กระบวนการ ประชามติ ต่อ ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ คสช. กระบวนต้าน รัฐประหาร

ถามว่า “เหตุปัจจัย” อะไรประกอบส่วนกันเข้าจึงทำให้เกิดสถานการณ์ “นองเลือด” เมื่อเดือนพฤษภาคม 2535

คำตอบ 1 คือ ต่อต้าน พล.อ.สุจินดา คราประยูร

เพราะว่า พล.อ.สุจินดา คราประยูร เคยประกาศว่าจะไม่ดำรงตำแหน่งในทางการเมืองอย่างเด็ดขาด แต่แล้วก็เข้ารับตำแหน่งเป็น “นายกรัฐมนตรี”

พร้อมกับแถลง “ยอมเสียสัตย์เพื่อชาติ”

Advertisement

คำตอบ 1 คือ ปฏิกิริยาอันมีต่อการยึดอำนาจโดยกระบวนการ “รัฐประหาร” เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534

ถามว่าเหตุใดจึงไม่ต่อต้านตั้งแต่เมื่อปี 2534

คำตอบรับรู้กันอย่างเด่นชัดว่า เพราะอำนาจของ “รสช.” นั้น แข็งแกร่งและมั่นคงอย่างยิ่ง โดยเฉพาะ จปร. 5 ที่กุมทั้ง กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ

Advertisement

จึงต้องรอให้ “เงื่อนไข” มีภาวะ “สุกงอม”

สถานการณ์การเคลื่อนไหวเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 จึงสะท้อนให้เห็นถึง “ความพร้อม” ในทางการเมืองเมื่อการเข้าดำรงตำแหน่งเป็น “นายกรัฐมนตรี” ของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร เท่ากับเป็นรูปธรรมของการสืบทอดอำนาจในทางการเมือง

ปฏิกิริยาที่ออกมาจึงเท่ากับต่อต้าน “รัฐประหาร”

 

มีชัย ฤชุพันธุ์ 

รัฐธรรมนูญ 2534

ในฐานะที่เป็น “มือกฎหมาย” ตั้งแต่รัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคม 2520 ในฐานะที่เป็น “มือกฎหมาย” ให้กับรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ได้รับเกียรติจาก “รสช.” ให้จัดทำ “รัฐธรรมนูญ”

แม้หลังจาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ แถลงหลักการ “ผมพอแล้ว” ไม่ขอดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป

แต่ก็ต้องยอมรับว่าบทสรุป “ผมพอแล้ว” มาอย่างไร

อย่าง 1 เพราะว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ไม่ได้มาจากพรรคการเมือง ไม่เคยลงเลือกตั้ง หากแต่ได้รับการสนับสนุนจาก “กองทัพ” และ “กลุ่มการเมือง”

จึงขาดรากฐาน “พรรคการเมือง” มีแต่รากฐาน “ทางทหาร”

อย่าง 1 แม้ว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จะได้ชื่อว่ามือสะอาดในทางการเมือง ไม่เคยแปดเปื้อนกับการทุจริตคอร์รัปชั่น สามารถนำ “เทคโนแครต” สร้างผลงานการพัฒนาได้อย่างดี โดยเฉพาะการวางพื้นฐานพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก

แต่เมื่ออยู่นานเข้าๆ กระแสคัดค้าน ต่อต้านก็เริ่มมีขึ้น โดยเฉพาะกระแสคัดค้านจากปัญญาชน นักวิชาการ ต้องการเห็นการเมืองไทยพัฒนาไปอีกก้าวหนึ่ง

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จึงประกาศคำว่า “พอแล้ว” และเปิดทางให้ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ

สภาพการณ์นับแต่เดือนสิงหาคม 2531 จึงคึกคักเป็นอย่างมากด้วยนโยบายใหม่ แนวทางใหม่ในทางการเมือง ก่อให้เกิดความหวังที่จะได้เห็นมิติใหม่ในทางการเมือง

เป็นการเมืองจากกระบวนการ “เลือกตั้ง” โดย “ประชาชน”

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ รับ “ใบสั่ง” จาก รสช. ให้มาร่างรัฐธรรมนูญ และนำการเมืองย้อนกลับไปสู่ยุคภายหลังสถานการณ์เดือนตุลาคม 2519 อีกครั้งหนึ่ง

นั่นก็คือ นายกรัฐมนตรีมาจาก “คนนอก” ไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการ “เลือกตั้ง”

สภาวะแปลกแยกในทาง “ความคิด” เช่นนี้ทำให้เกิดการคัดค้านและต่อต้านทางการเมือง กลายเป็นการต่อต้านนายกรัฐมนตรี “คนนอก” ต่อต้าน พล.อ.สุจินดา คราประยูร

และที่สุดก็คือ ต่อต้าน “รัฐประหาร” ตัวบุคคลอันมาจากกระบวนการ “รัฐประหาร”

 

บทบาทใหม่

ของคนหน้าเดิม

รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นการสืบทอดมาจากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 เพราะเป้าหมายของการโค่นล้มแทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

จากโค่น “พรรคไทยรักไทย” มาเป็นโค่น “พรรคเพื่อไทย”

1 เพื่อบดขยี้อำนาจในทางการเมืองของสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบทักษิณ” ขณะเดียวกัน 1 เพื่อสร้างการเมืองใหม่ ภายใต้คำขวัญ “ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง”

แต่แล้ว คสช. ก็มาใช้ “บริการ” ของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์

คล้ายกับว่า นายมีชัย ฤชุพันธุ์ จะสะสมความจัดเจนมาจากร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 น่าจะสามารถสร้างรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. ได้อย่างยอดเยี่ยม

กระนั้น ที่เห็นก็คือ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ มิได้ก้าวเกินจากเมื่อปี 2534

ยิ่งกว่านั้น นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ยังนำเอาความพยายามของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ในการให้บทบาทขององค์กรอิสระใหญ่โตอย่างมโหฬาร

ทอนความเข้มแข็งของ “รัฐบาล” ลง

ทอนความเข้มแข็งของ “ตัวแทน” ประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง หากแต่ให้บทบาทตัวแทนของกลุ่มอำนาจในทางการเมืองโดยไม่ผ่านกระบวนการเลือกตั้ง

ยิ่งร่างรัฐธรรมนูญยิ่งลดทอนอำนาจของ “ประชาชน”

แนวโน้มบ่งชี้อย่างแน่ชัดว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2559 โดยคณะของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ จะกลายเป็น “สายล่อฟ้า” ทางการเมือง

นำไปสู่สถานการณ์แบบเดียวกับที่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร เคยประสบเมื่อปี 2535

โดยเฉพาะเมื่อนำเอาร่างรัฐธรรมนูญฉบับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เข้าไปสู่กระบวนการลง “ประชามติ” โดยประชาชนทั้งประเทศ

นี่คือสภาวะที่ “ล่อแหลม” และ “แหลมคม” อย่างยิ่งในทางการเมือง

 

ต้าน รัฐธรรมนูญ

ต้าน รัฐประหาร

ทําท่าว่า กระบวนการคัดค้านและต่อต้าน “ร่าง” รัฐธรรมนูญฉบับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ จะถูกแปรไปเป็นกระบวนการคัดค้านและต่อต้าน คสช.

1 ต่อต้านการรัฐประหาร 1 ต่อต้านการบริหารของ คสช.

ที่คิดว่าประสบความสำเร็จ ได้รับคะแนนและความนิยมจากการสำรวจความเห็นประชาชนสูงถึงร้อยละ 99.95 นั้น ความเป็นจริงจะดำเนินไปอย่างไร

เพราะ “ประชามติ” เป็นกระบวนการแสดงสิทธิอย่างเสรี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image