วิปรบ.-ค้าน ยังโต้กันวุ่นกรอบวันซักฟอกไม่ลงตัว “พิธา”เมิน “สิระ” ขู่ฟ้องม.112

วิปรบ.-ค้าน ยังโต้กันวุ่นกรอบวันซักฟอกไม่ลงตัว “พิธา”เมิน “สิระ” ขู่ฟ้องม.112

การอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลยังเป็นข้อถกเถียงระหว่างรัฐบาลและฝ่ายค้านในเรื่องของกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ไม่ลงตัว

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 มกราคม นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรครัฐบาล (วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์ถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคร่วมฝ่ายค้านว่า ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะยังคงเป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้คือมีการอภิปรายทั้งหมด 4 วัน ตั้งแต่วันที่ 16-19 กุมภาพันธ์ และมีการลงมติในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ เมื่อถามว่ากรณีที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) บอกว่าหากรัฐบาลมีการใช้เกมประท้วงในขณะที่อภิปรายและฝ่ายค้านก็จะประท้วงกลับ นายวิรัชกล่าวติดตลกว่า ในส่วนนี้ต้องไปถามนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรค พปชร.
ขณะที่นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ให้สัมภาษณ์ถึงระยะเวลาการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ฝ่ายค้านได้ตกลงกับรัฐบาลอย่างไรว่า ฝ่ายค้านกับรัฐบาลยังไม่ได้เจรจาตกลงว่าจะอภิปรายกี่วัน แต่ฝ่ายค้านมีมติว่าต่ำกว่า 5 วันไม่ได้ เพราะจะไม่เพียงพอกับรัฐมนตรีทั้ง 10 คน ขณะนี้ต้องรอให้นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร บรรจุญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจก่อน จากนั้นจะหารือกับฝ่ายรัฐบาลเพื่อกำหนดกรอบเวลาการอภิปรายที่ชัดเจนอีกครั้ง

เมื่อถามว่า หาก ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ตีรวนและประท้วง การอภิปรายเมื่อตอนที่ฝ่ายค้านพูดถึงเรื่องสถาบัน จะรับมืออย่างไร นายสุทินกล่าวว่า ต้องให้ยึดตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร คนพูดก็พูดตามข้อบังคับ คนประท้วงก็ประท้วงตามข้อบังคับ หากประท้วงนอกข้อบังคับ คนประท้วงก็เสียหาย หากทุกคนไม่ออกนอกข้อบังคับ การอภิปรายก็สามารถไปต่อได้

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ก.ก. ให้สัมภาษณ์กรณีนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรค พปชร. เตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลของฝ่ายค้านที่มีการระบุเรื่องสถาบัน ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และจะฟ้องร้องมาตรา 112 กับ ส.ส.ที่ลงชื่อในญัตติ ว่า การที่นายสิระจะฟ้องร้องฝ่ายค้านในมาตรา 112 ก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ว่าทำไมต้องแก้ไขมาตรา 112 เพราะคนที่ร้องทุกข์กล่าวโทษจะเป็นใครก็ได้ เหมือนเป็นเครื่องมือทำลายคู่ต่อสู้ฝ่ายตรงข้าม เป็นระบบที่ทำให้เกิดความแตกแยก และทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ไม่ดีระหว่างประชาชนกับสถาบัน เป็นไปตามญัตติที่เขียนไป คือนายสิระนำสถาบันมาแอบอ้างทำลายคู่ต่อสู้ทางการเมือง

Advertisement

เมื่อถามว่า หากวันแรกของการอภิปราย ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลตีรวนและประท้วงตลอด ฝ่ายค้านจะรับมืออย่างไร นายพิธากล่าวว่า นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ระบุว่า ไม่ว่าฝ่ายค้านจะแก้ไขญัตติหรือไม่ ก็จะบรรจุเข้าสู่วาระการประชุม ซึ่งฝ่ายค้านก็ไม่แก้ไขแม้แต่คำเดียว ทั้งนี้ ตลอดการอภิปรายที่ผ่านมาก็แสดงถึงเหตุผล วุฒิภาวะ และการทำตามข้อบังคับการประชุม ครั้งนี้ก็จะกล่าวถึงสถาบันเท่าที่จำเป็น และตั้งใจอภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นหลัก ฉะนั้นหากเกิดการประท้วง ก็จะประท้วงกลับ เพื่อให้การอภิปรายเดินหน้าต่อได้ เพราะการอภิปรายเป็นกลไกสำคัญที่ใช้รัฐสภาตรวจสอบรัฐบาล อย่านำเรื่องแบบนี้มาตัดช่องน้อยแต่พอตัว ทำให้ฝ่ายค้านไม่สามารถทำงานได้

เมื่อถามว่า ฝ่ายรัฐบาลอยากจะให้วันอภิปรายแค่ 4 วัน แต่ฝ่ายค้านอยากจะได้ 6 วัน หรือมากกว่านั้น นายพิธากล่าวว่า ไม่แน่ใจ เพราะยังไม่ได้ตกลงกันอย่างชัดเจน แต่เท่าที่หารือกันทราบว่าเรื่องระยะเวลาไม่ใช่สิ่งที่น่าเป็นห่วง สิ่งสำคัญคือ ส.ส.ทุกคนต้องได้อภิปราย และต้องไม่มีใครออกไปอภิปรายนอกสภา รัฐมนตรีที่มีชื่อถูกอภิปราย เช่น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ต้องถูกอภิปราย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image