“บิ๊กตู่” ออก Podcast แจงทุกข้อสงสัยเรื่องวัคซีนโควิด-19
เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวถึงการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ผ่าน PM POSCAST นายกรัฐมนตรีเล่าเรื่อง ทางเพจไทยคู่ฟ้า ว่า นอกจากชีวิตความเป็นอยู่ประชาชนแล้ว มีเรื่องการจัดซื้อและแจกจ่ายวัคซีนของประเทศไทยที่หลายคนติดตามและกังวล เจ้าหน้าที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงตนเดือดเนื้อร้อนใจ ยิ่งกว่าท่านอีก เพราะมีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ คำถามที่ว่าเหตุใดประเทศไทยไม่จัดซื้อวัคซีนครอบคลุมจำนวนที่เหมาะสม และแผนฉีดวัคซีนในประเทศไทยล่าช้าเกินไปหรือไม่ รัฐบาลมีแผนแจกจ่ายวัคซีนในระยะยาวอย่างไรนั้น
ขอเรียนว่าความพยายามในการจัดหาวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุข และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ริเริ่มตั้งแต่ ส.ค.63 ภายหลังเห็นเงื่อนไขต่างๆ ของผู้ผลิตวัคซีน Covax ในลักษณะการจองวัคซีนล่วงหน้า โดยที่ยังไม่ทราบผลการทดลองในมนุษย์
ประเทศไทยขณะนั้นยังไม่มีกลไกจัดหาวัคซีนที่มีเงื่อนไขจ่ายเงินก่อนและมีโอกาสไม่ได้วัคซีนหากการวิจัยล้มเหลว สถาบันวัคซีนแห่งชาติและกรมควบคุมโรคได้ปรึกษาหน่วยงานด้านกฎหมายในประเทศ ทั้งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา อัยการสูงสุด สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง ได้รับหนังสือตอบกลับจากกรมบัญชีกลางว่าไม่สามารถดำเนินการจัดซื้อตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ได้ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีอยู่แล้ว จึงมีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ตามมาตรา 18 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ.2561 เพี่อให้สามารถจองวัคซีนล่วงหน้าได้ตามกฎหมาย
นายกรัฐมนตรี กล่าวแผนการฉีดวัคซีนจะกระจายทุกกลุ่มประชากรตามลำดับ เพื่อให้สอดคล้องกับวัคซีนที่มีจะการส่งมอบ ส่วนคำถามที่ว่าแผนการฉีดวัคซีนเพียงร้อยละ 21.5 ของจำนวนประชากร ไม่สามารถภูมิคุ้มกันหมู่ให้แก่สังคมได้ ถือเป็นการใช้งบไม่คุ้มค่า และไม่เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงหรือไม่นั้น
ขอเรียนว่าวันนี้เราจะจัดหาเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่ได้ตั้งเป้าไว้เท่านั้น ตอนนี้เราได้มาเท่าไหร่ก็ฉีดไปเท่านั้นก่อน เราไม่หยุดยั้งในการหายี่ห้ออื่น ที่จะจัดหาได้เพิ่มเติม วันนี้เราจัดหาได้จำนวน 63 ล้านโดส ครอบคลุมประชากรประมาณ 31.5 ล้านคน และจะจัดหาเพิ่มเติมเพื่อให้ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่มเป้าหมายตามความสมัครใจ ไม่ใช่ว่าไม่คิดอะไร ไม่ทำอะไรต่อเลย แต่คิดตลอดเวลา ส่วนที่ว่าหากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าไม่สามารถส่งมอบวัคซีนได้ทำตามข้อตกลงมีแผนดำเนินการอะไรต่อไปนั้น คำตอบคือ การจัดหาวัคซีนจากบริษัทอื่นสามารถดำเนินการได้ และกำลังดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ส่วนคำถามที่ว่าเหตุใดไม่ให้องค์การเภสัชกรรมที่มีโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นผู้ผลิตวัคซีนแทนบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ที่ต้องรอโรงงานให้พร้อมก่อนผลิต ซึ่งใช้เวลาไม่น้อยกว่า 4 เดือนนั้น ขอชี้แจงว่าเป็นสิ่งที่เข้าใจผิดกันหรือไม่ เพราะองค์การเภสัชกรรมไม่สามารถผลิตวัคซีนชนิด Viral vector ได้ เนื่องจากวัคซีนไม่เหมือนกัน และสยามไบโอไซเอนซ์ไม่ได้รอเพื่อทำโรงงานให้พร้อม แต่ที่รอคือการผลิตจริงตามมาตรฐานของแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งเริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่ ธ.ค.63 เพื่อให้มีการขึ้นทะเบียนโดย อย.ไทย และเตรียมความพร้อมของบริษัท ที่วันนี้เขาพร้อมทั้งหมด เมื่อได้วัคซีนมาจะดำเนินการได้ทันที เราก็จะเป็นสายการผลิตหนึ่งในประเทศไทยและอาเซียนของแอสตร้าเซนเนก้า และยังมีบริษัทอื่นที่ร่วมมือกับแอสตร้าเซนเนก้าในการผลิตที่ภูมิภาคอื่นอีกด้วย
ส่วนสาเหตุที่ให้สยามไบโอไซเอนซ์ที่มีผลประกอบการขาดทุน 500 กว่าล้านบาทผูกขาดการผลิตวัคซีนในประเทศไทยรายเดียว จะสามารถผลิตได้ทันเวลาหรือไม่นั้น ต้องเข้าใจว่าการที่เราจะเอาวัคซีนมาผลิตเองในประเทศ ต้องขึ้นอยู่กับแอสตร้าเซนเนก้าซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เป็นผู้คัดเลือกเอกชนที่จะร่วมดำเนินการกับเขา เขาจะพิจารณาความสามารถ บุคลากร และเครื่องมือที่สอดคล้องกับเทคโนโลยีของแอสตร้าเซนเนก้า ไม่เกี่ยวกับผลประกอบการเดิม และท่านทราบดีอยู่แล้วว่าสยามไบโอไซเอนซ์ตั้งมาเมื่อไหร่ เป็นวิสัยทัศน์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงตั้งไว้ เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีวัคซีนที่จำเป็น ไม่ได้หวังผลกำไร
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้กีดกันไม่ให้บริษัทเอกชนนำเข้าวัคซีนเพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชน รัฐบาลโดย อย.ยินดีให้ทุกบริษัทมาขอขึ้นทะเบียน ซึ่งได้มีการเปิดช่องทางพิเศษ โดยปัจจุบันมีผู้มาขอขึ้นทะเบียนแล้ว 3 รายและได้รับทะเบียนแล้ว 1 ราย คือ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ที่เหลือก็ขอให้ยื่นมา ถ้าเข้ากับกติกา หลักเกณฑ์ที่ตนได้เคยกล่าวไปแล้ว ก็จะได้รับการขึ้นทะเบียนทั้งหมดในระยะต่อไป
“วัคซีนที่ออกมาทั้งหมด นี้ผมจะพูดให้ชัดว่าผลตอนนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าป้องกันการติดเชื้อได้หรือไม่ เพราะต้องรอให้ครบ 1 ปี แต่ตอนนี้เรามีผลเบื้องต้นว่าอย่างน้อย ผลข้างเคียงไม่เยอะ ยอมรับได้ซึ่งผลข้างเคียงก็ต้องมีโดยธรรมชาติอยู่แล้ว เราคุ้นเคยกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งผลข้างเคียงเราก็มีข้อมูลอยู่ว่าฉีดไปล้านคน อาจจะตาย 1.1 คน ซึ่งเราก็ไม่อยากให้มีใครตายสักคน ขอให้เข้าใจด้วย
ทั้งนี้ หากดูข้อมูลปัจจุบันของวัคซีนโควิด-19 ถ้านับเป็นล้านคนจะตายประมาณ 11 คน นี่คือสถิติที่ถือได้ว่ายอมรับในทางการแพทย์ ซึ่งถ้าฉีดวัคซีนโอกาสติดเชื้อก็มี แต่โอกาสที่จะป่วยน้อยลงเราก็มีข้อมูลอยู่ หรืออาจจะเป็น แต่ไม่รุนแรง หรือโอกาสที่จะป่วย และอัตราการตายน้อยลงกว่าคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน
แต่อย่างหนึ่งที่เรายังบอกไม่ได้คือฉีดไปแล้วจะป้องกันการแพร่เชื้อและป้องกันการติดโรคได้หรือไม่ ตรงนี้ยังบอกไม่ได้ข้อมูลยังไม่พอ ทุกอย่างต้องได้รับการทบทวนกลั่นกรองและติดตาม ผ่านการยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญโดยตรงมาหมดแล้ว วัคซีนของบริษัท ไฟเซอร์ จำกัด และบริษัท โมเดอร์นา จำกัด ผล 95 เปอร์เซ็นต์ บริษัท แอสตร้า เซนเนก้า จำกัด ผล 90 เปอร์เซ็นต์ บริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค จำกัด บริษัท ซิโนฟาร์ม จำกัด ผล 70 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเป็นอย่างนี้บางคนบอกว่าไม่อยากฉีด แต่ในทางแพทย์ถือว่าเท่ากัน เพราะเราถือมาตรฐาน 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งประเทศไทยไม่ได้เป็นผู้ตั้งเององค์การอนามัยโลก( WHO) เป็นผู้กำหนดขึ้นอย่างไรก็ตาม วัคซีนไข้หวัดที่เราฉีดกันทุกปีได้ผล 50 เปอร์เซ็นต์เอง ก็ต้องเข้าใจข้อเท็จจริงตรงนี้ว่าคืออะไรไม่เช่นนั้นก็จะกังวลกันไปหมด ตอนนี้เราอาจจะได้วัคซีนจากประเทศจีนมาอาจจะได้ผล 70 เปอร์เซ็นต์ แต่ยืนยันว่าไม่ได้แตกต่างกันเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ก็เป็นที่ยอมรับได้อยู่แล้ว ซึ่งอาจจะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นทำให้การแพร่ระบาดลดลง” นายกรัฐมนตรี กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ถ้าถามว่ากลุ่มไหนที่ควรได้รับวัคซีนก่อนนั้น คำตอบคือเราต้องดูปริมาณวัคซีนที่ได้รับเข้ามาจากการสั่งจองซึ่งเป็นการทยอยนำเข้ามา แม้แต่บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ก็ต้องทยอยผลิตตามระยะเวลาขึ้นอยู่กับขีดความสามารถ การจองรอบแรกจำนวน 26 ล้านโดส บวกกับอีก 35 ล้านโดส ก็อาจมาจากการผลิตภายในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้นสิ่งที่ต้องพิจารณาคือปริมาณวัคซีนที่เราได้รับทั้งการผลิตเองและการนำเข้า สำหรับบุคคลที่จะได้รับการฉีดวัคซีนก่อนมี 2 กลุ่มด้วยกัน
กลุ่มแรกคือบุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มที่สองคือกลุ่มที่มีโรคร่วม เช่นเบาหวาน ความดัน เป็นต้น กลุ่มที่สามคือกลุ่มผู้สูงวัยโดยเฉพาะผู้ที่มีโรคร่วม โรคประจำตัว คนเหล่านี้ถ้าติดเชื้ออาการจะรุนแรงมีอัตราการตายสูง ซึ่งการฉีดวัคซีนอย่างน้อยก็เพื่อการป้องกัน ทั้งนี้จะพิจารณาความเสี่ยงส่วนตัวของผู้สูงวัยรวมทั้งมีโรคร่วม และความเสี่ยงในพื้นที่ เช่นที่จังหวัดสมุทรสาครก็น่าจะครอบคลุมพิจารณาถึงกลุ่มแรงงานและประชาชนในพื้นที่จะต้องพิจารณาวัคซีนให้เหมาะสมถือเป็นแผนที่เตรียมไว้ขั้นต้น แต่ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทั้งการรับวัคซีนและการแพร่ระบาด จะพิจารณาดูว่าจังหวัดใดมีความเสี่ยง จังหวัดที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เราจะดูถึงความจำเป็น ทุกคนมีความต้องการทั้งหมดแต่ต้องเข้าใจว่าเรามีวัคซีนจำนวนจำกัด ทั่วโลกมีบริษัทที่ผลิตวัคซีนไม่ถึง 10 บริษัทซึ่งคาดการณ์ว่าเกือบปีถึงจะฉีดวัคซีนได้ทั้งโลก เรื่องเหล่านี้ต้องคิดและใคร่ครวญให้ดีว่าจะเชื่อใคร แม้ประเทศไทยจะมีการติดเชื้อสูงขึ้นแต่ถือว่าน้อยมากหากเทียบกับหลายๆ ประเทศ
“การมีวัคซีนป้องกันแต่ก็ไม่แน่ว่าจะป้องกันได้ 100% เพราะวันนี้เป็นกันทั้งโลก แต่วัคซีนก็เป็นความหวัง ผมเชื่อว่าการผลิตวัคซีน การพัฒนา จนกว่าจะนำมาฉีดให้กับคนทั่วโลกอย่างน้อยต้องใช้เวลาเกือบ 2 ปี และไม่ใช่ว่าต้องรอวัคซีนเพียงอย่างเดียว มาตรการสำคัญสูงสุดที่ผมได้ย้ำเสมอคือการขอความร่วมมือทั้งจากประชาชน เจ้าหน้าที่ ผู้ประกอบธุรกิจ สถานประกอบการ ต้องช่วยกันรับผิดชอบ และที่ทำได้เลยและป้องกันได้ทันทีคือการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ การใช้แอลกอฮอล์เจล การเว้นระยะห่างทางสังคม ทั้งนี้ในส่วนของประชาชนขอความร่วมมือว่าอย่าเข้าไปในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง มีการชุมนุมอยู่ใกล้ชิดกัน หรือการดื่มสุราบางครั้งก็สนุกสนานจนเกินเลย และขอการลงทะเบียนขึ้นทะเบียนออนไลน์ ทั้งเว็บไทยชนะและแอพพลิเคชั่นหมอชนะ ก็ต้องขอความร่วมมือเพื่อจะได้ตามตัวได้ว่ามีการแพร่กระจายไปในพื้นที่ใดบ้าง ถือเป็นความรับผิดชอบทางสังคมของทุกคน เพราะเราคือคนไทย ประเทศไทย และนี่คือวัคซีนอีกประเภทหนึ่งเป็นวัคซีนที่ทุกคนทำได้เอง นอกจากการรอวัคซีนที่จะนำมาผลิตภายในประเทศรวมทั้งจากต่างประเทศ เป็นวัคซีนที่ทำจากตัวของทุกคนในการป้องกัน ขอให้ทุกคนได้ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดออกมา ซึ่งไม่มีใครอยากทำให้ทุกคนลำบากหรือเดือดร้อน แต่เมื่อมีสิ่งที่เป็นอันตรายต่อชีวิตของประชาชนจึงต้องร่วมมือกันไม่เช่นนั้นก็ไปไม่ได้ทั้งหมด” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว