“มีชัย” ส่อเลื่อนโรดแมปเอาใจ “บิ๊กตู่” ร่นเลือกตั้งก.ค.-ส.ค.60 กังวล“เทียนฉาย“ ฟังคนอื่นวิจารณ์ต่อ

แฟ้มภาพ

เมื่อเวลา 14.35 น. วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายเทียนฉาย กีระนันทน์ อดีตประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) แสดงความเป็นห่วง ถึงร่างรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระมากเกินไป ว่า น่ากังวล เพราะคนระดับนายเทียนฉายฟังจากที่มีคนวิพากษ์วิจารณ์ แล้วนำมาวิจารณ์ต่อ ถ้าท่านกรุณาสักนิดจะพบว่า จริงๆแล้วอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีเพิ่มไปจากเดิม โดยรัฐธรรมนูญปี 40 ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจ 16 อย่าง และปี 50 มีอำนาจ 17 อย่าง ส่วนร่างรัฐธรรมนูญนี้ มีอำนาจเพียง 14 อย่าง ซึ่งมีเพียงอย่างเดียวที่ไม่เคยมีมาก่อน คือ การ ให้อำนาจในการพิจารณาองค์กรอิสระที่กระทำความผิดมาตรฐานทางจริยธรรม ซึ่งไม่เกี่ยวกับนักการเมืองเลย แต่ที่ดูเหมือนมีอำนาจมาก เพราะมีการกำหนดคุณสมบัติต้องห้ามของส.ส. ส.ว และรัฐมนตรีที่สูงขึ้น จึงเกิดการเข้าใจผิดคิดว่าองค์กรอิสระมีอำนาจมากขึ้น

เมื่อถามว่า มีความกังวลหรือไม่ เกี่ยวกับการสื่อสารให้เข้าใจถึงร่างรัฐธรรมนูญ เพราะขนาดอดีตประธานสปช.ยังไม่เข้าใจ นายมีชัย กล่าวว่า น่ากังวล เพราะการออกมาพูดมีลักษณะไทย ๆ เป็นการกระโดดจับรับฟังมาผิด ๆ แล้วต่อยอดไปเรื่อย ๆดังนั้นทางกรธ.กำลังหาวิธีการที่จะทำให้มีแนวทางนำข้อมูลที่แท้จริงออกไปให้ประชาชนได้รับรู้ และเข้าใจมากขึ้น ซึ่งทางกรธ.ก็ต้องค่อย ๆ ปรับกันไป แต่ถ้ายังมีคนที่รับรู้บนพื้นฐานที่ไม่เป็นความจริง เราก็ไม่รู้จะปรับอย่างไร

เมื่อถามอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นห่วงในเรื่องโรดแมปที่ต้องยืดเวลาออกไป เพราะต้องใช้เวลาทำกฎหมายลูกถึง8 เดือน นายมีชัย กล่าวว่า เรื่องนี้ทางกรธ.กำลังคิดอยู่ เพราะเมื่อนายกฯพูดออกมาถึงโรดแมป คือ ต้องมีการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคมปี 60 ทางกรธ.ก็ต้องมาเริ่มต้นกระบวนการว่า หากให้มีการเลือกตั้งเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคมปี 60 ก็น่าจะพอไปได้ ซึ่งเราก็ต้องมาดูว่าเวลาที่กำหนดในการพิจารณากฎหมายลูก 8 เดือนนั้น ก็ถือว่าหืดขึ้นคอ แต่ถ้าให้เป็นไปตามโรดแมป ก็อาจจะล่าช้าออกไป 15-20 วัน ก็ต้องมาว่ากันอีกที โดยอย่างน้อยจะต้องพิจารณากฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง 5-6 ฉบับ และถ้าพิจาณาฉบับละ 1 เดือน รวม 5-6 เดือน ก็น่าจะเป็นไปได้ และในระหว่างที่มีการจัดการเลือกตั้ง ก็จะพิจารณากฎหมายลูกอื่น ๆ ให้ครบ เพราะหากปล่อยไว้ก็จะเหมือนคราวก่อน รัฐธรรมนูญถูกฉีกไปจนกำหมายลูกไม่ได้ทำ ก็จะไม่มีทางที่กฎหมายจะเกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม กรธ.รับรู้ถึงความกังวลของนายกฯ ก็ต้องมาปรับกันว่า จะทำอย่างไร

เมื่อถามต่อว่า ในบทเฉพาะกาลจะต้องมีการเขียนใหม่หรือไม่ เพื่อให้เกิดความชัดเจน เพราะในร่างแรกระบุว่า ให้ใช้เวลา 8 เดือน ประธาน กรธ. กล่าวว่า ถ้าจำเป็นต้องปรับ ก็ต้องปรับเพื่อให้ความชัดเจน แต่ยืนยันว่า ระยะเวลาในการพิจารณากฎหมายลูกนั้นเท่าเดิม เพียงแต่จะพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งโดยจะต้องมีการพูดคุยกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ก่อนว่าจะจัดลำดับอย่างไรให้เรียบร้อย

Advertisement

เมื่อถามว่า ในเมื่อกรธ.ต้องการรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย แต่ล่าสุดเวทีสัมมนาเกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญของนิด้าถูกคสช.สั่งระงับ นายมีชัย กล่าวว่าเรื่องนี้ไม่ทราบไม่สามารถตอบได้ แต่ในการออกไปรับฟังความคิดเห็นของกรธ. ที่ต่างจังหวัด ในแต่ละครั้งขออนุญาตคสช.อย่างถูกต้องทุกครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image