กฤษฎีกาเตือนแก้ รธน.ยึดคำวินิจฉัยศาล รธน. ‘ไพบูลย์’ กังวลไม่ส่งตีความอาจทำให้ร่างฯตก

กฤษฎีกาเตือนแก้รธน.ยึดคำวินิจฉัยศาล รธน. ‘ไพบูลย์’ กังวลไม่ส่งตีความอาจทำให้ร่างฯตก

เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 4 ก.พ.นี้มีวาระการพิจารณารับทราบผลการพิจารณารายงานศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐ ธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2560 ที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธาน สืบเนื่องจากที่ ครม.ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาข้อสังเกตของ กมธ.ว่า การยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับจะทำได้หรือไม่ เพื่อแจ้งกลับมายังสภาผู้แทนราษฎรรับทราบประกอบการพิจารณารายงานศึกษา ปัญหา หลักเกณฑ์และแนวทาง แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ของ กมธ.นั้น คณะกรรรมการกฤษฎีกาได้ทำหนังสือตอบกลับมาแล้ว ระบุว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลให้ยกร่างใหม่ทั้งฉบับจะทำได้หรือไม่ ควรพิจารณาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับที่เกี่ยวข้องคือคำวินิจฉัยที่ 18-22/2555 ที่ระบุการแก้ไขข้อบกพร่องรัฐธรรมนูญ ควรทำเป็นรายมาตรา แต่การยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ควรจัดให้ออกเสียงประชามติจากประชาชนก่อน และคำวินิจฉัยที่ 15-18/2556 ที่ระบุการแก้ไขที่มา ส.ว.ให้มาจากการเลือกตั้งเพียงทางเดียว เป็นการขัดรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้มีสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลกัน

แต่ทั้งนี้คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับ เป็นการวินิจฉัยภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2550 แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมปี 2560 มีบทบัญญัติเพิ่มเติมเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญไว้ในหมวด15 เป็นการเฉพาะ ดังนั้นการแก้รัฐธรรมนูญย่อมทำได้ แต่สมควรคำนึงถึงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับที่วางแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้เป็นบรรทัดฐาน อาจมีการยกเป็นประเด็นส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ เนื่องจากมีแนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไว้เป็นบรรทัดฐานแล้ว

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหนาพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะผู้เสนอญัตติขอให้รัฐสภามีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) กล่าวว่า ในการประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 9 ก.พ.นี้ จะพิจารณาญัตติดังกล่าวว่า จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับเป็นการขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งบันทึกของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ส่งให้สภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้ จะเป็นส่วนสำคัญประกอบการตัดสินใจของ ส.ส. และ ส.ว.ว่าจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ หากไม่มีกระบวนการส่งไปศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เกิดความชัดเจน เมื่อต้องพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวาระ 3 ที่ต้องใช้เสียง ส.ว.ด้วย หากเสียง ส.ว.ไม่ถึง 1 ใน 3 อาจทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องตกไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image