‘ยูเอ็นเอชอาร์ซี’เรียกร้องไทยปล่อยตัวกลุ่มเห็นต่างร่างรธน. พร้อมถอนข้อหาทั้งหมด

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ราวีนา ชัมดาซานี โฆษกหญิงของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชอาร์ซี) ออกแถลงการณ์ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระบุว่า มีความกังวลเป็นอย่างยิ่งในเรื่องข้อจำกัดด้านประชาธิปไตยในไทยที่ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและขอเรียกร้องให้ไทยกลับสู่การปกครองโดยพลเรือนโดยเร็ว โดยภายหลังการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 มีการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการรวมกลุ่มกันในระดับร้ายแรงผ่านการใช้กฎหมายอาญาและกฎหมายทหาร

แถลงการณ์ระบุว่า ในช่วงก่อนหน้าการลงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา มาตรการดังกล่าวมีความเข้มข้นรุนแรงยิ่งขึ้น โดยรวมแล้ว มีการเรียกพบ จับกุมและแจ้งข้อหาบุคคลต่างๆ กว่า 1,300 คน และมีพลเรือน 1,629 คนที่ถูกนำตัวขึ้นพิจารณาคดีในศาลทหาร

“นับตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา มีอย่างน้อย 115 รายที่ถูกจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหาโดยใช้กฎหมายทหาร ประมวลกฎหมายอาญาและพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ จากการแสดงความคิดเห็นเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ หรือรายงานถึงเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน” แถลงการณ์ระบุ

แถลงการณ์ระบุด้วยว่า ขอเรียกร้องให้ยกเลิกข้อกล่าวหาทั้งหมดที่มีต่อกลุ่มนักเคลื่อนไหวทางการเมืองและนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน และให้ปล่อยตัวบุคคลกลุ่มดังกล่าวที่ถูกจับกุมคุมขังจากการแสดงความไม่เห็นด้วยในร่างรัฐธรรมนูญ ในช่วงก่อนหน้าที่จะมีการลงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา และขอเรียกร้องให้ทางการยกเลิกการใช้ศาลทหารในการพิจารณาคดีของพลเรือน ซึ่งมาตรการเหล่านี้เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนจากการที่ไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้งในปี 2560 ที่มีเป้าหมายเพื่อฟื้นการปกครองแบบประชาธิปไตยกลับมาตามโร้ดแมปที่รัฐบาลชุดนี้ได้วางไว้

Advertisement

ทั้งนี้ แถลงการร์ระบุว่า การเลือกตั้งในปีหน้าเป็นโอกาสที่ไทยจะได้แสดงให้เห็นว่าสามารถทำได้ตามที่เสนอรายงานทบทวนสิทธิมนุษยชนของประเทศตามกลไกยูพีอาร์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 ในการให้ความเคารพเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ และรับประกันถึงกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายอย่างทั่วถึง ทั้งฝ่ายการเมือง ภาคประชาสังคมและสื่อ ในบรรยาการที่เปิดกว้างปราศจากการคุกคาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image