‘ธานี’ ชี้ทาง ประเทศไทยไปต่อ มอง 2 มาตรฐาน ซ้ำเติมปัญหา ‘คอร์รัปชั่น’

‘ธานี’ ชี้ทาง ประเทศไทยไปต่อ – มอง 2 มาตรฐาน ซ้ำเติมปัญหา ‘คอร์รัปชั่น’ แนะแก้ ‘เหลื่อมล้ำ’ ด้วยโอกาสในการปกครองที่เป็นธรรม

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 29 มกราคม เนื่องในโอกาสที่หนังสือพิมพ์มติชนก้าวเข้าสู่ปีที่ 44 เครือมติชนจัดเสวนา ‘เบรกทรูไทยแลนด์ 2021’ ในรูปแบบเวอร์ชวล คอนเฟอร์เรนซ์ โดยมีวิทยาการร่วมเสวนา ได้แก่

ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในหัวข้อการวิเคราะห์โครงสร้างและนำเสนอทางออกประเทศ, ศาสตราจารย์ ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร และ ดร.คริส เบอเคอร์ นักเศรษฐศาสตร์การเมืองและนักประวัติศาสตร์ ร่วมเสวนาในหัวข้อคนไทยเสมอหน้าด้วยภาษี, ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหัวข้อ พบวัตรขบวนการเคลื่อนไหวคนรุ่นใหม่, นายธานี ชัยวัฒน์ ผอ.ศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหัวข้อคอร์รัปชั่นและความเหลื่อมล้ำ, ภญ.สุธีรา เตชคุณวุฒิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง ใบยา ไฟโตฟาร์ม ร่วมวิเคราะห์ในหัวข้อวัคซีนโควิด-19 ฉีดอย่างไรให้รอดจริง และนายสันติธาร เสถียรไทย นักเศรษฐศาสตร์ภาคเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ในหัวข้อ โอกาสและความหวังของประเทศไทยในปี 2021 ดำเนินรายการโดย นายบัญชา ชุมชัยเวทย์

โดย นายธานี ชัยวัฒน์ ผอ.ศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในหัวข้อ “คอร์รัปชั่นและความเหลื่อมล้ำ” ประเทศไทยจะไปต่ออย่างไร ความว่า

เรื่องการคอร์รัปชั่น เป็นปัญหาใหญ่ของโลก ซึ่งการคอร์รัปชัน กับ ความเหลื่อมล้ำ สัมพันธ์กันอย่างมาก ยิ่งคอร์รัปชั่นสูง ยิ่งเหลื่อมล้ำสูง เหตุที่สัมพันธ์กัน เพราะการมีคอร์รัปชั่นในสังคม ทำให้คนบางกลุ่มได้ทรัพยากร ต้นทุน และผลประโยชน์ ทำให้สังคมเหลื่อมล้ำสูงขึ้น นำมาซึ่งการเข้าถึงโอกาส อำนาจ และการแสวงหาผลประโยชน์ ไปจนถึง การใช้ผลประโยชน์ที่มีอยู่ เพื่อประโยชน์ของตนเองอย่างแยกกันไม่ออก

Advertisement

“เวลาเราพูดถึงการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ในเรื่องคอร์รัปชั่น ข้อถกเถียงใหม่ โดยเฉพาะตะวันตก ที่ยึดถือคุณค่าความเป็นคน อยากให้ ‘คนดี’ มีอำนาจในการปกครอง หวังว่า ‘ความดี’ จะดำรงรูปแบบการปกครองที่เป็นธรรม ซึ่งเราบอกว่า เราเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยคนดี แต่กลับเต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่น

คนอีกกลุ่มบอกว่า เราควรมีระบบที่เป็นธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ ระบบที่มีกลไกกำกับที่เป็นธรรม น่าจะแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นได้ ข้อถกเถียงนี้ยังไม่มีคำตอบ เพราะความเป็นคน มีคุณค่าตามความหมายของฝั่งตะวันออก” นายธานีกล่าว

Advertisement

นายธานีกล่าวต่อว่า จากการทดลองทางเศรษฐศาสตร์ในบางส่วน ข้อมูลที่เก็บจากการทดลอง 10 ครั้ง โดยคละเพศ อายุ และภูมิภาค ซึ่งอาจไม่ใช่ตัวแทนที่ดีที่สุดของไทย แต่ทำให้เห็นรูปแบบที่สะท้อนวัฒนธรรม และวิธีคิด ที่อาจคล้ายคลึงกันอย่างมากในสังคมไทย

“การทดลองทางเศรษฐศาสตร์ บางส่วน จะเหมือนการนั่งอยู่ที่คอก แบบปิด ไม่มีใครเห็นหน้ากัน ไม่รู้ว่าใครเป็นคนตัดสินใจในกลุ่มของเขา เมื่อเล่นเสร็จแล้ว ได้เงินจริง ไม่ต้องเยอะ เพียง 200 บาท แล้วเราดูว่าเขาจะมีการเปลี่ยนแปลง มีการใช้อำนาจ หรือมองว่าเงิน 200 บาทไม่เยอะ และเลือกคงความดีไว้มากกว่าค่าเงิน 200 บาท หรือไม่ โดยบางการทดลองทำในห้อง บางการทดลองเป็นแบบกระดาษ กำหนดให้ 1 ใน 4 คน เป็นผู้ปกครอง (governor) ที่เหลืออีก 3 คน เป็นประชากร (citizen) ได้ 100 เหรียญ (token) ซึ่งจะแปลงเป็น 200 บาท หน้าที่ของ governor คือจัดสรรให้ทุกคน รวมถึงตัวเอง ให้ได้เงินครบ 100 token หรือคนละ 25 token แล้วดูว่า เขาจะคงความดีได้ไหม และได้นานแค่ไหนในสังคมที่ไม่มีการตรวจสอบ

ซึ่งตามกราฟ ในทางทฤษฎี หากไม่มีการโกง เส้นที่ citizen จะได้รับคือ 25 token ตลอดการทดลองทั้ง 10 รอบ เรียกว่า การคาดการณ์การทดสอบ (predicted test) ซึ่งแน่นอนว่า เกมแบบนี้ ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ถ้า governor เก็บไว้หมดก็ไม่มีใครรู้ ซึ่งถ้าเขารับไว้หมด นั่นคือการคอร์รัปชั่น ดังนั้น เส้นที่มีความเป็นธรรม คือ 25 token ถ้า governor โกง จะได้ 100 token ส่วนคนอื่นได้ 0 token ซึ่งคือความเหลื่อมล้ำสูงที่สุด

แต่ถ้าทุกคนรู้ว่า ใครเป็น governor จะไม่มีใครกล้าโกง เพราะโปร่งใส รู้ว่าใครเป็นคนจัดสรร หรือ สามารถลงโทษได้ ก็จะไม่กล้าโกง ดังนั้น ถ้าโปร่งใสและมีการตรวจสอบที่เข้มแข็ง การคอร์รัปชั่นจะลดลง เช่น ถ้าเป็นผม คนรู้ ผมก็ไม่กล้าโกง และถ้าลงโทษผมได้ ผมก็จะไม่กล้าโกง แล้วถ้าเราใส่ ‘ความเป็นคนดี’ เข้าไป จะเป็นอย่างไรบ้าง เช่น รอบแรก governor แบ่งให้เกือบ 25 token ต่อมาได้ไม่เต็ม ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าใครโกงเท่าไหร่ หรืออย่างไรบ้าง แต่เราเห็นการโกงเกิดขึ้น ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปเรื่อยๆ การแบ่ง token จะลดลง เมื่อครบ 10 รอบ citizen ได้เหลือแค่ 5 token จากการตรวจสอบ จะเห็นเช่นนี้ชัดเจนจากทุกภูมิภาค ทุกคนเริ่มต้นด้วยความตั้งใจดี แต่เมื่อไม่มีการตรวจสอบ เขาจะมีความสนุกสนานในการโกงไปเรื่อยๆ”

นายธานีกล่าวว่า ภายใต้ภาพนี้ ถ้าเปลี่ยนผู้ปกครอง เป็นคนรวย หรือ คนจน ถามว่าภาพจะเปลี่ยนไปหรือไม่

กรณีที่ 1.ผู้ปกครองที่รวย มีตั้งต้น 100 token ส่วน citizen มี 0 token กับอีกกรณี 2.ผู้ปกครองมีตั้งต้น 0 token หรือเป็นคนจน ส่วน citizen มี 100 จากกราฟ จะเห็นว่า ความเป็นธรรมที่จุดตั้งต้นไม่ต่างกันด้วยฐานะ ไม่ว่ารวยหรือจน รูปแบบการจัดสรรไม่แตกต่าง เหตุผลทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม มีคำอธิบาย 2 เรื่อง คือ 1. governor ที่เป็นคนรวย มี 100 token คำตอบหลักคือ เขากลัวจน ไม่อยากหล่นขั้นลงไปข้างล่าง ดังนั้น สิ่งที่ทำคือ แบ่งคนอื่นนิดหน่อย ให้ไม่เยอะ และ 2.ส่วนของคนจนที่ได้เป็นผู้ปกครอง จะตอบว่า เขารู้สึกว่าไม่เป็นธรรม เพราะตั้งต้น คนอื่นได้ 100 แต่ตัวเองได้ 0 เราตั้งตั้นจากความไม่เท่าเทียม เขาเติบโตมาในครอบตัวที่ยากจน ดังนั้น การแสวงหาผลประโยชน์ หรือรายได้อาจไม่ถูกต้อง ทำให้เห็นว่า ยิ่งมีความเหลื่อมล้ำมาก คอร์รัปชั่นยิ่งมากขึ้น เมื่อการทดลองครบ 10 รอบ ทั้งที่จุดตั้งต้นคล้ายกัน

“คนไทยรู้สึกว่า โชคเป็นของใครของมัน ไม่ใช่ของสาธารณะ กลายเป็นว่า เขาต้องลงมือทำอะไรบางอย่าง เพื่อให้ได้ token ของเขา เช่น เราให้ทดลองเล่น สไลด์เดอร์ ทาส์ก (slider task) ในสถานการณ์ที่ไม่เป็นธรรมและต้องทำอะไรสักอย่าง จะเกิดอะไรขึ้น

ซึ่งจากกราฟ 2 สี แทน คนจน และคนรวย คนจนที่มีเงินตั้งต้นน้อย แต่ทำงานเยอะ เมื่อเติม ‘ความไม่แฟร์’ และ ‘การคอร์รัปชั่น’ จะเห็นว่า เส้นการแบ่งให้คนอื่นสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่เมื่อถึงรอบที่ 10 การแบ่งให้คนอื่นๆ ลดลง แปลว่า ความเหลื่อมล้ำ-ไม่เป็นธรรม ซ้ำเติมคอร์รัปชั่น และรุนแรงกว่าคอร์รัปชั่นอีก เพราะการเกิดมารวย หรือจน คนอาจจะรับได้ แต่ทำงานแล้วได้ผลตอบแทนที่ไม่เท่ากัน รับไม่ได้ ความ 2 มาตรฐาน ยิ่งซ้ำเติมเรื่องการคอร์รัปชั่น หรือการจัดสรรที่ไม่เป็นธรรม

ถ้าเราไม่พึ่งพาความโปร่งใส และการลงโทษที่เข้มแข็ง ที่เราผลักดันกันมานานและยังไม่เห็นผล ถามว่า เราจะทำอะไรได้บ้าง เพื่อให้การคอร์รัปชั่นลดลง

นายธานีกล่าวว่า ค่าเฉลี่ยของคน ทุกคนเริ่มที่เกือบๆ 25 token ทั้งหมด ถามว่า ถ้าให้ตนเป็นผู้ปกครอง มีอำนาจ 10 ปี จะคงความดีได้หรือไม่ ตนอาจจะคงได้ในปีแรก ในปีที่ 5 หรือปีที่ 10 หรือไม่เปลี่ยนไปเลย ถ้าหาจุดนั้นเจอ แต่โดยผลลัพธ์การทดลอง ชี้ว่า คนมักคอร์รัปชั่นเมื่อเวลาผ่านไป แล้วเขาจะมั่นคงได้แค่ไหน อะไรจะลดคอร์รัปชั่นลงได้

“ลองสร้างสังคมที่เป็นธรรม เล่นเกม ให้คนเลื่อนสไลเดอร์เหมือนเดิม โดยเลื่อนไปจุด 50 token ทั้งหมด แล้วเราพบว่า เส้นนั้นอยู่ในจุดที่ไม่แฟร์ แล้วเราทำให้เส้นนั้นกลับมาสู่จุดปกติ เท่ากับว่า ทำให้คอร์รัปชั่นลดลงภายใต้สังคมที่เหลื่อมล้ำ ด้วยการลอง ‘สลับบทบาท’ ซึ่งไม่รู้ว่า ใน 10 รอบ ครั้งไหนบ้างที่เราจะได้เป็นผู้ปกครอง ผลที่เกิดขึ้นคือ ค่าคอร์รัปชั่นลดลง แม้ว่า เมื่อครบ 10 รอบ อาจจะมีคอร์รัปชั่นสูงขึ้น ก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่เมื่อมองภาพใหญ่ แนวโน้มการแบ่ง token อยู่ที่ประมาณ 20 token ไม่ได้แปลว่าปลอดคอร์รัปชั่น 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ไม่ได้แย่จนเกินไป

ดังนั้น การที่คนอื่นมีโอกาสขึ้นมาเป็นผู้ปกครองได้ จึงมีความสำคัญมาก เพราะทำให้เข้าใจ ‘หัวใจ’ ของการปกครอง และเข้าใจหัวใจของการเป็นประชาชน เมื่อคุณเป็นผู้ปกครองนานๆ ย่อมยากที่จะเข้าใจประชาชน หรือเมื่อคุณเป็นประชาชนนานๆ ก็ยากที่จะเข้าใจ หัวใจของผู้ปกครอง” นายธานีกล่าว และว่า

“ถ้าผมเป็นผู้ปกครองในรอบนี้ ก็อาจไม่ได้เป็นในรอบหน้า เพราะผู้ปกครองคนใหม่อาจตรวจสอบเอาผิด ที่ผมไม่เป็นธรรม ทั้งหมดนี้ อาจไม่ใช่เกมที่ยิ่งใหญ่ แต่สิ่งที่ทำให้เห็น คือเราเห็นแพทเทิร์นการตัดสินใจของผู้ปกครอง ซึ่งแปลว่า แนวคิด วัฒนธรรมเชิงโครงสร้าง มีผลด้วย

ทุกคนมีความตั้งใจที่ดี ไม่ว่ารวย หรือจน แต่การพึ่งคนอย่างเดียวนั้น เป็นไปได้ยาก เว้นแต่คนคงมั่นตลอดทั้ง 10 รอบ ซึ่งเรารู้ดีว่า มนุษย์มีการปรับเปลี่ยนได้ จึงมีความเสี่ยง เกมในที่นี้ต้องการที่จะบอกว่า ความเป็นธรรมของโอกาสในการปกครอง สิ่งนี้ลดการคอร์รัปชั่นอย่างเป็นรูปธรรม และนำไปสู่การจัดสรรผลประโยชน์อย่างเท่าเทียม และเป็นธรรมในระยะยาว” นายธานีกล่าว

เมื่อถามว่า การใช้สิทธิ การเยียวยานักศึกษา จากการเรียนออนไลน์ และคนห่างไกล ที่เข้าไม่ถึงระบบอินเตอร์เน็ต พอจะมีทางออกหรือไม่ ในการแก้ไขความเหลื่อมล้ำ และลดคอร์รัปชั่น ในช่วงโควิด

นายธานีกล่าวว่า การที่โควิดเข้ามา ส่งผลต่อการใช้เทคโนโลโลยี ที่มีความเหลื่อมล้ำตั้งแต่แรก ทำให้คนทั้งสองกลุ่ม ยิ่งห่างไกลกันไปอีก กลุ่มที่มีเทคโนโลยียิ่งเติบโตขึ้น ดังนั้น ประเด็นแรก ต้องเพิ่มโอกาสให้คนที่กำลังจะเสียโอกาส ได้กลับมาเท่าเทียม การเยียวยาไม่จำเป็นแค่การช่วยเหลือ แต่การเข้าถึงเทคโนโลยี ออนไลน์ คือเรื่องสำคัญ เพราะหากเหลื่อมล้ำตั้งต้น รายได้ไม่เท่ากัน จะทำให้ความสามารถในการสะสมทรัพย์สินต่างกันไปอีก นำไปสู่การใช้อำนาจ การใช้ทรัพยากรที่จะต่างกันไปอีก ดังนั้น ภาครัฐ นอกจากมองมุม สาธารณสุข การศึกษาที่เหลื่อมล้ำ ก็น่าจะสนใจมากขึ้น

“แง่บวกของโควิด ทำให้คนเห็นความเหลื่มล้ำ และมีการตรวจสอบประสิทธิภาพของรัฐบาล ซึ่งอาจมีความยากในการตรวจสอบความเหลื่อมล้ำมากขึ้นด้วย”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image