‘ลลิตา’ เช็กแล้ว! พม่าไม่ได้พูด ‘ถ้าไม่สู้ก็อยู่อย่างไทย’ เผยเหตุแพทย์พยาบาลต้าน รปห.อื้อ ผลพวง ปวศ.1988

‘ลลิตา’ เช็กแล้ว! พม่าไม่ได้พูด ‘ถ้าไม่สู้ก็อยู่อย่างไทย’ เผยเหตุแพทย์พยาบาลต้าน รปห.อื้อ ผลพวง ปวศ.1988

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ เวลาประมาณ 13.00 น.ที่ห้องเสน่ห์ จามริก คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สำนักพิมพ์มติชน ร่วมกับ คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และศูนย์วิจัยดิเรก ชัยนาม จัดเสวนา “รัฐประหารเมียนมา : กองทัพ การเลือกตั้ง และจุดจบของการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย?” โดยมีวิทยากรได้แก่ ผศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผศ.ดร.ลลิตา หาญวงษ์ คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์, ผศ.ดร.ม.ล.พินิตพันธุ์ บริพัตร คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และนายสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี นักวิจัยอิสระ ดำเนินรายการ โดย ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ สามารถรับชมสดได้ทางเฟซบุ๊ก มติชนออนไลน์

ผศ.ดร.ลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า สังคมไทยตื่นเต้นกับเหตุการในพม่ามีหลากหลายความรู้สึก ทั้งสงสาร เห็นใจ ว่าผ่านไปไม่กี่ปี การถ่ายโอนอำนาจจากทหารมาเป็นพลเรือนในช่วงสั้นเท่านั้น นับจาก ค.ศ.1948 ซึ่งเป็นปีที่พม่าได้รับเอกราช จนถึงปี 2021 ช่วงเวลา 70-80 ปี อาจดูไม่ยาวนานแต่สำหรับพม่าซึ่งอยู่ในระบอบใดระบอบหนึ่งมาอย่างยาวนาน พัฒนาการจึงไม่มีการก้าวกระโดด

Advertisement


“ขอดอกจันล้านดวง ในฐานะนักประวัติศาสตร์ เกี่ยวกับอาณานิคม ต้องบอกว่าปัญหาทั้งหลายที่เราคุ้นเคย โดยเฉพาะความขัดแย้งในกลุ่มชาติพันธุ์ เราชอบคิดว่าพม่าเป็นเพื่อนบ้าน ใกล้เคียงเรา

“คนไทยพูดเยอะว่า คนพม่าชูสโลแกนว่า ‘ถ้าไม่สู้ก็อยู่อย่างไทย’ ซึ่งเมื่อไปตรวจสอบแล้ว ไม่มี คนพม่าไม่ได้คิดอย่างนั้น” ผศ.ดร.ลลิตากล่าว

ผศ.ดร.ลลิตากล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคเอ็นแอลดีแลนด์สไลด์กว่าเดิม ผู้ที่ไม่เข้าใจคนพม่าทายผิดหมด เนื่องจากประเด็นโรฮีนจาไม่มีผลต่อวิธีคิดของคนพม่าเลย ครั้งนี้นางออง ซาน ซูจี กลับมาเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้อีกครั้ง ส่วนประเด็นรัฐประหาร ถือว่าหักปากกาเซียน เนื่องจากมักกล่าวกันว่าไม่มีรัฐประหารแน่นอน เนื่องจากกองทัพมีโควต้าถึง 25% อยู่แล้ว

Advertisement

“เราต้องแยกให้ออกระหว่างซูจีคนเดิมที่มีเรื่องให้คนด่าเยอะมาก กับซูจีตอนนี้ที่เป็นเหยื่อในการปฏิวัติ ไม่รู้เป็นตายร้ายดีอย่างไร เด็กที่ไม่ได้อินซูจีขนาดนั้นก็ยังออกมา การประท้วงครั้งนี้ คนไทยสนใจเป็นพิเศษ มีคนบอกว่าพม่ารัฐประหารอีกแล้วหรือ แต่จริงๆ แล้วพม่าไม่ได้รัฐประหารบ่อย คนมองว่าต้องมีการฉีกรัฐธรรมนูญแน่ๆ แต่จริงๆ แล้วฉีกน้อยมาก ที่ผ่านมามีรัฐธรรมนูญแค่ 3-4 ฉบับเท่านั้น

“อยากชี้ให้เห็นว่า พม่ากับไทยอาจไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ คนไทยสนใจว่า ทำไมคนพม่าออกมาประท้วงเยอะมาก ทั้งคนแก่ และหนุ่มสาว แต่ไทยคือหนุ่มสาวเป็นหลัก” ผศ.ดร. ลลิตากล่าว

สำหรับประเด็นที่แพทย์พยาบาลออกมาประท้วงรัฐประหารกันมาก ผศ.ดร.ลลิตากล่าวว่า เนื่องจากในการต่อสู้ของประชาชน เมื่อ ค.ศ.1988 ทหารบุกจับนักศึกษา แพทย์ พยาบาลอยู่แถวหน้าในการต่อต้านไม่ให้จับกุม สปิริตนี้จึงมีในจิตใจของแพทย์ พยาบาล ไม่เหมือนบางประเทศ เช่น คองโก ส่วนการชู 3 นิ้ว เชื่อว่าส่วนหนึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากไทย อย่างไรก็ตาม เมื่อหลายปีก่อนก็มีการชูฝ่ามือที่มีการเขียนชื่อผู้ถูกจับกุม

“คิดว่าการชู 3 นิ้วส่วนหนึ่งมาจากไทย เพราะคนพม่าชอบตามข่าวไทย เขารู้สึกว่า คนพม่าผ่านมาแล้วแต่ตอนนี้สถานการกลับกัน คนพม่าต้องกลับไปอยู่สถานะตรงนั้น” ผศ.ดร.ลลิตากล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image