‘สมชัย’ ร่ายยาว จัดหนักขบวนการยื้อแก้รัฐธรรมนูญ สุดน่ารังเกียจ ผู้มีอำนาจเห็นแก่ตัว

‘สมชัย’ ร่ายยาว จัดหนักขบวนการยื้อแก้รัฐธรรมนูญ สุดน่ารังเกียจ ผู้มีอำนาจเห็นแก่ตัว

เมื่อวันที่ 10 ก.พ. นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก แสดงความเห็นกรณีรัฐสภามีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย การตั้งสสร.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ขัดรัฐธรรมนูญ หรือไม่ โดย ระบุว่า

พฤติกรรมที่น่ารังเกียจและตอกย้ำความคับแคบเห็นแก่ตัวของฝ่ายผู้มีอำนาจ การลงมติของรัฐสภาเมื่อวันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ 2563 ในประเด็นการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ให้มีการตั้ง สสร. เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจากประชาชนโดยตรง นั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยมีเสียงเห็นชอบ 366 เสียง ที่มาจากพรรคพลังประชารัฐ 113 คน จาก ส.ว. 230 คน ส่วนที่เหลือจากพรรคเล็กที่เข้าร่วมรัฐบาล สะท้อนให้เห็นความไม่จริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอย่างยิ่ง

ทั้งๆที่รู้ว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ได้สร้างปัญหาให้กับการเมืองไทยมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการให้อำนาจแต่งตั้ง ส.ว. 250 คนมาค้ำจุนบัลลังก์ผู้มีอำนาจ การออกแบบการเลือกตั้งบัตรใบเดียวและคำนวณ ส.ส.ปัดเศษแบบค้านสายตาประชาชน การกำหนดคุณสมบัติและสรรหาองค์กรอิสระที่ได้เพียงอดีตข้าราชการประจำระดับสูงมาดำรงตำแหน่งแต่ขาดความรอบรู้และไร้ประสิทธิภาพมาปฏิบัติหน้าที่และยังมีพฤติกรรมเอนเอียงในสายตาของประชาชนอย่างเห็นได้ชัด รวมทั้งการให้มียุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศที่เหลวไหล ไร้ความคืบหน้าและกลับกลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ

ความพยายามในการดึงรั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อรักษาอำนาจของฝ่ายตนให้ยาวนานที่สุดนั้น กระทำอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด นับแต่ใช้เวลากว่า 8 เดือนนับแต่เดือนธันวาคม 2562 ในการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่มีนายพีรพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นประธาน มีรายงานหนากว่า 600 หน้า ให้เห็นทุกแง่มุมที่เป็นปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้

Advertisement

จากนั้น ในเดือนกันยายน 2563 ก็มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ฝ่ายต่างๆเสนอมารวม 6 ฉบับ จนนำไปสู่ การลงมติรับร่างของรัฐบาลและฝ่ายค้านในช่วงกลางเดือน พฤศจิกายน 2563 และตั้งกรรมาธิการอีก 45 คน จากสองฝ่ายคือ จากส.ส.จำนวน 30 คน และจาก ส.ว.15 คน เพื่อพิจารณาการแปรญัตติในวาระสอง

ไม่ทันที่ข่าวน่ายินดีที่กรรมาธิการชุดดังกล่าวแถลงถึงการเห็นด้วยกับแนวคิดให้มี สสร.จากการเลือกตั้งทั้ง 200 คน จะซาลง การลงมติของรัฐสภาโดยใช้เสียงข้างมากจาก ส.ว. รวมกับ เสียงของ ส.ส.จากพลังประชารัฐ รวม 366 เสียง เพื่อส่งตีความว่า การตั้ง สสร.จะทำได้หรือไม่ ก็เกิดขึ้น

เสียงของ พลังประชารัฐที่เป็นเอกภาพ สะท้อนถึงความต้องการของพรรคหลักในรัฐบาลยังเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ไม่ยาก แต่การที่ ส.ว. 250 คนที่ควรจะเป็นอิสระทางความคิด กลับมีการลงมติอย่างพร้อมเพียง 230 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง และขาดประชุมไม่มาลงคะแนน 13 เสียง ย่อมสะท้อนให้เห็นว่า วุฒิสภาชุดนี้มีความเป็นอิสระหรือแนบแน่นกับผู้มีอำนาจที่แต่งตั้งเขามากับมือ ถึงขนาดสั่งการใดๆให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันได้ราวกับพลทหารที่อยู่ในแถว

พฤติกรรมไม่จริงใจต่อการประวิงเวลาการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการตั้งกรรมาธิการชุดแล้วชุดเล่า และยังอาศัยเสียงของวุฒิสภาในการลากจูงการลงมติส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญหยุดชะงักถือเป็นพฤติกรรมน่ารังเกียจและตอกย้ำให้เห็นความคับแคบเห็นแก่ตัวของผู้มีอำนาจที่ประชาชนคงถือว่าเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ไม่อาจให้เขาตีสองหน้าหลอกลวงไปวันๆต่อไป

หากหนทางแก้รัฐธรรมนูญในสภาที่ประชาชนยอมอดทนรอ ไม่ใช่หนทางที่ประชาชนเห็นว่าเป็นทางที่ประสบความสำเร็จได้ เขาก็จะหมดศรัทธาและเลิกที่จะพึ่งหนทางดังกล่าว รอดูได้เลย
ไฟที่ใกล้มอดจะลุกโชนใหม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image