นักวิชาการ ชี้ การจัดการ ‘กะเหรี่ยงบางกลอย’ สะท้อนความล้าหลัง-ตกยุค ของรัฐไทย

นักวิชาการ ชี้ การจัดการ ‘กะเหรี่ยงบางกลอย’ สะท้อนความล้าหลัง-ตกยุค ของรัฐไทย

เมื่อวันที่ 6 ก.พ. รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เผยแพร่บทความปัญหา การจัดการ กะเหรี่ยงบางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ระบุว่า กรณีความขัดแย้งระหว่างอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกับชุมชนชาวกะเหรี่ยงบางกลอยที่ยืดเยื้อมานานนับทศวรรษ รากเหง้าของปัญหานั้นมีอยู่เพียงประการเดียวคือ ความล้าหลังตกยุคของการจัดการอุทยานแห่งชาติในประเทศไทย ที่ยังคงใช้แนวทางที่วางอยู่บนการใช้ความรุนแรงในการขับไล่และกีดกันชนพื้นเมืองออกจากป่า ตัวแบบการจัดการป่าอุทยานที่เป็นศัตรูกับประชาชนประเภทนี้ ไม่มีที่ทางอยู่ในการจัดการป่าอุทยานของโลกอีกต่อไปแล้ว แต่กลับเป็นใจกลางสำคัญของวิทยาศาสตร์การจัดการป่าอุทยานในไทย

ป่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ซึ่งเป็นป่าอุทยานแห่งแรกที่ไทยภาคภูมิใจนั้น เป็นการจัดการป่าที่ไปลอกเลียนมาจากอุทยาน Yellow Stone ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นทราบกันดีว่า เป็นโมเดลป่าปลอดคนที่มีประวัติศาสตร์อัปยศของการขับไล่ชนพื้นเมืองที่บรรพบุรุษของพวกเขาตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตป่ามายาวนานไม่น้อยกว่าคริสต์ศตวรรษที่ 14 ในการจัดตั้งอุทยานดังกล่าว สหรัฐใช้กองกำลังทหารในการบริหารจัดการเป็นเวลากว่า 30 ปี ก่อนจะถ่ายโอนอำนาจให้กับหน่วยงานอุทยาน

เช่นเดียวกับป่าอุทยานแห่งชาติในสหรัฐอเมริกา การจัดตั้งป่าอุทยานแห่งชาติในไทยถือกำเนิดขึ้นโดยรัฐราชการ ที่ใช้อำนาจเผด็จการในการแย่งชิงอำนาจในการใช้ประโยชน์จากประชาชนมาไว้ในมือของกลุ่มข้าราชการ เทคโนแครตของกรมป่าไม้ และกรมอุทยาน ภายใต้แนวคิดของป่าปลอดคน แต่อย่าเข้าใจผิดว่า ป่าชนิดนี้นั้นเป็นป่าปลอดคนจริงๆ อุทยานแห่งชาตินั้น ปลอดก็เฉพาะคนจนหรือคนชายขอบเท่านั้น เพราะในขณะที่ขับไล่ชาวบ้านออกจากป่า อุทยากลับเป็นพื้นที่เปิดที่อนุญาตให้ชนชั้นกลางได้ไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจอย่างรื่นรมย์ ประวัติศาสตร์ของการจัดตั้งป่าอุทยานทั้งในไทยและในที่อื่นๆ ทั่วโลก จึงเป็นประวัติศาสตร์ของการเบียดขับทางชนชั้นที่เข้มข้นและรุนแรง ซึ่งแน่นอน เต็มไปด้วยการต่อสู้อย่างไม่ยอมถอยของกลุ่มชนพื้นเมืองที่สูญเสียแผ่นดินของตน

แต่โมเดลป่าปลอดคนนั้น เป็นโมเดลของศตวรรษที่แล้ว ที่แทบไม่มีประเทศไหนในโลกใช้เป็นแนวทางหลักในการจัดการป่าอีกต่อไป โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่มีชนพื้นเมืองอาศัยอยู่ ในการประชุมอุทยานโลกครั้งที่ 5 (5th World Parks Congress– WPC) ที่จัดโดย IUCN ในปี 2003 ที่เมือง Durban ประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของทิศทางการจัดการอุทยานทั่วโลก ได้มีการประกาศใช้ “กระบวนทัศน์ใหม่” ของพื้นที่ป่าอนุรักษ์ (New paradigm’ for protected areas) ที่วางอยู่บนหลักการของการยอมรับสิทธิของชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นในการจัดการป่าอนุรักษ์ หรือที่เรียกกันว่า พื้นที่ป่าอนุรักษ์ของชนพื้นเมืองและชุมชน (Indigenous People’s Protected Areas and Community Conserved Areas– ICCAs) ซึ่งไม่เพียงยอมรับสิทธิตามประเพณีและความรู้ของชนพื้นเมืองและคนในท้องถิ่นที่ดูแลและจัดการป่ามาก่อนเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญต่อเป้าหมายในการจัดการป่าอนุรักษ์เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของคนในท้องถิ่นอีกด้วย

Advertisement

จริงๆ แล้วทิศทางการจัดการป่าอุทยานโดยชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นนั้น แพร่ขยายในที่ต่างๆ ทั่วโลกก่อนที่ IUCN จะริเริ่มโมเดลแบบ ICCAs นานหลายปี ในออสเตรเลีย ป่าอนุรักษ์ของชนพื้นเมือง หรือที่เรียกว่า Indigenous Protected Areas (IPAs) มีจำนวนกว่า 72 แห่งทั่วประเทศ ครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั้งหมด ในขณะที่ในแคนาดา มีการจัดรูปแบบการจัดการป่าแบบ ICCAs ในหลากหลายลักษณะ มีตั้งแต่ร่วมกันจัดการระหว่างรัฐกับชนพื้นเมือง ไปจนถึงที่มอบให้ชนพื้นเมืองมีสิทธิจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์ด้วยตนเอง ในฟินแลนด์ ก็มีความพยายามในการใช้โมเดลของ ICCAs ในจัดการป่าใหญ่ดึกดำบรรพ์ (Old growth forest) ที่อยู่ในความดูแลของชนพื้นเมือง

แนวทางการกระจายอำนาจการจัดการป่าอุทยานในพื้นที่ที่มีชนพื้นเมืองอาศัยอยู่ จึงเป็นแนวทางหลักในการจัดการป่าอุทยานของโลกในปัจจุบัน ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นต้นแบบของไทย มีการออกกฎหมายรับรองสิทธิในการจัดการพื้นที่ของชนพื้นเมือง หรือที่เรียกว่า Tribal Self Governance Act (1994) ซึ่งเปิดให้ชนพื้นเมืองสามารถเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทางวัฒนธรรมต่างๆ รวมถึงพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติหลายแห่ง เช่น Yosemite, Redwood, Mount Rainier ที่มีความสำคัญตามประเพณีของชนพื้นเมือง โดยชนพื้นเมืองสามารถยื่นเรื่องขอเข้าบริหารจัดการพื้นที่ที่มีความสำคัญทางวัฒนธรรมของตนเองได้ ซึ่งได้กลายเป็นพื้นฐานของโมเดลการจัดการอุทยานแห่งชาติชนเผ่า หรือที่เรียกว่า Tribal National Parks แนวทางดังกล่าว นับเป็นแนวทางใหม่ในการจัดการป่าอุทยานของสหรัฐอเมริกา ที่ให้สิทธิแก่ชนพื้นเมืองของประเทศได้สามารถบริหารจัดการป่าด้วยตนเอง อุทยานแห่งชาติแห่งแรก ที่ริเริ่มนำโมเดลนี้มาใช้คือ Badlands National Park ใน South Dakota ที่ได้ริเริ่มมอบสิทธิให้กับกลุ่มชนพื้นเมืองในการจัดการป่าบางส่วนของอุทยานที่แยกออกจากการบริหารของเจ้าหน้าที่อุทยาน ซึ่งนับเป็นแนวทางที่ก้าวหน้าอย่างมากนับตั้งแต่ประวัติศาสตร์การจัดการป่าแบบ Yellow Stone เมื่อศตวรรษก่อนหน้า

อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสหรัฐฯ Jonathan Jarvis ได้กล่าวไว้สมัยยังดำรงตำแหน่งอธิบดีว่า การห้ามมิให้ชนดั้งเดิมในป่าได้ใช้ประโยชน์จากป่านั้นเป็นสิ่งที่ผิด และจำเป็นต้องมีการแก้ไข โฆษกของกรมอุทยานแห่งชาติได้ระบุถึงท่าทีของผู้บริหารกรมอุทยานแห่งชาติว่า

Advertisement

“ผู้อำนวยการ Jarvis มีประสบการณ์อย่างลึกซึ้งในการทำงานในป่าอุทยานที่ซึ่งความผูกพันระหว่างชนพื้นเมืองอเมริกันและแผ่นดินที่ปัจจุบันกลายมาเป็นอุทยานแห่งชาติ ดำเนินมาอย่างไม่เคยขาดสะบั้น ท่านเชื่อว่าการรักษาความผูกพันดังกล่าวไว้ จะสามารถเสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ป่า ในขณะที่ช่วยสนับสนุนวัฒนธรรมประเพณีของชนเผ่า และยังเปิดโอกาสให้กับชาวอเมริกันได้เข้าใจประวัติศาสตร์ของชนพื้นเมืองอเมริกันได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย”

ในกรณีของไทย การใช้กฎหมายที่ล้าหลังของกรมอุทยานแห่งชาติ ในการผูกขาดอำนาจการจัดการทรัพยากร ทำให้ป่าตกอยู่ในมือของรัฐราชการมาเป็นเวลานาน ที่ถูกทำให้แย่ลง ด้วยรัฐประหารซ้ำซาก ซึ่งนำไปสู่การนำแนวทางทางการทหารมาขับไล่และใช้ความรุนแรงกับกลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง นับเป็นการนำการจัดการอุทยานถอยหลังไปยังประวัติศาสตร์ในยุคการล่าอาณานิคมโดยแท้ ในขณะที่ทั่วโลกหันมาใช้แนวทางการคืนสิทธิให้กับชุมชนในการจัดการป่าอุทยาน นักป่าไม้ไทยกลับสวนกระแสโลกด้วยการรวมศูนย์อำนาจ ยึดเกาะอยู่กับโมเดลป่าปลอดคนของโลกเก่าทำให้ป่ากลายเป็นพื้นที่แห่งการกดขี่ทางชาติพันธุ์ บ่มเพาะความขัดแย้งทางสังคม ถอนรากถอนโคนชนพื้นเมืองออกจากแผ่นดินที่เคยหล่อเลี้ยงชีวิต และเป็นพื้นที่แห่งการสืบสานจิตวิญญาณของพวกเขา ป่าประเภทนี้ ไม่ใช่ป่าอุทยานที่ให้ร่มเงาแก่ชีวิตของผู้คนในความหมายร่วมสมัยของโลกแห่งการอนุรักษ์ในปัจจุบัน หากแต่เป็นป่าช้า และสุสานที่รัฐราชการยัดเยียดให้กับกลุ่มชน

การพยายามคุมกำเนิดผู้หญิงกะเหรี่ยงบางกลอย ซึ่งดำเนินมาภายหลังที่ชุมชนถูกอพยพลงมา ซึ่งหากเรื่องนี้เป็นความจริง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ย่อมไม่สามารถคิดให้เป็นเรื่องอื่นไปได้ นอกจากเป็นปฏิบัติการที่สะท้อนวิธีคิดที่รัฐไทยมีต่อชนพื้นเมืองในชายขอบของสังคมไทย เพราะมีแต่การยุติการแพร่พันธุ์ของชนเผ่าพื้นเมืองเหล่านี้เท่านั้น ที่ความบริสุทธิ์ของธรรมชาติของชนชั้นนำ จะถูกรักษาไว้มิให้ถูกปนเปื้อนได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image