อนุทิน ลั่น ไม่ใช่แพทย์ อย่าบั่นทอน แนะ เอาเวลาไปหาวิธีเข้ามาบริหารประเทศดีกว่า

อนุทิน ลั่น ไม่ใช่แพทย์ อย่าบั่นทอน แนะ เอาเวลาไปหาวิธีเข้ามาบริหารประเทศดีกว่า

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในช่วงหนึ่งของการแถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2634 ว่า เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการคาดการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับการจัดหาวัคซีน ซึ่งยืนยันว่า เราไม่ได้ทำล่าช้า และไม่ได้ขี่ม้าตัวเดียว คณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทำงานกันมานาน โดยไม่มีแรงกดดันทางการเมือง ผู้ที่มาร่วมเป็นคณะทำงานล้วนเป็นหมอ เป็นนักวิชาการ เป็นผู้เชี่ยวชาญ ไม่ใช่จะหยิบใครมาทำงานก็ได้ ไม่ใช่ว่าจะเอาคนใกล้ชิดนักการเมืองเข้ามาทำ การที่คณะทำงานตัดสินใจไป ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี ก็ไปเปลี่ยนการตัดสินใจไม่ได้

“คนที่ไม่ใช่แพทย์ ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ แต่ได้อ่านข่าวต่างๆ แล้วนำข้อมูลมาประมวลแล้วเสนอให้ทำอย่างนั้น อย่างนี้ ขอให้สงบปากสงบคำ เพราะไม่เกิดประโยชน์ มีแต่บั่นทอนกำลังใจ การออกมาพูดของคนที่ไม่เกี่ยวข้องมีแต่ทำให้เกิดความสับสน อลหม่านในใจประชาชน เรื่องนี้ต้องให้กำลังใจกัน ไม่ใช่มาขู่ ประเทศไทยมีฝ่ายบริหารที่ทำงานอยู่แล้ว ถ้าจะให้ข่าวที่ย้อนแย้งกันไม่มีประโยชน์ เพราะท่านไม่ได้บริหารประเทศ เอาเวลาไปหาวิธีเพื่อที่จะได้เข้าบริหารประเทศดีกว่า” นายอนุทิน กล่าว

ด้าน นพ.นคร เปรมศรี กล่าวว่า จะมีวัคซีนหลายตัวเข้ามา แต่ติดที่เงื่อนเวลา ฉะนั้นสิ่งที่ย้ำเสมอคือ ผลของวัคซีนจะต้องครอบคลุมให้มากที่สุดพอสมควร การฉีดไป 1-2 ล้านโดสในประชากรเยอะมาก อย่างไรก็ยังไม่มีผล ยกเว้นแต่ใช้เพื่อควบคุมการระบาด ดังนั้น การมีวัคซีนบางส่วนเข้ามาใช้ในวงระบาดที่จำกัด ก็จะได้ผลดีในการควบคุมการระบาด แต่ในต่างประเทศที่มีการระบาดสูง การใช้วัคซีนจำนวน 1-2 ล้านโดส

Advertisement

ขณะที่ มีประชากรหลายร้อยล้านคน อย่างไรเสียก็ยังควบคุมการระบาดไม่ได้ แต่บริบทแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน เราต้องพยายามจัดหาตามบริบทของไทย และการที่จะเปิดภาคธุรกิจเต็มที่ การฉีดวัคซีนต้องครอบคลุมมากพอ โดยแผนของกรมควบคุมโรค จะเร่งรัดการฉีดในจำนวนที่มากแบบที่เราไม่เคยทำมาก่อน แต่เรามั่นใจว่า จะเดินหน้ากระจายวัคซีนให้เร็วที่สุด

“เข้าใจความกังวลใจ ที่เห็นว่าประเทศนู่น ประเทศนี่ได้ เราก็จะเห็นว่าที่ได้ก็มีจำนวนไม่มากนัก ทางเราก็พยายามจะให้ได้ แม้จะไม่มากนัก เพราะทุกคนอยู่บนสถานการณ์เดียวกันที่วัคซีนไม่มากพอ ต้องใช้การทำงานอีกซัก 2-3 เดือน เชื่อว่าวัคซีนจะทยอยมาและได้ใช้พร้อมๆ กันในเวลาที่ไม่ต่างกันนัก และจะค่อยๆ ออกไปในตลาดแต่ละภาคส่วน” นพ.นคร กล่าว

นพ.นคร กล่าวว่า ส่วนเรื่องชนิดวัคซีนก็เหมาะสมกับประชากรต่างกันไป โดยเฉพาะชนิดไวรัลเวกเตอร์ (Viral vector) ของแอสตราเซเนกา จอห์นสันแอนด์จอห์นสันและสปุตนิก จะต้องดูความเหมาะสมกับประชากรแต่ละภูมิภาค แต่ละประเทศด้วย ทั้งนี้ ในเชิงวิชาการพบว่าแอสตราเซเนกา น่าจะเหมาะกับคนไทย ดังนั้นวัคซีนอื่นๆ เราก็จะมองต่อ เช่น วัคซีนโนวาแวค ที่เพิ่งประกาศไป เราก็จะเจรจาขอข้อมูลกับบริษัทผู้ผลิต เพื่อมีตัวเลือกให้กับเรา

Advertisement

“ตอนนี้อย่าเพิ่งกังวลใจกับตัวเลข 61 ล้านโดสว่าจะไม่พอ ผมยืนยันว่าจะมีพอ แต่ต้องให้เวลากับมัน เราอยู่บนสถานการณ์ที่ไม่ปกติ มีความแปรผัน มีความฉุกเฉินเร่งด่วนในสถานการณ์แบบนี้” นพ.นคร กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image