บทนำมติชน : เลือกตั้งเทศบาล

บทนำมติชน : เลือกตั้งเทศบาล

บทนำมติชน : เลือกตั้งเทศบาล

หลังจากเว้นว่างมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 รัฐบาลได้ปลดล็อกให้มีการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เริ่มต้นจาก เลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. บัดนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรี เปิดรับสมัครรับเลือกตั้ง ระหว่างวันที่ 8-12 กุมภาพันธ์ และกำหนดเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคม ปรากฏว่ามีประชาชนให้ความสนใจจำนวนมาก ผลการรับสมัครรับเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ในวันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ ซึ่งเปิดรับสมัครเป็นวันแรก ว่า มีผู้สมัคร 59,299 คน แบ่งออกเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกเทศมนตรี จำนวน 4,385 คน ผู้สมัครสมาชิกสภาเทศบาล จำนวน 54,914 คน

ทั้งนี้ 5 จังหวัดที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งสูงสุดได้แก่ 1.จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 3,258 คน แบ่งเป็น ผู้สมัครนายกเทศมนตรี จำนวน 237 คน และผู้สมัครสมาชิกสภาเทศบาล จำนวน 3,021 คน 2.จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 2,260 คน แบ่งเป็น ผู้สมัครนายกเทศมนตรี จำนวน 172 คน และผู้สมัครสมาชิกสภาเทศบาล จำนวน 2,088 คน 3.จังหวัดขอนแก่น จำนวน 2,092 คน แบ่งเป็น ผู้สมัครนายกเทศมนตรี จำนวน 170 คน และผู้สมัครสมาชิกสภาเทศบาล จำนวน 1,922 คน 4. จังหวัดเชียงราย จำนวน 1,875 คน แบ่งเป็น ผู้สมัครนายกเทศมนตรีจำนวน 140 คน และผู้สมัครสมาชิกสภาเทศบาล จำนวน 1,735 คน และ 5.จังหวัดอุดรธานี จำนวน 1,831 คน แบ่งเป็น ผู้สมัครนายกเทศมนตรี จำนวน 148 คน และผู้สมัครสมาชิกสภาเทศบาล จำนวน 1,683 คน

เทศบาลเป็นการปกครองท้องถิ่นอีกรูปแบบหนึ่ง นายกเทศมนตรี และสมาชิกสภาเทศบาล มีหน้าที่บริหารเทศบาล ที่ตนเองได้รับเลือกตั้งเข้ามา โดยเทศบาลมีขนาดต่างๆ กัน แบ่งเป็นเทศบาลนคร 30 แห่งเทศบาลเมือง 195 แห่ง และ เทศบาลตำบล 2,247 แห่ง แต่ละแห่ง มีปัญหาที่แตกต่างกัน จำเป็นต้องมีผู้บริหารที่รู้ปัญหา และประชาชนไว้วางใจ ลงคะแนนให้เข้ามาทำหน้าที่ออกนโยบายและบริหารงานแก้ปัญหา เพื่อประโยชน์สุขในด้านต่างๆ ของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งป็นผลดีกว่าการให้ข้าราชการ หรือบุคคลที่ไม่ได้มาจากประชาชนมาทำหน้าที่แก้ปัญหา ที่น่าห่วงใย คือ การเลือกตั้งเทศบาล มีการแข่งขันรุนแรง และอาจนำไปสู่การใช้เงินใช้ทอง ดังนั้น เป็นหน้าที่ของผู้ควบคุมการเลือกตั้ง และประชาชน จะต้องร่วมกันสอดส่อง ไม่ยินยอมให้มีการซื้อเสียง เพื่อประโยชน์ของชุมชนและพื้นที่ของประชาชนเจ้าของสิทธิเลือกตั้งนั่นเอง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image