ส.ว.ตั้งกมธ.คุ้ยประวัติว่าที่บอร์ด ‘กสทช.’ 15 วัน ‘สมเจตน์’ ชี้เวลาสั้นไป-เตือนสังคมไม่ไว้วางใจ

ส.ว.ตั้งกมธ.คุ้ยประวัติว่าที่บอร์ด ‘กสทช.’ 15 วัน ‘สมเจตน์’ ชี้เวลาสั้นไป-เตือนสังคมไม่ไว้วางใจ

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมวุฒิสภา มีการพิจารณาเรื่องด่วนการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำหน่งเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตามที่คณะกรรมการสรรหา กสทช. นำเสนอรายชื่อบุคคลที่ผ่านการคัดเลือก จำนวน 14 คน ให้วุฒิสภาลงมติเห็นชอบให้เหลือ 7 คน ภายใน 30 วันตามกฎหมาย กสทช. นับแต่วันที่วุฒิสภาได้รับบัญชีรายชื่อ

ทั้งนี้ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว. อภิปรายตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องดังกล่าวรีบส่งมายังวุฒิสภาเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ หลังจากที่ได้รับรายชื่อจากกรรมการสรรหาฯ เมื่อวันที่ 29 มกราคม ทั้งนี้ ตามกฎหมายให้เวลาดำเนินการ 30 วัน ซึ่งการเร่งรีบดังกล่าวทำให้ กมธ.ตรวจสอบประวัติต้องเร่งรัดการทำงาน เพื่อให้ทันการปิดสมัยประชุมในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้

ซึ่งจะส่งผลต่อการทำงานที่ไม่รอบคอบ ตามมาตรฐานการทำงานที่ผ่านมา และสังคมไม่ไว้วางใจ นอกจากนี้ การตั้ง กมธ. 15 คนนั้น ไม่มีโควต้าของกมธ.สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค และกมธ. เทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสารและการโทรคมนาคม ของวุฒิสภา ทั้งที่ กสทช.นั้นเกี่ยวข้องกับงานด้านเทคโนโลยี และสิทธิมนุษยชน

Advertisement

ขณะที่พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม ส.ว. อภิปรายว่า ตามที่ได้ยินว่าจะเร่งลงมติวันที่ 24 กุมภาพันธ์นั้น รู้สึกตกใจ เพราะการตรวจสอบของกมธ.สอบประวัติ ต้องทำงานที่มากกว่าการสอบประวัติ ความประพฤติ เพราะต้องตรวจสอบความเหมาะสมในการทำหน้าที่ที่ต้องใช้เวลา

ดังนั้นมีแนวทางให้เลือก คือจะพิจารณาให้เสร็จภายในสมัยประชุมปัจจุบันที่จะปิดสมัยในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ หรือไปดำเนินการหลังจากการเปิดสมัยประชุมครั้งถัดไปในเดือนพฤษภาคม ซึ่งตนเชื่อว่าทำได้

Advertisement

ทั้งนี้ นายพรเพชร พิชิตชลชัย ประธานวุฒสภา ชี้แจงว่า ตนงง กับกฎหมาย กสทช. ฉบับปัจจุบันและร่างกฎหมาย กสทช.ที่อยู่ระหว่างพิจารณาในวุฒิสภา ว่าด้วยการให้อำนาจ ส.ว. ทำหน้าที่เห็นชอบ และให้เวลา 30 วันไม่มีข้อยกเว้นหรือทางเลือก แต่สัปดาห็ที่ผ่านมาได้พิจารณารายละเอียดและสอบถามจากเลขาธิการวุฒิสภา ซึ่งระบุว่ากระบวนการตรวจสอบประวัตินั้นกฎหมาย กสทช. ไม่ได้กำหนด แต่การตรวจสอบประวัตินั้นต้องทำตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา ข้อ 105

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการกำหนดกรอบเวลาทำงานของวิปวุฒิสภา เสนอใช้เวลา 15 วัน ทำให้ พล.อ.สมเจตน์ อภิปรายทักท้วง ว่าการเร่งรัดเวลานั้นสะท้อนถึงความไม่ชอบมาพากลของกระบวนการ แต่ตนไม่ต้องการกล่าวหาใคร และขอให้แก้ไขวันทำงานเป็น 25 วัน ซึ่งยึดตามกรอบเวลาที่เหลืออยู่ของกฎหมาย กสทช. ระบุว่าวุฒิสภาต้องลงมติเลือกภายใน 30 วันนับจากวันที่ได้รับบัญชีรายชื่อจากเลขาธิการวุฒิสภาคือวันที่ 3 กุมภาพันธ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนั้น พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา ในฐานะประธานในที่ประชุม จึงให้มีการลงคะแนนในญัตติดังกล่าว โดยส.ว.126 เสียงเห็นว่าควรจะใช้เวลา 15 วัน ขณะที่ 68 เสียง ไม่เห็นด้วย และมี 20 คน งดออกเสียง

ทั้งนี้ มีการตั้ง กมธ.สามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำหน่งเป็นกรรมการ กสทช. จำนวน 15 คน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image