‘ชูศักดิ์’ ชี้มติรัฐสภาส่งตีความแก้รธน. ทำลายอำนาจตัวเอง ฝากรบ. อย่ามองว่าตนเองแข็งแรง

‘ชูศักดิ์’ ชี้มติรัฐสภาส่งตีความแก้รธน. ทำลายอำนาจตัวเอง ฝากรบ. อย่ามองว่าตนเองแข็งแรง จนไม่สนความรู้สึก-ข้อเรียกร้องของปชช.

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะทำงานด้านกฎหมายของพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้ความเห็นต่อกรณีที่รัฐสภาได้มีมติให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามญัตติที่เสนอโดย ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และ ส.ว.บางคน ว่า แม้โดยสภาพการณ์ทางการเมืองรัฐบาลจะคุมเสียงข้างมากในสภาและยังมีเสียง ส.ว. สนับสนุนอีกในการลงมติเรื่องต่างๆ แต่ก็ไม่คาดคิดว่ารัฐสภาจะมีมติดังกล่าวออกมาได้ เพราะเมื่อพิจารณาประเด็นการเสนอญัตติ ผู้เสนอได้อ้างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 31 เพื่อให้รัฐสภามีมติส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมทั้งสามฉบับที่รัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบในวาระที่ 1 แล้ว

ในส่วนที่ให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น รัฐสภามีอำนาจ ดำเนินการได้หรือไม่ โดยเห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210(2) และได้ยกหลักการตีความกฎหมายที่ว่า “ไม่มีกฎหมาย ไม่มีอำนาจ” มาเป็นข้ออ้าง ตนเห็นว่า การมีมติของรัฐสภาเป็นมติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และเป็นการทำลายอำนาจหน้าที่ของตนเองตามที่รัฐธรรมนูญได้ให้อำนาจไว้ เป็นการยกอำนาจนิติบัญญัติของตนเองไปให้องค์กรอื่นวินิจฉัย ทำลายหลักอำนาจสูงสุดของรัฐสภาอย่างน่าเสียดาย และเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจในการวินิจฉัยเรื่องดังกล่าว โดยมีข้อพิจารณา ดังนี้

1.อำนาจหน้าที่ขององค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญรวมถึงศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ เรื่องใดที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ขององค์กรใดองค์กรนั้นย่อมมีอำนาจในการวินิจฉัยขอบเขตอำนาจหน้าที่ของตนเองได้ เรื่องใดที่จะต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็ต้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมญ และกฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น ทั้งนี้เป็นไปตามหลักการเคารพภารกิจขององค์กรตามรัฐธรรมนูญในการตีความรัฐธรรมนูญ โดยองค์กรตามรัฐธรรมนูญจะต้องตระหนักถึงภารกิจที่รัฐธรรมนูญมอบหมายให้แก่ตนเองและจะต้องเคารพอำนาจหน้าที่และภารกิจทางรัฐธรรมนูญขององค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญด้วย โดยเฉพาะศาล รัฐธรรมนูญจะต้องระมัดระวังไม่ตีความให้ดูเสมือนเป็นการใช้อำนาจตรากฎหมายแทนองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ

Advertisement

2.เมื่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญมาตรา 156(15) บัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา รัฐสภาจึงชอบที่จะดำเนินการได้ ส่วนการจะแก้ไขเพิ่มเติมอย่างไรก็อยู่ในอำนาจ หน้าที่ของรัฐสภาที่จะพิจารณาได้เอง โดยคำนึงถึงข้อห้ามในการแก้ไขเพิ่มเติมตามมาตรา 255 และตามหลักเกณฑ์ วิธีการแก้ไขเพิ่ม เติมตามมาตรา 256 เป็นสำคัญ ปัญหาว่าการแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นรัฐสภาจะต้องตีความอำนาจหน้าที่ของตนเองเพราะเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ตนเองอยู่แล้ว ไม่ใช่กรณีที่จะต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นองค์กรอื่นตีความแต่อย่างใด การที่รัฐสภามีมติส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญใน ครั้งนี้ถือเป็นการนําอำนาจของตนเองที่มีอยู่ไปให้องค์กรอื่นตีความว่าตนเองมีอำนาจหรือไม่ ซึ่งถือเป็นการทำลายอำนาจของตนเอง อย่างน่าเสียดาย และการกระทำดังกล่าวน่าจะเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญเสียเอง เท่าที่ตรวจสอบดูเข้าใจว่าศาลตีความอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210(2) ว่าเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ขององค์กรนั้นหรือไม่ หรือเป็นความขัดแย้งว่าองค์กรใดจะมีหน้าที่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาอยู่แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีหน้าที่มาอธิบายรัฐธรรมนูญ

3.การยกหลักการตีความกฎหมายที่ว่า “ไม่มีกฎหมาย ไม่มี อำนาจ” มาเป็นข้ออ้างนั้น ไม่น่าจะใช้ได้ เพราะหลักการดังกล่าวจะมุ่งเน้นในการควบคุมการใช้อำนาจของฝ่ายปกครองในการใช้อำนาจทางปกครองเป็นหลัก แต่การตีความรัฐธรรมนูญมีหลักในการตีความโดยเฉพาะอยู่แล้ว เมื่อรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาแล้ว รัฐสภาย่อมมีอำนาจดำเนินการได้ โดยไม่ต้องตีความใดๆ อีกเพียงแต่การแก้ไขเพิ่มเติมนั้นจะต้องไม่ขัด ต่อมาตรา 255 และเป็นไปตามมาตรา 256 เท่านั้น การขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมนั้น จะทำได้เฉพาะกรณีตามมาตรา 256(9) คือร่าง รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้นขัดต่อมาตรา 255 หรือมีลักษณะตาม (4) เท่านั้น กรณีอื่นใดนอกจากนี้ไม่มีบทบัญญัติให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้

และ 4.ข้ออ้างที่ว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ผ่านประชามติของประชาชน การจะยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับควรจะต้องทำประชามติ ถามประชาชนก่อนนั้น กรณีดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญผ่านวาระสามแล้วก็ต้องนําร่างรัฐธรรมนูญนั้นให้ประชาชนออกเสียงประชามติอยู่แล้ว ตามมาตรา 256(8) จึงไม่จำต้องทำประชามติสองรอบให้สิ้นเปลืองงบประมาณ ทั้งนี้ กรณีที่เกิดขึ้นหากพิจารณาในทางการเมืองดูเหมือนรัฐบาลจะได้เปรียบ แต่หากคิดให้ดีการกระทำเช่นนี้ จะนําไปสู่วิกฤตรอบใหม่ที่รุนแรงกว่าเดิมและรัฐบาลจะต้องรับผิดชอบ เพราะการเสนอญัตตินี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ใหญ่ในรัฐบาลไม่รู้เห็น จึงขอให้รัฐบาลย้อนทบทวนอดีตว่าก่อนหน้านี้ที่ดึงดันจะไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วเกิดอะไรขึ้น จึงขอฝากไปยังรัฐบาลว่าอย่ามองว่าตนเองแข็งแรงกว่าประชาชน และทำอะไรที่ไม่สนใจความรู้สึกและข้อเรียกร้องของประชาชนเช่นนี้ อำนาจที่ท่านเชื่อว่า แข็งแกร่งอาจพังทลายลงได้เพราะการกระทำของพวกท่านเอง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image