภาคไม่ต้องพูดถึง เขาชูเป็นประเด็นหลักก็ว่าได้ แต่สิ่งที่อาจมองเห็นไม่ชัด คือ สำนึกภราดรภาพ ที่เราเรียกว่าสำนึกสาธารณะ ที่สำนึกว่าคนอื่นกับเราเท่าเทียมกัน และมีเขาอยู่ในการจัดการสาธารณะที่เขาควรได้อย่างเดียวกับที่เราได้

น่าสนใจนะครับ นักเรียนในโรงเรียนชั้นนำของประเทศเรียกร้องการปฏิรูปการศึกษาเพื่อคนจนๆที่เข้าไม่ถึงโรงเรียนที่ดีอย่างเขา โรงเรียนอย่างเขา อย่างไรก็เข้ามหาวิทยาลัยได้อย่างน้อย 80 เปอร์เซนต์ แต่เขากำลังห่วงที่อยู่บนเขา และในสลัม สิ่งนี้ต่างหากคือจิตสาธารณะที่เราต้องการ” ศาสตราจารย์ ดร.นิธิกล่าวและว่าสำหรับการที่นายโจ ไบเดน ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐแทนนายโดนัลด์ ทรัมป์ มองว่า ไม่มีผลอะไรแตกต่างอย่างจริงจัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image