09.00 INDEX คำสั่ง สลายการชุมนุมที่สาทร กับการเปล่งคำ ‘ยินดีต้อนรับ’

คำสั่ง สลายการชุมนุมที่สาทร กับการเปล่งคำ ‘ยินดีต้อนรับ’

ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่ว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เมื่อทอดมองไปยังการรวบอำนาจอัน เกิดขึ้นในเมียนมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์

ย่อมบังเกิดการระลึกชาติได้ ย่อมสัมผัสได้ในบรรยากาศที่ละม้ายเหมือนกันราวกับถอดแบบออกมาของ ‘คู่แฝด’

พลันภาพของแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พลันภาพของแกนนำมวลมหาประชาชนกปปส.อันมีส่วนอย่างสำคัญซึ่งแสดงบทบาทในการปูทางและสร้างเงื่อนไข

Advertisement

ก็ผุดพร่างขึ้นมาพร้อมกับสโลแกนหะรูหะรา ไม่ว่าจะเป็นถึงเวลาต้อง ‘กู้ชาติ’ เพื่อต่อต้าน ‘ทุนสามานย์’ ไม่ว่าจะเป็นคำเรียกร้องอันคึกคักที่ว่า ‘ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง’

ในที่สุดกระบวนการของทหารเมียนมาและกระบวนการของทหารที่มีส่วนร่วมในรัฐประหารเมื่อปี 2549 และที่มีส่วนร่วมในรัฐ ประหารเมื่อปี 2557 ก็ลอยเด่นขึ้นมาอยู่เรียงเคียงคู่กัน

เพียงแต่เป้าหมายของไทยเป็น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพียงแต่เป้าหมายของเมียนมาเป็น นางอองซาน ซูจี เท่านั้น

Advertisement

อย่าได้แปลกใจที่ความรู้สึกของคนไทยจำนวนหนึ่งต่อการรวบอำนาจในเมียนมาก่อความคุ้นเคยเป็นอย่างยิ่งกับการรวบอำนาจใน กรุงเทพมหานคร

ไม่ว่าจะเป็นรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าจะเป็นรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

จึงได้เกิดการนัดหมายชุมนุมขึ้นโดยอัตโนมัติ ณ บริเวณหน้าสถานเอกอัครราชทูตเมียนมาบนถนนสาทร ส่วนหนึ่งอาจเป็นชาวเมียนมา ส่วนหนึ่งอาจเป็นราษฎรที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร

เนื่องจากเป็นการชุมนุมในลักษณะต่อเนื่องจึงนำไปสู่ปรากฏ การณ์ ‘ชู 3 นิ้ว’ ไม่ว่าจะเป็นคนไทย ไม่ว่าจะเป็นคนเมียนมา โดยส่งความไม่พอใจไปยังเป้าหมายแทบไม่แตกต่างกัน

และสถานการณ์ก็จบลงด้วยการสั่ง ‘สลาย’ และจับผู้ชุมนุม

บทบาทของรัฐบาลไทยจึงเท่ากับเป็นการสื่อออกไปอย่างไม่ปิดบังอำพรางว่ามีความรู้สึกอย่างไรต่อรัฐประหารในเมียนมา

รัฐประหารมิได้เป็นเรื่องแปลกจากประสบการณ์ของสังคมประเทศเมียนมา รัฐประหารยิ่งมิได้เป็นเรื่องแปลกจากประสบการณ์ของสังคม ประเทศไทย

คำว่า ‘ยินดีต้อนรับ’ อาจมิได้กล่าวออกมา แต่อ่านผ่านสีหน้าแววตาก็แทบมิได้ปิดบังอำพรางความรู้สึกแต่อย่างใด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image