ถกรับหลักการ ร่าง กม.เข้าชื่อถอดถอนนักการเมืองท้องถิ่น เหลว พปชร.ชิงขอให้ปิดประชุม โหวตอาทิตย์หน้า

สภาถกรับหลักการ ร่าง กม.เข้าชื่อถอดถอนนักการเมืองท้องถิ่น เหลว หลังถกเถียงกว่า 2 ชม. จน พปชร.ชิงขอให้ปิดประชุม ไปโหวตอาทิตย์หน้า

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. …. ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) นำเสนอเพื่อให้สิทธิกับประชาชนมีส่วนร่วมต่อการปกครองท้องถิ่นและการตรวจสอบนักการเมืองท้องถิ่น

ทั้งนี้ ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลได้เสนอแนะเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกให้ประชาชน และมีกลไกกำกับการลงลายมือชื่อของประชาชนให้ถูกต้อง และลงโทษผู้แอบอ้างลายมือชื่อประชาชนเพื่อกลั่นแกล้ง วางบทกำหนดโทษบุคคลที่ใช้กลไกดังกล่าวกลั่นแกล้งทางการเมือง โดยเฉพาะบุคคลที่แพ้การเลือกตั้ง กำหนดบทลงโทษสำหรับสมาชิกท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นที่ไม่สามารถพัฒนาพื้นที่ได้

กำหนดให้การลงคะแนนถอดถอนเป็นไปโดยตรงจากประชาชนและเป็นการลงคะแนนลับ เพื่อคุ้มครองประชาชน รวมถึงกำหนดเกณฑ์ที่ประชาชนจะเข้าชื่อถอดถอนให้ชัดเจน จากที่ร่างกฎหมายกำหนดพฤติกรรม อาทิ ทอดทิ้ง หรือละเลยการทำหน้าที่ และอำนาจที่ทำให้ราชการเสียหาย สร้างความเสื่อมเสีย ก่อความไม่สงบในองค์กร ทุจริต ทำการขัดผลประโยชน์ขององค์กร

Advertisement

ทั้งนี้ ในช่วงท้ายของการประชุม การอภิปรายทักท้วงต่อการให้อำนาจประชาชนเข้าชื่อถอดถอนที่ ส.ส.หลายคนกังวล โดยเฉพาะพรรคร่วมรัฐบาล คือ ประชาธิปัตย์, ชาติไทยพัฒนา, พลังท้องถิ่นไทย ว่า บทบัญญัตินั้นกำหนดให้ประชาชนเปิดเผยชื่อ บัตรประชาชน ที่อาจส่งผลกระทบและเป็นอันตรายกับประชาชนได้ รวมถึงการถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่นที่ให้สิทธิผู้กำกับดูแลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น นายอำเภ ปลัดอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด รมว.มหาดไทย สำหรับกรุงเทพฯ ตรวจสอบการเข้าชื่อถอดถอน ตั้งกรรมการสอบสวนพฤติกรรมตามที่ถูกประชาชนเข้าชื่อ อาจมีผลกระทบต่อผู้ซึ่งมาจากการเลือกตั้งท้องถิ่น ถูกผู้ที่มาจากการแต่งตั้งขับให้พ้นจากตำแหน่งได้

นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ชี้แจงว่า ร่าง พ.ร.บ.เข้าชื่อถอดถอนฯ เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนตรวจสอบผู้บริหาร และสมาชิกสภาท้องถิ่น โดยใช้เสียง 5,000 คน หรือ 1 ใน 5 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง ซึ่งเป็นร่างกฎหมายให้อำนาจกับประชาชน

นายนิพนธ์กล่าวว่า ส่วนการตรวจสอบการบริหารองค์กรนั้นมีกฎหมายอีกฉบับที่บังคับใช้ ซึ่งมีรายละเอียดให้หน่วยงานกำกับ ตรวจสอบตามกฎหมายบริหารองค์กร อย่างไรก็ตาม รายละเอียดของการอภิปราย พร้อมจะนำไปปรับแก้ไขในชั้นกรรมาธิการ

Advertisement

“ในร่างกฎหมายที่ให้อำนาจผู้กำกับสอบสวนนั้น ไม่ใช่การให้อำนาจสอบสวนโดยตรง แต่ต้องให้ประชาชนเป็นผู้เข้าชื่อยื่นเรื่อง ซึ่งประเด็นที่อภิปรายนั้น กรมการปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาและเห็นว่ามีประเด็นที่ควรปรับแก้ จึงขอไปปรับในชั้นกรรมาธิการ แต่เมื่อหลักการเห็นตรงกันคือให้อำนาจประชาชนตรวจสอบนักการเมืองท้องถิ่น ก็ควรรับร่างกฎหมายไปพิจารณา” นายนิพนธ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อถกเถียงยังคงเกิดขึ้น ทำให้นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ลุกขึ้นหารือขอให้ปิดการประชุม เพื่อให้ ส.ส.ได้ทบทวนรายละเอียดก่อนลงมติในสัปดาห์หน้า เนื่องจากเนื้อหาของร่างกฎหมายอาจมีผลกระทบต่อการเมืองท้องถิ่นอย่างรุนแรง

ทำให้นายศุภชัยกล่าวว่า ฟังการอภิปรายจากทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลมีความเห็นแตกต่างกันไป จึงขอปิดประชุม

ทำให้นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ทักท้วงว่าอย่าปิดประชุมหนี แต่ไม่เป็นผล การประชุมสภายุติลงเมื่อเวลา 16.40 น. หลังจากที่ใช้เวลาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวกว่า 2 ชั่วโมง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image