“เพื่อไทย” จี้ รัฐเร่งเยียวยาโควิดให้ทุกกลุ่ม ถามเหตุแบ่งจ่ายเงิน เพราะถังแตกใช่หรือไม่
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรค พท. แถลงถึงมาตรการเยียวยาของภาครัฐและการจัดหาวัคซีนคุ้มกันโควิด-19 ว่า พรรค พท.ได้กำหนดท่าทีเรื่องการเยียวยา โดยยืนยันมาตรการที่พรรคเสนอไปตั้งแต่ช่วงเกิดเหตุการณ์ระบาดรอบสอง คือ 1.การเยียวยาควรรวดเร็ว ครอบคลุม ทั่วถึงสำหรับผู้ที่ได้รับผกกระทบทั้งหมด โดยเสนอว่าต้องเยียวยาให้เป็นเงินสด 5 บาทรวม 3 เดือน นอกจากนี้ ต้องเร่งเยียวยากลุ่มเอสเอ็มอี รัฐต้องเร่งแก้ไขกฎหมายโดยเฉพาะ พ.ร.ก.ซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาสามารถปล่อยสินเชื่อไปได้เพียง 1 แสนล้านบาทเท่านั้น ทั้งนี้ได้เสนอกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ จำนวน 1 ล้านล้านบาท เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจไม่ให้ล้ม แต่นอกจากที่รัฐบาลจะไม่เยียวยาตามที่พรรคได้เสนอไปแล้ว ยังกำหนดมาตรการที่ซับซ้อน เช่น การลงทะเบียนด้วยสมาร์ทโฟน ขอให้คำนึงถึงกลุ่มคนที่ไม่มีสมาร์ทโฟนเพื่อลงทะเบียนแอพพ์ไทยชนะ หรือเป๋าตัง
นพ.ชลน่านกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ รัฐต้องคำนึงถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบในกลุ่มประกันสังคมตาม ม.33 ที่ไม่ได้รับการเยียวยา ทราบว่ารัฐจะจ่ายเป็นเงินสด ซึ่งทางพรรคสนับสนุน โดยควรเยียวยาที่ 5 พันบาท เพราะจ่ายแค่ครั้งเดียว ส่วนการโอนเงินเป็นสัปดาห์ โดยเฉพาะกลุ่มบัตรคนจนทำให้เกิดความยุ่งยาก ถามว่าทำไมรัฐต้องแบ่งจ่าย ยังมีเงินคงคลังใช่หรือไม่ รัฐต้องตอบคำถามนี้กับสังคมให้ชัดว่าทำไมต้องบังคับจ่ายเฉพาะคนที่มีแอพพ์เป๋าตัง
นพ.ชลน่านกล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องวัคซีนเป็นรื่องที่ประชาชนสนใจว่าวัคซีนสำหรับประเทศไทยเป็นอย่างไร ได้เมื่อไร ปลอดภัยหรือไม่ มาแล้วจะได้ฉีดหรือไม่ เพราะมีกระแสข่าวว่าวัคซีนที่เข้ามาเป็นเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งเห็นว่าต้องมาอย่างรวดเร็ว เพราะคุณทำให้เกิดการระบาดรวดเร็ว แต่การเตรียมวัคซีนกลับล่าช้า ซึ่งกระทบภาคธุรกิจ ดังนั้นการจัดหาวัคซีนต้องครอบคลุม ทั่วถึงในราคาที่ไม่แพง ถ้านำเข้าวัคซีนเสรีได้ยิ่งดีเพื่อเป็นหลักประกัน ทั้งนี้ หากจะให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ประชาชนต้องได้รับวัคซีนประมาณ 48-49 ล้านคน แต่รัฐกลับจัดหาวัคซีนได้เพียง 13 ล้านคนซึ่งไม่พอเพียง เมื่อได้วัคซีนช้าไม่มีภูมิคุ้มกัน ประชาชนไม่สามารถทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หรือไปมาหาสู่กันได้ และรายได้หลักของประเทศ คือการท่องเที่ยว ซึ่งภาคธุรกิจด้านท่องเที่ยวซบเซา และฟื้นยากหากได้วัคซีนก็จะได้โอกาสฟื้นเศรษฐกิจเร็ว ที่สำคัญคือ ผลกระทบด้านจิตวิทยา ถ้าฉีดวัคซีนช้า ความเชื่อมั่น การคบค้าสมาคมจากในและต่างประเทศจะมีผลอย่างมาก และจะเกิดความเสียหายโดยรวม หากรัฐบาลเสียหาย การเยียวาก็ล้มเหลวอีกเป็นวัฏจักร
“สำหรับความพร้อมในการจัดหาวัคซีนเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับเรา ซึ่งเขาเริ่มฉีดโดสแรกแล้วแต่การบริหารจัดการของเราทำไมล่าช้ากว่าเพื่อนบ้าน คำตอบคือรัฐบาลล่าช้า และจะเกิดผลกระทบมากมาย” นพ.ชลน่านกล่าว