กมธ. ชี้ ไม่ควรห้าม ส.ส.ร. กลับมาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

กมธ. ชี้ ไม่ควรห้าม ส.ส.ร. กลับมาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ส.ว. ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากที่ กมธ.ฯ มีมติให้ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาจากเลือกตั้ง 200 คนแล้ว ที่ประชุมได้พิจารณารายละเอียดที่เกี่ยวข้องโดยมีประเด็นสำคัญ คือการกำหนดข้อห้าม ส.ส.ร. ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหลังจากที่ทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วเสร็จ ซึ่งเสียงข้างมากของที่ประชุมเห็นว่าไม่ควรกำหนดข้อห้ามดังกล่าว เพื่อเปิดกว้างให้มีผู้สมัครเข้ามาเป็น ส.ส.ร. จำนวนมาก อย่างไรก็ดียอมรับว่ามีกมธ. เสียงข้างน้อยเห็นควรให้กำหนดข้อห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองหลังจากที่ทำรัฐธรรมนูญใหม่เสร็จ เพื่อป้องกันข้อครหาว่าร่างรัฐธรรมนูญเพื่อตนเองหรือมีผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งรายละเอียดข้อถกเถียงนั้นเชื่อว่าจะมีการอภิปรายในที่ประชุมรัฐสภาและนำไปสู่การลงมติตัดสินอีกครั้ง

ด้าน นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย (พท.) ฐานะโฆษกกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม กล่าวว่า กรณีที่มติของกมธ. ไม่บัญญัติห้ามสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหลังจากทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วเสร็จนั้น มี กมธ. เสนอให้พิจารณา ซึ่งตนเข้าใจว่าฝั่ง ของส.ว. เป็นผู้เสนอ โดยเห็นว่า ส.ส.ร.ควรมีข้อห้ามกลับมาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่เสียงส่วนใหญ่เห็นว่า กมธ. ไม่ควรกำหนดรายละเอียดดังกล่าวไว้ หาก ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้ง ต้องการห้ามตนเอง ควรให้ไปบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับที่ส.ส.ร.​จะยกร่าง ส่วนกรณีดังกล่าวที่อาจมีสมาชิกรัฐสภา เห็นต่างและถูกทักท้วงนั้น ตนเชื่อว่ากมธ.ฯ ชี้แจงได้

“กมธ. ไม่ควรไปกำหนดข้อห้ามไว้ เพราะอาจจะย้อนแย้งได้ว่า กมธ. ไปกีดกันเขา เนื่องจาก ส.ส.ร.​ที่มาจากเลือกตั้ง 200 คน ต้องให้สิทธิเขาพิจารณาเอง หากกรณีนี้จะมีคนครหาว่าส.ส.ร.เขียนกติกาเพื่อตัวเองนั้น เชื่อว่าตามระบบ กติกา และการตรวจสอบทางสังคมจะจับตา” นายสมคิด กล่าว

Advertisement

นายสมคิด กล่าวว่า นอกจากนี้ กมธ. ยังได้พิจารณาในมาตราสุดท้ายของเนื้อหาแล้วเสร็จ โดยได้พิจารณาให้อำนาจประชาชนสถาปนารัฐธรรมนูญ หลังจากที่ส.ส.ร. จัดทำร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ กำหนดให้นำเข้ารายงานต่อรัฐสภา เพื่อให้อภิปราย โดยไม่มีการลงมติ จากนั้นให้นำเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อออกเสียงประชามติโดยประชาชน

ขณะที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ฐานะรองประธานกมธ.แก้รัฐธรรมนูญ กล่าวว่า สำหรับเนื้อหาที่กมธ. เขียนเพิ่มเติมจากบทบัญญัติที่เสนอ คือ มาตรา 256 (9) ว่าด้วยก่อนนายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ให้สิทธิ ส.ส. หรือ ส.ว. หรือสมาชิกทั้งสองสภารวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 เข้าชื่อเสนอความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ใน 3 กรณี คือ 1.ขัดมาตรา 255, 2.มีลักษณะที่แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป, หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรืออำนาจหน้าที่ของศาล องค์กรอิสระ หรือทำรเื่องให้ศาลหรือองค์กรอิสะรปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ และ 3.หากกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญเป็นไปไม่ถูกต้องชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image