สภา ถกญัตติส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความแก้ไข รธน. ‘ไพบูลย์’ อ้างหากไม่ส่ง หวั่น ส.ว.งดออกเสียงวาระสาม

สภาฯถกญัตติ ส่งศาล รธน.ตีความการแก้ไข รธน. ‘ไพบูลย์’ อ้างหากไม่ส่งศาลอาจมีปัญหาทำให้ ส.ว.งดออกเสียงวาระสาม ด้าน ส.ส.พท.-ปชป. จี้ให้ถอนญัตติ

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 9 กุมภาพันธ์ ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมรัฐสภา มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาวาระ ให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 (2) ของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และนายสมชาย แสวงการ ส.ว. เป็นผู้เสนอ

โดยนายไพบูลย์ เสนอเหตุผลว่า การยื่นญัตติครั้งนี้ ต้องการให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปอย่างถูกต้องสมบูรณ์ที่สุด ซึ่งหลังจากที่ตนเองได้ทำหน้าที่เป็นรองประธานกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาก่อนรับหลักการ ก็พบประเด็นข้อกฎหมายว่ารัฐสภาจะมีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่ เพราะตามรัฐธรรมนูญปี 60 มาตรา 256 ไม่ได้บัญญัติให้รัฐสภามีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ให้รัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตราเท่านั้น

นายไพบูลย์กล่าวว่า ขณะเดียวกันก็มีข้อโต้แย้งกัน ตนจึงเห็นว่าหากไม่มีการดำเนินการให้ชัดเจนว่ารัฐสภามีอำนาจหรือไม่ ตนเป็นห่วงว่าจะมี ส.ว.อาจจะเกรงว่ามีปัญหาเมื่อไม่ชัดจนในการลงมติวาระ 3 ก็อาจจะไม่กล้าที่จะให้ความเห็นชอบ อาจงดอกเสียง ทำให้ได้เสียงเห็นชอบในการผ่านร่างรัฐธรรมนูญไม่เพียงพอ

Advertisement

นายไพบูลย์กล่าวต่อว่า แม้จะมีสมาชิกรัฐสาหลายท่านไม่เห็นด้วยในการส่งศาลรัฐธรรมนูญ แต่บอกว่าให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญหลังจากพิจาณาวาระสามเสร็จแล้ว ซึ่งจะต้องไปทำประชามติ ซึ่งก็เห็นว่าต้องไปส่งศาลรัฐธรรมนูญอยู่ดี แต่จะต้องเสียเงิน 3 พันล้านบาท หากศาลวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ ดำเนินการไม่ได้

แฟ้มภาพ


“การที่ยื่นญัตติฉบับนี้ก็เพื่อทำความชัดเจน ก่อนที่จะไปสู่ขั้นตอนการทำประชามติ ดังนั้น เมื่อรัฐสภามีมติญัตตินี้แล้วขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ และก่อนหน้านี้มีบันทึกความเห็นของกรรมการกฤษฎีกา ต่อผลการศึกษาของกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 60 ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีความเห็นให้ยึดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยที่ 18-22/2555 และคำวินิจฉัยที่ 15-18/2556 ดังนั้น กรณีที่เป็นปัญหาจึงควรส่งญัตติให้วินิจฉัยโดยด่วน ทั้งนี้ ญัตติไม่ได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญคุ้มครองชั่วคราว หรือให้ชะลอการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ​ ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญยังดำเนินต่อไปได้

“หากศาลรัฐธรรมนูญระบุว่าทำได้ จะะทำให้ ส.ว.สบายใจ และการลงมติวาระสามไม่มีปัญหา แต่หากรัฐธรรมนูญวินิจฉัยรัฐสภาไม่มีอำนาจจัดทำฉบับใหม่และแก้ไขรายมาตราเท่านั้น ผมเสนอให้ตั้ง กมธ.แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ของรัฐสภา ซึ่งจะแก้ไขกว่า 100 มาตราได้ เชื่อว่าจะไม่เสียเวลาและงบประมาณจำนวนหมื่นล้านบาท” นายไพบูลย์กล่าว

Advertisement

จากนั้นสมาชิกรัฐสภา ได้อภิปรายแสดงความเห็น โดย นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย (พท.) อภิปรายว่า การเสนอญัตติดังกล่าวเป็นการย้อนแย้งต่อนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์​ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ต้องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพราะมีสมาชิกของพรรครัฐบาลดำเนินการยื่นญัตติดังกล่าว เสมือนดึงให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญล่าช้า เพื่อประโยชน์ของพวกพ้องตนเอง ซึ่งตนเชื่อว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้มี ส.ส.ร.ของรัฐสภาสามารถทำได้ตามมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ 60 และเป็นการกระทำโดยชอบตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ขอให้ผู้ยื่นถอนญัตติดังกล่าว

ขณะที่ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อภิปรายว่า ยืนยันหลักการของพรรค ปชป.ต่อการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนญัตติของนายไพบูลย์นั้นเป็นสิทธิ เพราะความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ไม่ใช่การย้อนแย้งที่ต้องส่งตีความ

นายชินวรณ์กล่าวว่า การที่นายไพบูลย์ระบุว่าการส่งตีความนั้น ไม่มีผลให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหยุดลง ตนในฐานะรองประธาน กมธ.ชุดดังกล่าวเช่นกัน มองว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทำให้การเมืองมีเสถียรภาพ และการพิจารณาในชั้น กมธ.ได้มีการศึกษาอย่างรอบด้านว่า การตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ดำเนินการโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว ส่วนที่อ้างว่าศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยเรื่องนี้ไว้เป็นบรรทัดฐานเมื่อปี 55 แล้วนั้น ยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้มีการศึกษาคำวินิจฉัยแล้ว พบว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยไปตามบริบทของรัฐธรรมนูญ ปี 50 และสภาพทางการเมืองขณะนั้นมีความพยายามจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อไม่ให้เป็นไปตามครรลองในระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งกระบวนการแก้ไขยังมิชอบ เพราะมีปัญหาการเสียบบัตรแทนกัน ซึ่งต่างจากสถานการณ์ในขณะนี้ ที่ดำเนินการตามกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ ปี 60 และ

นายชินวรณ์กล่าวว่า การแก้ไขครั้งนี้ ดำเนินการเพียง 2 หลักการเท่านั้น ได้แก่ การแก้เงื่อนไข ที่ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ง่ายขึ้น และหลักการที่ 2 คือการให้ มี ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญ โดยไม่ไปแตะต้องเนื้อหาหมวด 1 และหมวด 2

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image