“ธนาธร” แนะ 3 ข้อบริหารจัดการวัคซีนโควิด ให้คนไทยได้ฉีดอย่างทั่วถึง หวังรบ.รับฟัง

“ธนาธร” แนะ 3 ข้อบริหารจัดการวัคซีนโควิด ให้คนไทยได้ฉีดอย่างทั่วถึง หวังรบ.รับฟัง

เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2564 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ว่า มี 3 ข้อสังเกต และ 3 ข้อเสนอ แผนการบริหารจัดการวัคซีนโควิด เพื่อพาประเทศคืนสู่ความเป็นปกติโดยเร็วที่สุด โดยสรุปสาระสำคัญ ว่า จากข้อมูลทั้งหมดที่มีสรุปได้ว่ารัฐบาลจัดหาวัคซีนล่าช้ากว่าประเทศอื่น ฉีดวัคซีนช้ากว่าประเทศอื่น แทนที่รัฐบาลจะออกมายอมรับความผิดพลาด กลับออกมาแก้ตัวด้วยข้ออ้างที่ไม่สมเหตุสมผล ข้ออ้างดังกล่าวมี 3 ประเด็นใหญ่ ดังนี้

1. “ประเทศไทยไม่มีการแพร่ระบาดที่รุนแรง ไม่มีผู้เสียชีวิตมากมายเหมือนประเทศอื่น เราสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ จึงไม่จำเป็นต้องรีบฉีด เราสามารถรอได้”

แผนการฉีดวัคซีนของรัฐบาลจนถึงปลายปีที่แล้วยังมีเป้าหมายที่จะฉีดให้ครบร้อยละ 50 ของจำนวนประชากรในสิ้นปี 2566 เราใช้ชีวิตภายใต้สถานการณ์โควิดมาแล้ว 1 ปี หากต้องใช้ชีวิตเช่นนี้อีก 3 ปี คนจนจะเป็นอย่างไร รัฐบาลเพิ่งจะมาเปลี่ยนแผนใหม่เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ซึ่งข้อเท็จจริงนี้ตอกย้ำแล้วว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับวัคซีนน้อยและช้าเกินไป ประเทศไทยรอวัคซีนนานขนาดนั้นไม่ได้ คนที่กล่าวว่าเราสามารถรอได้ ไม่จำเป็นต้องรีบฉีด คือคนที่มีการงานมั่นคง ไม่มีความเข้าใจความเดือดร้อนของคนจนและผู้ประกอบการรายย่อย

2. “จัดจองจัดซื้อช้ามาจากการต้องการเลือกวัคซีนที่ดีที่สุด ไม่ต้องการให้คนไทยเป็นหนูทดลอง ให้ต่างประเทศเขาลองก่อน”

Advertisement

วัคซีนจากผู้ผลิตที่มีความน่าเชื่อถือ ล้วนแต่ผ่านการทดลอง clinical trial ในระยะที่หนึ่ง ซึ่งเป็นระยะที่ทดสอบความปลอดภัยในมนุษย์ตั้งแต่ปีที่แล้ว หลายประเทศที่รัฐบาลตระหนักถึงปัญหาคุณภาพวัคซีน เลือกใช้วิธีสั่งจากหลายเจ้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงว่าวัคซีนที่จัดหาอาจใช้ไม่ได้ผล ไม่ใช่ใช้วิธีซื้อช้า นอกจากนี้ ก่อนการนำวัคซีนใดมาใช้ ยังต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบและรับรองของ อย. ในประเทศอีกด้วย ซึ่งประเด็นนี้ถูกหยิบยกมาพร้อมกับเรื่องราคาและภาษีประชาชน

3. “ตอนนี้ตลาดวัคซีนเป็นของผู้ขาย ถ้ารอถึงปลายปีตลาดวัคซีนจะเป็นของผู้ซื้อ เราจะได้ราคาที่ถูกลง”

ถ้าเร่งจัดหาตั้งแต่ปีที่แล้ว ต่อให้ราคาแพงกว่า 3 เท่า หรือเป็นเงิน 6 หมื่นล้านบาท ถ้าเทียบกับความสูญเสียแล้ว คิดอย่างไรก็คุ้ม ดังนั้นเรื่องรอตลาดวัคซีนให้เป็นของผู้ซื้อ เมื่อเทียบกับความสูญเสียทางเศรษฐกิจแล้ว จึงเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลเป็นอย่างยิ่ง ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะออกมายอมรับความจริงว่าประมาทเกินไป คิดว่าจะสามารถควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดได้ตลอดไป จึงฝากความหวังไว้ที่วัคซีนแอสตราเซเนกาเจ้าเดียว ไม่เร่งเจรจากับผู้ผลิตรายอื่น กว่าจะเริ่มตระหนักถึงความสำคัญก็ช้าเกินไปเสียแล้ว

Advertisement

นอกจากนี้ นายธนาธร ยังยกคำพูดของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ถึงกรอบเวลาการฉีดวัคซีนใหม่ ทำให้ทราบว่าตั้งแต่ มิ.ย. ของปีนี้ รัฐบาลจะฉีดวัคซีนเดือนละ 5 ล้านเข็มให้คนไทย มีเป้าหมายจะฉีดให้ได้ครอบคลุมประชากร 50 ล้านคน ซึ่งต้องใช้วัคซีน 100 ล้านเข็ม จากเป้าหมายนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องใช้เวลาถึง 20 เดือน หรือจนถึงช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 ซึ่งช้าเกินไป จึงมีข้อเสนอถึงรัฐบาล 3 ประการ คือ

1. รัฐบาลต้องเร่งเจรจาหาผู้ผลิตที่สามารถส่งมอบได้เร็วกว่านี้ โดยคำนึงถึงเรื่องราคาเป็นประเด็นรอง นายกรัฐมนตรีต้องสั่งการกำกับการเจรจาจัดหาและติดตามความคืบหน้าทุกวัน

2. รัฐบาลต้องเริ่มออกแบบกระบวนการฉีดวัคซีนอย่างลงรายละเอียด เชื่อว่าถ้าเราจัดหาวัคซีนได้มากกว่านี้ต่อเดือนและออกแบบบริหารการฉีดได้ดี เราสามารถฉีดได้มากกว่า 2,200 เข็มต่อวันต่อจังหวัด

3. รัฐบาลต้องเปลี่ยนท่าทีในการพูดเรื่องวัคซีน ต้องเลิกทำให้ประชาชนกลัววัคซีน บอกข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาเรื่องการแพ้วัคซีน เปิดเผยข้อมูลอย่างรอบด้านเพื่อให้ประชาชนไว้วางใจ

“ข้อเสนอของผมทั้งหมด เป็นไปด้วยความปรารถนาดีต่อพี่น้องประชาชนคนไทย บุคลากรทางการแพทย์ทุกคนทำงานหนักหามรุ่งหามค่ำเพื่อรับมือโควิด ประชาชนทั่วประเทศเผชิญความยากลำบากอย่างสาหัสจากพิษเศรษฐกิจ เราไม่อาจยกการ์ดแบบนี้ต่อไปได้อีกเป็นปีๆ รัฐบาลมีหน้าที่ต้องพาคนไทยออกจากอุโมงค์อันมืดมิดของยุคโควิดโดยเร็ว และอาวุธที่เราต้องการเร็วที่สุด ทั่วถึงที่สุด ก็คือวัคซีน หวังว่าข้อเสนอของผมจะได้รับการรับฟังจากรัฐบาล เพื่อที่พี่น้องประชาชนคนไทยทั้งประเทศจะได้กลับคืนสู่ชีวิตอันเป็นปกติโดยเร็ว” นายธนาธรกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image