เปิด ‘บันทึกประเทศไทย 2563’ เสวนามติชน ถกมุมร้อน ‘โควิด เศรษฐกิจ การเมือง’

เปิด ‘บันทึกประเทศไทย 2563’ เสวนามติชน ถกมุมร้อน ‘โควิด เศรษฐกิจ การเมือง’ ชี้ คนไม่ฉลาดปกครอง ประเทศจะย่ำแย่

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 11 กุมภาพันธ์ ที่ โถงอาคารมติชนอคาเดมี สำนักพิมพ์มติชน จัดเสวนา “Matichon Book Talk : บันทึกประเทศไทย ปี 2563” สรุปประเด็นและเหตุการณ์ร้อนแรงแห่งปี 2563 ทั้งด้าน “โควิด เศรษฐกิจ การเมือง” โดย 3 วิทยากร ดำเนินรายการโดย ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ คอลัมนิสต์และพิธีกรชื่อดัง

ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ ผู้อำนวยการฝ่ายเผยแพร่วิทยาศาสตร์ แห่ง สวทช. ผู้เขียนหนังสือ COVID-19 โรคระบาดแห่งศตวรรษ กล่าวถึง ประเทศไทยในมุมการรับมือโรคโควิด-19 ว่า ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม ปี 2563 สำหรับคนไทยและทั่วโลก ท้าทายต่อมนุษยชาติอย่างมาก เพราะเจอการระบาดใหญ่ทั่วโลกและแทบทุกทวีป เป็นรอบแรกในศตวรรษ ที่ท้าทายเพราะเราไม่เคยเจอมาก่อน จึงไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไร ระหว่างรับมือจึงใช้องค์ความรู้เมื่อ 100 ปี อย่าง ไข้หวัดสเปน เป็นหลัก แต่มีข่าวดีที่วงการวิทยาศาสตร์ก้าวหน้าไปมาก เราเริ่มทยอยฉีดวัคซีนแล้ว แต่เชื้อยังไม่ได้ไปไหน เช่น ไข้หวัดใหญ่ H1N1 ที่ยังคงอยู่ จนพัฒนากลายเป็นไข้หวัดหมู ไข้หวัดนก เราจึงต้องตระหนักเสมอว่าเชื้อไม่ไปไหนและจะวนมาเรื่อยๆ และก็ไม่รู้ว่าจะปราบไปได้ถึงเมื่อไหร่ มีหลายวิธีที่คิดค้นกันอยู่ ถ้าเราโชคร้ายเชื้อกลับมาก่อน ถ้าเราโชคดีคือได้ยาต้านก่อน ซึ่งเราทำงานอย่างขยันขันแข็งอยู่เบื้องหลัง

เมื่อถามว่า อะไรจะเป็นเข็มทิศต่อการเดินหน้าประเทศไทยได้

Advertisement

ดร.นำชัยกล่าวว่า มีบางเรื่องที่เราทำได้ค่อนข้างดี แต่ก็มีอีกหลายเรื่องที่ต้องปรับ หากมองโดยรวมแล้ว ปัญหาใหญ่สุดของปีที่ผ่านมา คือเราเอาข้อมูล ความรู้ ความจริง มาใช้ในการรับมือน้อยไปหน่อย เรามีแผนรับมือหลายวิธีการ ไม่ว่ารัฐหรือเอกชนบางหน่วยงาน เช่น การทำความสะอาดพื้น เอาน้ำยามาฉีดฆ่าเชื้อ ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์เป็นการกระทำที่มีประโยชน์น้อยมาก เพราะไวรัสโดนแดดไม่ถึงชั่วโมงก็ตายหมด ไม่จำเป็นต้องเอาน้ำยาเคมีไปฉีด เพราะเมื่อฉีดแล้วฟุ้งขึ้นมา แทนที่เชื้อโรคจะอยู่ที่พื้น และเราเสียเงินมาก จากการเบิกไปซื้อสารเคมีมาฉีดกันใหญ่โตโดยไม่มีความจำเป็น กลับกัน การฉีดภายใน (Indoor) ฉีดตามพื้นผิว อย่างนี้มีความจำเป็นและสนับสนุน ส่วนอุโมงค์ที่ให้เดินผ่าน ให้เลิกทั้งหมด เพราะการจะฆ่าเชื้อได้ต้องเจอสารเคมีเป็นระยะเวลานานพอสมควร แล้วระยะเวลาพอประมาณนั้น คนอาจเสี่ยงกับสารเคมีได้ด้วย ส่วนการตรวจอุณหภูมิ มีการตั้งด่านตรวจ ซึ่งเกินเลยความจำเป็นไปมาก เพราะ คนที่ติดใช่ว่าทุกคนจะมีไข้ ยังมีเรื่องความไวของเครื่องวัดอุณหภูมิด้วย จึงไม่มีประโยชน์ ท้ายที่สุดเราพบตำรวจที่ด่านตรวจติดเชื้อ เพราะอยู่ดีๆ ก็ให้เขาไปรับเชื้อ เราควรเลิกทำ แล้วทำอะไรที่มีประโยชน์มากกว่า ซึ่งส่วนใหญ่ทำได้ดี มีลูกเตะที่ทำให้เข้าประตูอยู่บ้าง แต่ก็มีหมัดชกพลาด

“อย่างการนับถือ บูชาเลขศูนย์ ทำไมจะต้องให้ผู้ป่วยเป็นศูนย์ และเราเชื่อด้วยว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะที่สำคัญคือการดูแล ไม่ให้มีผู้ป่วยหนักเกินจำนวนห้องรับรองผู้ป่วยมากกว่า ไม่เช่นนั้นระบบจะพังทลาย จะเข้าสู่ภาวะสงครามที่มีคนป่วยเจ็บเต็มไปหมด ต้องควบคุมจำนวนให้ได้มากที่สุด ที่ควรทำคือ การสุ่มตรวจแบบแอกทีฟ แล้วเราจะรู้ว่าความจริงมีคนติดเชื้ออยู่มากน้อยแค่ไหน เพราะกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีอาการ จึงเกิดการแพร่กระจายเป็นระยะ เพราะเขาไม่รู้ว่าติดแล้ว

ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์

ดังนั้น สำคัญที่เราจะให้ความรู้ประชาชน คนกลุ่มเสี่ยงจำเป็นต้องฉีด แต่ใครเป็นคนเสี่ยงบ้าง ข้อมูลรัฐที่ต้องให้ ควรมาเป็นระยะ เพื่อให้มีความมั่นใจ ‘เราได้ช้าดีแล้ว จะได้ดูคนฉีดไป’ ไม่ควรเอามาพูดเล่น เพราะไม่โจ๊ก โจ๊กแค่ในวงเหล้าที่บ้าน เราต้องเร่งทำ คำถามคือ แล้วทำไมวัคซีนต้องเลือกบางเจ้า ทำไมไม่ทำให้เร็วที่สุด ซึ่งมีคำอธิบายอยู่ แต่เราใช้ความรู้ประกอบการตัดสินใจและบอกประชาชน น้อยไปนิดหนึ่ง”

Advertisement

“ในที่สุดเราจะได้รับการฉีดวัคซีนแน่นอน เมื่อคนมีภูมิต้านทานมากขึ้น และเมื่อคนมีความมั่นใจว่าติดเชื้อน้อยลง ความมั่นใจที่จะขยับเศรษฐกิจก็จะเกิด เศรษฐกิจจะหมุนโดยไม่ต้องพึ่งเงินแจกแบบให้เปล่าหลายแสนล้านบาท ในขณะที่เงินจัดการโรค 45,000 ล้านบาท ปัจจุบันใช้ไป 2,000 ล้านบาท ผมอยากถามว่า รวมวัคซีนหรือยัง แล้วทำไมถึงใช้น้อยขนาดนั้น

การแจกเงินฟรีทำให้เกิดผลลัพธ์น้อยมาก ขณะเดียวกันถ้าเอาไปสนับสนุนการฉีดวัคซีน เอาไปสนับสนุนนักวิทยาศาสตร์ การแพทย์และองค์ประกอบที่ใหญ่มากกว่านั้น เมื่อหมดโควิด เราจะมีศักยภาพผลิตวัคซีนอะไรก็ได้ในอนาคต ฝรั่งเรียกว่า แพลตฟอร์ม นี่คือโอกาสทอง ถ้าเอาเงินใส่เข้าไปจะทำให้เราเร็วขึ้นมากมายมหาศาล ดังนั้น ที่อยากถามคือ ทำไมถึงช้า และเงินน้อย ทำไมเราไม่ลงทุน เราเสียโอกาสมาก ดังนั้น คำตอบของปี 2564 คือเราจะดีขึ้นอย่างช้าๆ ตามภาวะโลก ซึ่งน่าเสียดาย เราควรจะดีขึ้นได้เร็ว ตามความสามารถที่ทำได้” ดร.นำชัยกล่าว และว่า

“สัญญาณการปรับตัวมี แต่สัญญาณอ่อน ต้องเดินหาสัญญาณ ผมเห็นความพยายามของรัฐบาลในการออกมาตรการอยู่ เปรียบเหมือนกีฬาโอลิมปิก เขาแค่ดูว่าชกเข้าหาเป้าไหม แต่ผมว่า เรายังชกไม่ได้คะแนน”

ดร.นำชัยกล่าวต่อว่า ส่วนที่ควรจะเปลี่ยน และอยากให้เปลี่ยน เราคิดว่า เรากำลังเผชิญวิกฤต แต่ความจริงเรามีโอกาสทางด้านการแพทย์ ถ้าเราพลิกมาเล่นบทบาททางนี้ เป็น Thailand Medical Hub ซึ่งความจริงเราเข้มแข็ง แต่ต้องวางแผนอย่างมาก จึงเป็นโอกาสดีที่เราจะลงทุนด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ความจริงในวงการรู้กันว่าเรามีศักยภาพ ที่จะทำให้ค่ายาในประเทศลดลง ในภาวะพิเศษอย่างนี้ รัฐบาลอำนาจสั่งการได้ แต่สงสัยว่าการอนุมัติทำไมไม่เร็วขึ้น เมื่อรัฐมีอำนาจขนาดนี้แล้ว

“ยุคนี้ Reskill ไม่พอ ต้อง Upskill กล่าวคือ ยุคนี้สู้ด้วย 1.การทำอะไรไม่เหมือนคนอื่น กับ 2.ทำที่เหมือนคนอื่น แต่ทำอย่างปราณีตบรรจง ทำอย่างเยี่ยมยอด แบบที่คนอื่นทำไม่ได้

ทั้งนี้ ความสามารถจะที่คว้าโอกาสได้ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่คือทักษะอย่างหนึ่ง หวังว่าประเทศไทยจะโชคดีมากพอ ที่ผู้นำเห็นโอกาสและคว้าไว้ ประชาชนและภาคธุรกิจก็เช่นกัน ยังมีโอกาสอยู่ แต่ทุกคนก็ต้องปรับตัว ผู้ที่จะอยู่รอด คงปรับตัวได้ดีที่สุด ไม่ใช่เก่ง หรือฉลาดมากที่สุด” ดร.นำชัยกล่าว

ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ

ด้าน ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวถึงประเทศไทยในมุมเศรษฐกิจว่า ที่จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป คือเรื่องโควิด-19 วิกฤตสาธารณสุข ที่ไม่คิดว่าจะดิสรัปต์เศรษฐกิจได้ ซี่งไม่เพียงกระทบสุขภาพ แต่ยังรวมถึงการรับมือในด้านอื่นๆ เช่น ปฏิเสธไม่ได้ว่า โควิดทำให้อำนาจของรัฐมากขึ้น ในการกระชับอำนาจ เพราะ 1.อนุญาตให้มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2.รัฐบาลสามารถสร้างเครือข่ายกับท้องถิ่นในการคุมโควิดได้ อย่าง องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หรือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) คนที่ถูกละเลยก็กลายมามีบทบาทสำคัญในการรับมือ ส่วนของราชการจึงมีความสำคัญมากขึ้น

กระบวนการเศรษฐศาสตร์ มี 4 ส่วนสำคัญ ที่จะทำให้ธุรกิจของชาติหมุนได้คือ 1.การบริโภค 2.การลงทุน 3.การใช้จ่ายภาครัฐ 4. การส่งออกและนำเข้า ซึ่งข้อ 1.บริโภคน้อยมาก เพราะคนไม่มีสตางค์ 2.การลงทุนก็ตกต่ำ 3.การใช้จ่ายภาครัฐที่สนับสนุน กลายเป็นรัฐบาลโพธิสัตว์ รัฐกระชับอำนาจมากขึ้น เพราะมีเงินและมีอำนาจที่ถือครอง ยังไม่พูดถึงวินัยทางการคลัง ที่ต้องกู้จนเต็มเพดาน ดังนั้น สิ่งสำคัญที่เปลี่ยนแปลงไปมากคือ Power Shift ที่คิดว่าเอกชนจะมีบทบาท กลับกลายเป็นราชการ ที่มีบทบาทมากขึ้น

ที่ผ่านมา มีการคำนึงถึงแรงงานมากขึ้น มีการกระชับอำนาจและเป็นช่องทางทำมาหากินให้รัฐราชการมากขึ้น สิ่งที่จะไม่เหมือนเดิมอีกเลย คือคนตาสว่าง ทั้งเรื่องกอสซิป รูปที่ไม่เคยเห็น ถ้าพูดอย่างเว่อร์คือ เราใกล้เข้าสู่โลกศรีอริยเมตไตรย ไม่ว่าจะพูดหรือไม่ แค่มองเฟซบุ๊กก็รู้แน่นอน ต่อไปนี้ ความสัมพันธ์ของมนุษย์จะเปลี่ยนจากหน้ามือไปหลังมือ เทคโนโลยีกลายเป็นตัวซัพพอร์ตและสร้างโอกาสใหม่ๆ ซึ่งโควิดทำให้รู้ว่า เรามีการแพทย์ที่เก่งมาก

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

เมื่อถามว่าในปี 2564 ถ้าประเมินเม็ดเงินภาครัฐ โดยย้อนกลับไป และมองมาจนถึงปี 2564 ประเทศไทย ยังพอรองรับการกระแทกเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหน เราถังแตกแล้วหรือยัง

ผศ.อัครพงษ์กล่าวว่า ยังพอไปได้เรื่อยๆ เงินสำรองระหว่างประเทศยังมีไม่น้อย เรามีโครงสร้างเศรษฐกิจที่พอใช้ได้ ถ้าให้กำลังใจรัฐบาล คิดอะไรไม่ออกก็ให้เงินไปเถอะ จากที่เห็นในเวลานี้ รัฐบาลจะอยู่ได้อีกนานไหม ตราบเท่าที่รัฐบาลจัดเก็บภาษีได้ แต่อีกแง่ ผมมองไม่เห็นว่า รัฐบาลจะมอง และเตรียมการด้านเศรษฐกิจ ว่าหากกลับมาสู่ภาวะปกติแล้วจะทำอะไรต่อ

“ภาคสำคัญของไทย คือ ธุรกิจการท่องเที่ยว ชึ่งแย่มาก รัฐมองเพียงว่าจะชดเชยอย่างไร จนลืมการสร้างศักยภาพที่เข้มแข็งให้กับคน ดังนั้น ถ้าเศรษฐกิจจะไปได้ รัฐตัองหันกลับมาดูความสามารถของบุคลากรในชาติ เมื่อชดเชยแล้ว ก็ไปส่งเสริม เช่น อาชีพไกด์ เพิ่มความสามารถด้านภาษาตอนที่ต้องอยู่บ้าน หรือแม้แต่การท่องเที่ยว รัฐได้คิดปรับปรุงแหล่งมรดกโลกบ้างหรือไม่ คนกลุ่มไหนจะเข้ามาหลังจบโควิด ศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยว คือสิ่งที่ไม่เห็นในปีที่ผ่านมา ดังนั้น อาจจะเป็นลูกคนรวย ใช้เงินในการแก้ปัญหา”

ถามว่าประเทศไทยในปี 2564 จะถึงทางตันหรือไม่ ผศ.อัครพงษ์กล่าวว่า คิดว่า ไม่ถึง เพราะรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ที่แม้จะแพ้ แต่ก็ไปต่อได้ แม้การใช้เงินของภาครัฐจะมากมายมหาศาลด้วยการจ่าย แต่เอกชนก็ปรับตัวอย่างมาก

“ผมสอนไทยศึกษา หนังสือมติชนต้องใช้ เพราะเป็นเรื่องความเป็นไทย ซึ่งไทยต้องปรับใหม่ เป็นห้วงเวลาของความสามารถและการพิสูจน์ตนเอง ว่าจะปรับจากหน้ามือเป็นหลังมือได้หรือไม่ จะทำผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือหาลูกค้าใหม่ วิกฤตครั้งนี้ทำให้เราได้ล้างตา ได้เช็ดกระจกแว่น เพราะสุดท้ายมนุษย์ต้องกินอยู่ ต้องแสวงหาหนทางใหม่ๆ ที่คิดไม่ถึง คือคนขายของออนไลน์ สามารถไปสร้างโซลาร์เซลล์บนดอยได้ พูดง่ายๆ รัฐบาลไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ ทั้งที่มี อำนาจเงิน และ อำนาจทางราชการ สุดท้ายคนไทยก็ต้องช่วยกัน ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบ ไม่ว่าจะเหลือง จะแดง ก็อยากให้ประเทศเจริญทั้งนั้น ฝั่งขวาบอก ‘อยากให้ประเทศเจริญต้องฟังฉัน’ ฝั่งซ้ายก็บอก ‘อยากให้ประเทศเจริญต้องต้องเชนจ์’ (Change) สุดท้าย คือการประนีประนอม เพราะการใช้กำลังมีปัจจัยกับต่างประเทศ เขาจะคบค้ากับคุณไหม แค่นี้เราก็ถูกซุบซิบมากมายแล้ว”

“เราขังลูกหลานให้อยู่ในระบบการศึกษานานเกินไป ถ้าจะบอกรัฐบาลตอนนี้ นักเรียนฉลาดกว่าอาจารย์แล้ว ถามอะไรมา เปิด google ก็ตอบได้ สายตากว้างไกล ที่ต้องทำคือ อย่าขังเขาไว้ในระบบการศึกษานาน ให้ส่งเสริมสายอาชีพให้ไปได้ไกล ให้คนเห็นคุณค่าสายอาชีวะมากขึ้น สิ่งสำคัญที่สุด คือทำอย่างไรให้เยาวชนคนหนุ่มสาวมีทัศนคติแบบสากล (Global Mindset) ถามว่า ผมอยากให้ลูกอยู่ในประเทศไทย หรือไปต่างประเทศ ถ้าโตแล้วอยากจะไป ก็ไป ผมยอมให้คนมาว่าเนรคุณแผ่นดิน ผมยอมตกนรก แต่ให้ลูกขึ้นสวรรค์” ผศ.อัครพงษ์กล่าว

นพ.ทศพร เสรีรักษ์

นพ.ทศพร เสรีรักษ์ นักสังเกตการณ์การชุมนุมทางการเมือง มองการเคลื่อนไหวทางการเมืองในปี 2563 และ 2564 ว่า ในเรื่องการเมือง ทุกอย่างในปี 2563 เป็นจุดเปลี่ยนของไทย ที่ 40-50 ปีไม่เคยเกิด ก็เกิด เรื่องที่ประชาชนแอบซุบซิบในครอบครัว ก็เอามาพูดกันมากขึ้น อย่างวันที่ 10 สิงหาคม น้องนักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ พูดถึง 10 ข้อเรียกร้อง กลายเป็นจุดเหตุของประวัติศาสตร์ที่ทำให้คนกล้าพูดเรื่องที่ไม่กล้า ต่อมา ทนายอานนท์พูดที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มวลชนมีทั้งที่พูดด้วยวาจา ด้วยป้าย เพราะทุกอย่างที่เป็นของไทย คนไทยมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้อง ประชาชนออกมาอย่างไม่เคยออกมาก่อน หลังหายเงียบไปนับ 10 ปี และออกมาอย่างชาญฉลาด ไม่ได้ค้างสนามหลวง แต่ออกมาแล้วกลับ แล้วมาใหม่ สะท้อนว่าประชาชนมีความฉลาด ใช้สติปัญญา จึงเชื่อว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงประเทศไทยในเร็วๆ นี้

“อีกเรื่องคือ เศรษฐกิจ ที่โควิดมากระทบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเข้ามา ลาออก แล้วเข้ามาใหม่ แสดงให้เห็นว่า ถ้าประชาชนยอมให้คนไม่ฉลาดปกครองประเทศและเศรษฐกิจ ชีวิตก็จะย่ำแย่ไปทุกวัน เมื่อก่อนใครจะยึดอำนาจ เราก็ปล่อยเขาทำ ทุกคนหากินไป แต่ทุกวันนี้คนรู้แล้วว่า ถ้าให้คนไม่ฉลาดมาปกครองประเทศ เราก็จะต้องทนทุกข์กันต่อไป” นพ.ทศพรกล่าว

เมื่อถามว่า ในปี พ.ศ.2564 การเมืองในประเทศไทยจะกลับไปเหมือนก่อนปี 2563 แบบเงียบๆ สงบเสงี่ยมได้หรือไม่

นพ.ทศพรเปิดเผยว่า ถ้าจะกลับไปสู่ทางนั้น มีวิธีเดียว คือคนที่มีอำนาจในประเทศไทยต้องมาเจรจากับประชาชน เท่านั้นเอง ไม่อย่างนั้นก็จะใช้วิธีอย่างนี้ไปเรื่อยๆ

“ผมเคยพูดสะท้อนเข้าหูผู้มีอำนาจในรัฐบาลหลายครั้ง ซึ่งผมก็เป็นห่วงเรื่องโควิด ไม่อยากให้ประชาชนไปชุมนุม ซึ่งรัฐบาลและผู้มีอำนาจต้องไม่สร้างเงื่อนไข หยุดจับ แล้วมาเจรจา แต่เมื่อไม่กี่วันนี้ยังมีการส่งตัว 4 คนขึ้นศาล ไม่ยอมให้ประกันตัว นี่จึงเป็นเงื่อนไขให้เยาวชนทนไม่ไหว ออกมาเรียกร้องอีก ดังนั้น จะให้กลับไปอย่างปี 2563 เป็นไปแทบไม่ได้ เป็นไปได้ทางเดียว คือเจรจาหาทางออกร่วมกับประชาชน จึงจะจบได้
สิ่งสำคัญคือความจริงใจของผู้มีอำนาจ ดูจากบันทึกประเทศไทยเล่มนี้ ถ้าไปนั่งไล่อ่าน จะเห็นกระบวนการทำงานทางความคิดของผู้มีอำนาจตามลำดับ ว่าไม่มีความจริงใจ นพ.ทศพรกล่าว

 

สนใจสั่งซื้อหนังสือ ที่ เว็บไซต์ www.matichonbook.com หรือ https://cutt.ly/Bjce96b

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image