คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : ถ้า‘ไม้ผลัดใบ’จะเป็น‘กบฏในระบบ’

Virtual Conference หัวข้อ Breakthrough Thailand “ประเทศไทยไปต่อ” ที่จัดขึ้นในโอกาสครบรอบ 44 ปีเครือ “มติชน” เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (29 ม.ค.64) เป็นงานสัมมนาเสมือนจริงที่สามารถรวมเอา “เบอร์ใหญ่” ของแต่ละวงการมาได้แทบทุกสาขาที่เกี่ยวข้องกับการคาดการณ์อนาคตของประเทศ ทั้ง ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร และดร.คริส เบเคอร์ ที่มาชำแหละความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมของระบบภาษี ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ เสนอแง่มุมปัจจัยของการฉ้อฉลเชิงอำนาจด้วยระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์ ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ วิเคราะห์ความเป็นไปได้ของสถานการณ์วัคซีนและการระบาดของ COVID-19 และ ดร.สันติธาร เสถียรไทย มาถอดชิ้นส่วนหาจุดอ่อนจุดแข็งในทางเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

หากไฮไลต์สำหรับคอการเมืองและผู้สนใจปรากฏการณ์ทางสังคมคงจะอยู่ที่ปาฐกถาของ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักคิดและนักวิชาการผู้คร่ำหวอดประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมการเมืองไทย ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ศึกษาปรากฏการณ์ของคนรุ่นใหม่

เพราะปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในปีที่เพิ่งผ่านไปนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีใครจะประเมินล่วงหน้า หรือคาดการณ์ ถึงแม้แต่เห็นสถานการณ์ที่น่าตื่นเต้นตอนต้นปีที่ต่อการการลุกขึ้นแสดงพลังของคนรุ่นใหม่ แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่าในช่วงกลางและปลายปีเราจะได้เห็นอะไรอย่างที่ได้เห็น ได้ยินอะไรอย่างที่ไม่เชื่อว่าจะได้ยิน ดังนั้นสำหรับปีนี้ พ.ศ.2564 หรือปี 2021 นั้น ปรากฏการณ์พลังของคนรุ่นใหม่นี้จะพัฒนาต่อไปอย่างไร

อาจารย์กนกรัตน์ตั้งข้อสังเกตจากการสำรวจของท่านว่า คนเจนวาย (เกิดระหว่างปี พ.ศ.2523-2537) ซึ่งตอนนี้อยู่ในภาควิชาชีพ หรือคนทำงานยุคใหม่ ไม่ว่าจะในภาคเอกชน ธุรกิจส่วนตัว หรือแม้แต่ในภาคราชการก็ปรากฏว่ากำลังคนที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปีลงมามีถึง 60-70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีความคิดแบบเสรีนิยม มีสำนึกถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำ และความอยุติธรรมในสังคม จึงมีแนวโน้มไปในทางที่สนับสนุนฝ่ายผู้ชุมนุมกลุ่มเด็กนักเรียนนักศึกษา ดังนั้นอาจารย์จึงให้เราจับตาการ “ผลัดใบ” ของบุคลากร
ในหน่วยงานราชการในเวลาอันใกล้นี้

Advertisement

สอดคล้องกับการคาดการณ์ของอาจารย์นิธิที่คาดการณ์ถึงปรากฏการณ์ “กบฏในระบบ” ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อคนในกลไกภาครัฐที่น่าจะเป็นมือไม้กลไกของผู้ถืออำนาจรัฐ จะรู้สึกได้ถึงความอยุติธรรม หรือเริ่มรู้สึกอึดอัดใจที่ได้รับคำสั่งมาจาก “นาย” ให้ยืนอยู่ตรงข้ามกับประชาชน อาจจะมีที่พยายามจะขัดคำสั่งอันมิชอบเพื่อกลับมาปฏิบัติหน้าที่ตามหลักการหรือตามกฎหมาย โดยเฉพาะผู้อยู่ในองค์กรกระบวนยุติธรรม ตำรวจ อัยการ จนถึงผู้พิพากษา

ซึ่งถ้า “กบฏในระบบ” เกิดขึ้นมากพอและขยายตัวจะทำให้ “ระบบ” ไม่สามารถร่วมมือกันกดขี่ประชาชนได้ และถ้าไม่ปรับตัว ระบบที่เจอกับการกบฏจากภายในนี้ก็อาจจะล่มสลายได้แน่ๆ

เข้าเค้ากับที่มีผู้สังเกตว่าแนวโน้มคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลในระยะหลัง โดยเฉพาะในศาลยุติธรรมชั้นต้น จะเริ่มมีทิศทางไปในทางที่เป็นคุณต่อสิทธิหรือเสรีภาพของประชาชน แม้ว่าจะอยู่คนละขั้วละข้างกับรัฐบาลมากขึ้น เช่นเมื่อฝ่ายตำรวจจะไปไล่จับตัวแกนนำ หรือผู้มีบทบาทในความเคลื่อนไหวทาง
การเมือง และมาตั้งข้อหาร้ายแรง แต่เมื่อถึงกำหนดต้องส่งไปให้ศาลเป็นผู้พิจารณา ก็จะปรากฏว่าศาลมักจะให้ปล่อยชั่วคราว หรือให้ประกันตัว หรือแม้แต่ในการตัดสินพิพากษาในคดีร้ายแรงที่สมัยก่อนแทบไม่ต้องคิดสู้คดีให้คาดว่าไม่ได้กระทำความผิด เอาแค่ได้รอการลงโทษก็ถือว่าบุญแล้ว แต่ในช่วงนี้ก็ปรากฏว่ามีคำพิพากษาให้ยกฟ้องในคดีที่มันลากถูไปให้เข้าองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายไม่ไหวจริงๆ ให้ออกมาในทางที่มีเหตุมีผลยอมรับได้มากขึ้นหลายคดี ทั้งหมดนี้เป็นเหมือนทิศทางลมที่เปลี่ยนไปให้สัมผัสถึง

Advertisement

ถ้าเช่นนั้น แปลว่า “กบฏในระบบ” อาจจะเริ่มมีขึ้น หรือก่อตัวแล้วจริงๆ หรือในฐานที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นคนเติบโตมาไม่ไกลจากรุ่นดังกล่าว และรับราชการมาตั้งแต่เริ่มทำงานจนปัจจุบันก็มีข้อสังเกตในเรื่องนี้อยู่บ้างมาชวนแลกเปลี่ยน แต่ก็ขอย้ำและออกตัวว่า ทั้งหมดนี้คือความเห็นส่วนตัวจากประสบการณ์ส่วนบุคคลโดยแท้

ก่อนอื่น เราคงต้องยอมรับความจริงว่าโดยเฉลี่ยแล้วคนที่เข้าสู่ระบบราชการแต่แรกเริ่มเรียนจบนั้น ส่วนใหญ่ถ้าไม่ใช่คนที่มีค่านิยมอยากมีชีวิตการทำงานแบบ “น้ำซึมบ่อทราย” ไม่คาดหวังตั้งต้นกับรายได้มากมายนัก เพื่อแลกกับความกดดันและความเหนื่อยยากที่ต่ำกว่างานในสายธุรกิจหรือเอกชน ที่สำคัญคือความมั่นคงที่แทบจะไม่ต้องกังวลเรื่องการเลิกจ้าง แถมมีสวัสดิการและสิทธิพิเศษเลี้ยงตัวเอง และครอบครัวไปได้ระยะยาว

อีกเรื่องที่ต้องยอมรับคือ น้อยนักซึ่งคนที่เก่งที่สุดในสาขาวิชานั้นของแต่ละรุ่นจะเลือกเข้าเส้นทางราชการ หรือถ้าจะมีก็จะเป็นคนที่มีทุกอย่างถึงพร้อมแล้ว และเลือกมารับราชการด้วยอุดมการณ์หรือ
ค่านิยมส่วนตัวหรืออาจจะเพราะการผลักดันของครอบครัว

แรกเริ่มต้นคนที่เข้าสู่สายงานราชการอาจจะมีความรู้ความสามารถไม่ได้แตกต่างจากเพื่อนร่วมรุ่นที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย หรือสาขาวิชาเดียวกันมากนัก หากเมื่อเริ่มเข้าสู่ระบบราชการได้ราว 5-10 ปี อนาคตของข้าราชการแต่ละคนจะชัดเจนขึ้น

เมื่อเวลาผ่านไประดับนั้น ในบรรดาผู้เลือกเข้ารับราชการนี้จะมีคนกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็น “ดาวรุ่ง” ในวงงานแต่ละสาขา ไม่ว่าจะเพราะความรู้ความสามารถของตนเองโดยแท้หรือโดยการหนุนส่งของระบบ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม คนที่เป็นดาวรุ่งนี้ก็จะมี “ของ” หรือความสามารถของตัวเองในระดับที่ไม่แพ้ใคร กับคนอีกกลุ่มที่อนาคตทางราชการไม่หวือหวาก้าวหน้า เพียงเติบโตเนิบนาบไปตามระบบ ตราบที่ไม่ได้ประพฤติ​​ผิดร้ายแรงในทางวินัยหรือจารีต ก็สามารถอยู่ไปได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป

เรื่องนี้เกี่ยวกับ “กบฏในระบบ” ได้อย่างไร นั่นก็เพราะว่า ไม่ว่าบุคคลผู้นั้นจะเติบโตไปในทิศทางที่พุ่งขึ้นหรือราบลง ชีวิตของพวกเขาก็ถูกเหนี่ยวรั้งด้วย “ระบบราชการ” โดยแง่มุมที่แตกต่างกัน

สำหรับกลุ่มที่ประสบความสำเร็จในระบบราชการ ในตอนนี้พวกเขามีอายุปลาย 30 ต้น 40 หลายคนเริ่มได้ตำแหน่งผู้บริหารระดับกลาง เช่น เป็นระดับผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้อำนวยการสำนัก ถ้าเข้าสู่แวดวงกระบวนยุติธรรมระดับสูง ก็ระดับหัวหน้าคณะในศาลชั้นต้นที่รอเข้าสู่ตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าหน้าศาล หรือรองอัยการจังหวัด

ดาวรุ่งกลุ่มนี้รู้ดีว่า การ “รักษาตัวรอด” ไปในระบบเรื่อยๆ โดยทำงานเต็มกำลังความรู้ความสามารถด้วยความซื่อสัตย์สุจริตพอสมควร รักษาสุขภาพกายใจและประวัติใน ก.พ. 7 ให้ดี ปลายทางชีวิตของเขาคือตำแหน่งใหญ่ในระบบราชการที่รับประกับความสุขสบายทั้งในปัจจุบันและในอนาคตรวมถึงครอบครัวลูกหลาน

สำหรับคนกลุ่มกลางๆ หรือค่อนไปในทางไม่ประสบความสำเร็จ แม้เขาอาจจะไม่ได้อยู่สบายนักกับผลตอบแทนที่ได้รับทั้งในแง่ของตัวเงินและประโยชน์อื่น แต่กระนั้นเมื่ออายุราชการถึงปูนนี้ เขาก็รู้ตัวยอมรับแล้วว่าถ้าไม่ได้รับราชการก็ยากที่เขาจะลาออกไปทำอย่างอื่นได้แล้ว เวลา 5 ปี ถึง 10 ปี ทำให้ความรู้ความสามารถรวมถึงความมุ่งมั่นทะเยอทะยานของเขาถูกคนรุ่นเดียวกันที่อยู่ในสายงานธุรกิจ หรือเอกชนทิ้งไปแบบไกลลิบ

ไม่ว่าจะทางใดก็ล้วนเป็นเครื่องรั้งสติต่อการเป็น “กบฏในระบบ” ที่จริงๆ ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าการทำตามหลักการ หรือกฎหมายมาก่อนคำสั่งของผู้มีอำนาจที่ผ่านมาตามสายการบังคับบัญชา

แม้พวกเขาอาจจะเห็นด้วยกับประชาชนหรือฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับอำนาจรัฐแค่ไหนก็ตาม แต่การลุกขึ้นมาแสดงตนปฏิบัติการ “กบฏ” ต่อระบบที่เขาฝังรากจมตัวลงไปแล้วนั้นมีราคาที่ต้องแลกสูงเกินไป หรือบางคนก็ได้เห็น “ชะตากรรม” ของข้าราชการรุ่นเดียวกันที่ริเป็นกบฏต้องจบลงอย่างไม่สวยงาม บ้างก็ถูกเขี่ยตกจากเส้นทางของความเจริญก้าวหน้า หรือที่โชคร้ายกว่านั้นก็ถูกดำเนินการทางวินัยมีมลทินติดตัว

ยิ่งถ้าเป็นคนกลุ่มที่รับราชการ เพราะไม่เหลือทางเลือกอื่นในชีวิตแล้ว การให้เสี่ยงกับการสูญเสียสถานะหรือลดความก้าวหน้าลงไปกว่านี้แทบเป็นไปไม่ได้ แม้แต่กลุ่มดาวรุ่งที่ประสบความสำเร็จแล้วอาจจะไม่เดือดร้อนมากเท่านั้นก็จริง แต่สิ่งที่ต้องยอมรับคือ แม้ว่าเขาจะเก่งกาจเป็นที่ยอมรับในแวดวงราชการเท่าไร แต่ให้เทียบกับคนรุ่นเดียวกัน จบมาในวุฒิสาขาเดียวกันที่อยู่ในภาคเอกชนนั้น ก็ยากที่เขาจะแข่งด้วยได้ ด้วยประสบการณ์และสภาพจิตใจที่ถูกหล่อหลอมไปในวัฒนธรรมแบบราชการแล้ว

ปัจจัยสำคัญที่ต้องยอมรับคือ ในสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจจาก COVID-19 นั้น คนกลุ่มที่แทบไม่ได้รับผลกระทบคือ ข้าราชการ และยิ่งถ้าเป็นกลุ่มที่มีรายได้สูงกว่าข้าราชการทั่วไปหรือมีค่าตอบแทนพิเศษ อาจจะเรียกได้ว่าหากไม่มองเรื่องคับข้องอื่นใด พวกเขามีชีวิตที่สบายมากทีเดียว

ดังนั้น แทนที่จะเสี่ยงให้เสียอนาคตที่ไม่ว่าจะรุ่งโรจน์หรือไม่ พวกเขาทำได้เพียงรักษาจิตใจแบบ “กบฏแต่ไม่แสดงออก” อดทนอยู่ในระบบเงียบๆ เอาใจช่วยอยู่ห่างๆ หรืออย่างมาก คือ โอนเงินไปร่วมสนับสนุนแบบนิรนาม

ปัจจัยสำคัญอีกเรื่องที่ทำให้การลุกขึ้นมาเป็นกบฏในระบบต่อต้านคำสั่งที่ไม่ชอบธรรม ก็คือบทเรียนทางการเมืองที่ไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ว่า การบิดเบือนการใช้อำนาจนั้นส่งผลร้ายในภายหลัง ยกเว้นแต่ขั้วอำนาจเปลี่ยนก็เท่านั้น และประวัติศาสตร์การเมืองเช่นกันก็บอกว่า “ขั้วอำนาจ” ที่กำลังครอบงำระบบอยู่นี้ คือ ขั้วที่ไม่เคยแพ้ ไม่ว่าใครจะมาจะไป

ก็ไม่แปลกใจว่าเราได้เห็นการทำตามคำสั่ง “นาย” แบบที่เรียกได้ว่า แถไถไร้สติ หรือทำอะไรโหดร้ายขัดต่อกฎหมายชัดๆ ที่ถ้าเป็นสภาวะปกติพวกเขาอาจจะถูกลงโทษในคดีอาญาฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบไปนานแล้ว แต่เขาก็กล้าทำเพราะ “นายสั่ง” ซึ่งถ้าแข็งขืนก็มีโทษทันตา ไม่เหมือนทัณฑ์ทางกฎหมายที่คล้ายจะไม่มีวันจะมาถึง

เรื่องนี้ถ้าจะมีข้อยกเว้นอยู่บ้างก็คือข้าราชการกลุ่มเดียวที่มีความเป็นอิสระสูง คือ ผู้พิพากษา หรือตุลาการ ซึ่งมีหลักการอันห้ามล่วงละเมิดที่ยอมรับกัน คือ ความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษา หรือมีคำสั่งในคดีของผู้พิพากษาแต่ละคน ดังนั้นถ้าอาจจะได้เห็น “สายลมที่เปลี่ยนแปลง” เราอาจจะหวังได้จากคนกลุ่มนี้

แต่สำหรับเส้นอื่นสายอื่นแล้ว แม้ว่าจะมีการ “ผลัดใบ” แต่โอกาสที่จะได้เห็น “กบฏในระบบ” ก็อาจจะไม่ได้ง่ายดาย หรือมีความหวังขนาดนั้น

กล้า สมุทรวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image