แพทยสภากับการเมืองไทย ย้อนดูแถลงการณ์ – จุดยืน ในบริบทการเมืองรอบทศวรรษ

แพทยสภาเป็นองค์กรสำคัญด้านสาธารณสุขของไทย ปฎิเสธไม่ได้ว่ารอบทศวรรษของความขัดแย้งทางการเมืองของไทย หลายการชุมนุมทางการเมืองก็มีบุคลากรทางสาธารณสุขเข้าไปร่วม เกี่ยวข้อง ทั้งเป็นแกนนำ รวมถึงดูแลรักษาผู้ชุมนุม หรือมีการตัดสินใจบางอย่างที่แพทยสภาต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แสดงจุดยืนต่อนโยบายของรัฐบาลในขณะนั้น จึงขอพาผู้อ่านไป ย้อนดูแถลงการณ์ จุดยืนแพทยสภา ในบริบทการเมืองไทย รอบทศวรรษที่ผ่านมา

9 ตุลาคม 2551

-เหตุการณ์ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2551 กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยปิดล้อมอาคารรัฐสภาในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2551 เพื่อกดดันไม่ให้คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภา โดยอ้างว่ารัฐบาลขาดความชอบธรรมที่จะเข้ามาบริหารประเทศ และไม่ต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญจนเกิดเหตุการณ์วุ่นวายในวันที่ 7 ตุลาคม

แพทยสภาออกแถลงการณ์ ตามที่สถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันประสบวิกฤตการณ์จากความเห็นขัดแย้ง ระหว่างกลุ่มประชาชนและภาครัฐนั้น เป็นเหตุให้มีการดำเนินการหลายประการทางการเมือง เช่น การชุมนุม การใช้อำนาจรัฐ แพทยสภาซึ่งเป็นองค์กรกลางของแพทย์ 38,00 คนในประเทศไทย ขอแถลงว่า

1.แพทยสภาขอคัดค้านการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ความขัดแย้งทุกรูปแบบ จากทุกหมู่เหล่า อันจะนำไปสู่ความสูญเสียอวัยวะ ร่างกายและชีวิต ของพี่น้องประชาชนชาวไทยกันเอง

Advertisement

2.แพทยสภาขอแสดงความเสียใจต่อผู้ที่ได้รับความสูญเสียทุกรูปแบบจากเหตุการณ์ ดังกล่าว และขอให้ทั้งผู้บริหารรัฐบาลและกลุ่มความเห็นที่แตกต่าง เห็นแก่ประเทศชาติ ศาสนา องค์พระมหากษัตริย์ หันหน้าปรึกษากันเพื่อหาทางออกโดยสันติวิธี เพื่อนำไปสู่ความสงบสุขของบ้านเมืองโดยเร็ว บนประโยชน์แท้จริงต่อประชาชนชาวไทยและประเทศชาติ

3.แพทยสภาขอให้แพทย์ทุกท่านยึดมั่นในจริยธรรม ว่า ผู้ประกอบการวิชาชีพเวชกรรม ต้องไม่ปฏิเสธการช่วยเหลือ ผู้ที่อยู่ในระยะอันตรายจากการเจ็บป่วย รวมทั้งไม่เลือกปฏิบัติในเรื่องสัญชาติ เชื้อชาติ ศาสนา ชั้นวรรณะ ความคิดทางการเมือง ตามหลักมนุษยธรรมสากล ทั้งนี้เพื่อธำรงไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ และเพื่อสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ ของพี่น้องชาวไทยในสภาวะวิกฤตนี้

4.แพทยสภาไม่สนับสนุนให้มีการนำ “วิชาชีพเวชกรรมของแพทย์” ไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน

Advertisement

5.แพทยสภาขอแสดงความชื่นชมและให้กำลังใจ แก่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ทุกท่าน ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ บรรเทาความเจ็บป่วยของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่ปกติในสภาวะ ดังกล่าว ด้วยความเหนื่อยยากและเสียสละ

29 เมษายน 2553

 

– ช่วงเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองของคนเสื้อแดงบริเวรแยกราชประสงค์และใกล้เคียง ก่อนจะมีการสลายการชุมนุมในหนึ่งเดือนต่อมาจนมีคนเสียชีวิตจำนวนมาก แพทยสภา ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ม็อบถอยห่างจากรอบ ๆ รพ. ไม่ต่ำกว่า 100 เมตร โดย ระบุว่า 2 รพ.ได้รับผลกระทบไม่รับผู้ป่วยใหม่

แพทยสภาได้ออกแถลงการณ์เรื่องขอให้ทุกฝ่ายเคารพการปฏิบัติหน้าที่ของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ เนื่องจากขณะนี้พบว่าการชุมนุมที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ได้ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของแพทย์และบุคลากรของแพทย์ใน รพ. 2 แห่ง คือ รพ.จุฬาฯ และ รพ.ตำรวจ ซึ่งได้งดรับผู้ป่วยใหม่ และรพ.ตำรวจนั้นได้มีการขนย้ายผู้ป่วยไปไว้อาคารด้านหลังที่อยู่ห่างไกลผู้ชุมนุม ดังนั้นจึงขอวอนให้ผู้ชุมนุมอย่างขวางทางเข้าออก และถอยออกห่างจากรอบ รพ.ให้มากที่สุด และที่สำคัญไม่ควรละเมิดเจ้าหน้าที่ด้วยการเข้าไปตรวจค้นใน รพ.

นายกแพทยสภา กล่าวว่า แพทยสภาขอเตือนผ่านสื่อก่อน เพราะที่ผ่านมาก็ได้รับความร่วมมืออย่างดี ทั้งนี้ที่ต้องออกมาเตือนไว้ก่อน เพราะไม่อยากให้มีกรณีเช่นนี้กับ รพ.อื่น ๆ อีก โดยเฉพาะการใช้ รพ.เป็นสถานที่กำบังเพื่อหวังพลทางการเมือง

“ถ้ามีคนออกมาเตือนสติแบบนี้ ผมหวังว่าในฐานะที่เป็นแพทย์ นพ.เหวง ก็คงจะมีจิตสำนึก เพราะไม่มีประเทศไหนในโลกที่ใช้พื้นที่ของ รพ.เพื่อเอาชนะคะคานกัน ขนาดจะขับรถผ่าน รพ.ยังห้ามบีบแตรรถเลย แต่นี่มีการใช้เครื่องขยายเสียงทุกวัน ดังนั้นก็อยากจะขอความร่วมมือด้วย ” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

27 ธันวาคม 2556

– ช่วงเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มกปปส. ชัตดาวน์กรุงเทพฯ มีการจัดชุมนุมตั้งเวลา เดินขบวนไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แพทยสภา ออกแถลงการณ์ ขอทุกฝ่ายหยุดทำร้ายบุคลากรการแพทย์ ขอแพทย์ยึดจรรยาบรรณ ดูแลผู้ป่วยไม่เลือกฝ่าย

เนื่องจากขณะนี้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นในประเทศ มีการใช้อาวุธทำร้ายคนไทยด้วยกันเอง แพทยสภา ขอให้ทุกฝ่ายหยุดการทำร้ายบุคลากรทางการเแพทย์ ตลอดจนอุปกรณ์ทางการแพทย์รวมถึงรถพยาบาลตามหลักสากล และขอให้บุคลากรทางการแพทย์ที่เข้าไปปฏิบัติการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจะต้องไม่มีการเลือกฝ่าย ต้องถือความเป็นกลาง มีคุณธรรมและจริยธรรม ปฏิบัติตามจริยธรรมแพทย์ไทยอย่างเคร่งครัด

อนึ่งแพทยสภา ขอแสดงความชื่นชมต่อบุคลากรทางการแพทย์ ที่เสียสละและมีจิตอาสาเข้าไปช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในครั้งนี้ โดยมิได้หวังผลตอบแทนทาง ใด ๆ

21 มกราคม 2557

– กรณีการรวมตัวกันของบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อร่วมเดินขบวนขับไล่รัฐบาลรักษาการ ซึ่งปรากฎมีป้ายข้อความว่า “หนีคนไข้มาไล่รัฐบาล” จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง นพ.สมศักดิ์ โลห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า เชื่อว่าเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์และคงไม่ได้หนีเวรมาร่วมชุมนุม เพราะการแสดงออกทางการเมืองถือเป็นสิทธิส่วนบุคคลและส่วนใหญ่ก็ไปร่วมหลังออกเวรแล้ว แต่หากมีการหนีเวรและไปร่วมชุมนุมจริงก็ถือว่าเป็นความผิดอย่างรุนแรง

ซึ่งหมอส่วนใหญ่ไม่กล้าทำและถูกสอนไม่ให้หนีเวร แต่อย่างไรก็ตามบุคลากรทางการแพทย์ ที่เข้าร่วมชุมนุนไม่ควรแสดงออกจนทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อวงการแพทย์ โดยเฉพาะการรักษาคนไข้ แม้การแสดงออกทางการเมืองจะถือเป็นสิทธิส่วนบุคคลก็ตาม

“คงไม่ได้หนีคนไข้มา แต่คงหมดเวรแล้ว และเชื่อว่าเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์มากกว่า ซึ่งในความจริงเป็นไปไม่ได้เพราะต้องมีคนอยู่เวร คงเขียนไปอย่างนั้นไม่ได้มีความหมายเป็นสาระ หน้าที่แพทย์ของทิ้งไม่ได้ อย่างน้อยต้องมีความรับผิดชอบในการอยู่เวร”

 

11 กุมภาพันธ์ 2557

เครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ทำจดหมายเปิดผนึกซ้ำ จี้ นายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย -ครม.รักษาการ เสียสละลาออกก่อนปัญหาลุกลาม แถมถามหาจริยธรรมรับผิดชอบ พร้อมเตรียมล่ารายชื่อแสดงให้ได้มากที่สุดเพื่อแสดงจุดยืน

กลุ่มเครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ประกอบด้วยคณบดีคณะแพทยศาสตร์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ นายกสภาวิชาชีพ และประชาคมสาธารณสุข ร่วมออกแถลงการณ์ “จดหมายเปิดผนึกถึง นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลรักษาการจากพรรคเพื่อไทย โดยขอให้ลาออกจากตำแหน่งเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อการบริหารประเทศที่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย แตกแยก และสร้างความขัดแย้งอย่างรุนแรง”

นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า “ที่เรามารวมตัวกันวันนี้เพื่ออยากสื่อถึงนายกรัฐมนตรี และอยากขอร้อง เพราะท่านเป็นคนเดียวที่จะแก้ไขปัญหานี้ หากท่านลาออกปัญหาทุกอย่างจบเลย แต่หากยังคงแบบนี้ปัญหาไม่ได้แก้ ประเทศเดือดร้อน และหากยิ่งยืดเยื้อนาน ประเทศก็จะยิ่งเดือดร้อน นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องจริยธรรม เพราะหากเราถูกกล่าวหาอะไรและยังคงอยู่ในตำแหน่งก็จะมีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน มีอำนาจอยู่ แต่หากเราบริสุทธิ์จริง คิดว่าไม่ได้โกงก็ควรเปิดให้คนกลางมาพิจารณา และเมื่อพิสูจน์ได้ว่าบริสุทธ์จึงกลับเข้ามาใหม่” นายกแพทยสภา กล่าวและว่า ทั้งนี้หากจะบอกว่าบุคลากรสาธารณสุขทำไมชอบออกมายุ่งเรื่องการเมือง เพราะบุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่เน้นเรื่องจริยธรรม จึงมีความรู้สึกไวต่อเรื่องนี้มาก

6 มกราคม 2559

– จุดยืนปฎิรูปบัตรทองให้ประชาชนร่วมจ่าย กรณีขณะนี้มีกระแสข่าวที่ทางรัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข ได้มีแนวคิดปฏิรูปบัตรทอง โดยให้ “ประชาชน” ร่วมจ่าย ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภาให้ความเห็นถึงว่า ตนเห็นด้วยกับแนวคิดของ ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพราะถือเป็นแนวคิดที่มีประโยชน์กับประชาชน และเป็นการเดินหน้าระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทองอย่างยั่งยืน ซึ่งค่าใช้จ่ายทุกวันนี้สูงขึ้น ผู้สูงอายุก็มากขึ้น ยาและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ราคาสูงก็มีเข้ามาเยอะ ในขณะที่ความคาดหวังของประชาชนในการรักษาก็เพิ่มขึ้น ตอนนี้ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงต่อหัวประชากรในระบบบัตรทองมากกว่างบประมาณที่ได้รับ เพราะคนไข้บางส่วนก็ไม่ได้มาเบิกจ่ายใช้จริง ถ้าให้พูดจริงๆ ตอนนี้ต้องเรียกว่าแบ่งกองทุนออกเป็น 4 กองทุนไม่ใช่แค่ 3 กองทุน เพราะเดี๋ยวนี้หันมาใช้ประกันเอกชนกันเยอะ แต่ถึงขนาดนี้ โรงพยาบาลรัฐก็ยังมีปัญหาขาดสภาพคล่องเพราะได้รับงบประมาณน้อยกว่าต้นทุนการรักษา การให้ทุกคนมีส่วนร่วมในค่าใช้จ่าย จะช่วยลดปัญหาดังกล่าวและยังทำให้คนไข้ได้ตระหนักถึงการดูแลสุขภาพตนเอง เพราะทุกวันนี้ไม่ตระหนักเลย กิน เหล้า เมายา ก็คิดว่าไม่เป็นไรเพราะรักษาฟรี การรักษาในต่างประเทศมีหลักการคือเข้าถึงการรักษาแต่ไม่ได้ฟรีทุกอย่าง อาจจะฟรีค่ารักษาบางอย่าง และมีการร่วมจ่ายค่ายาเอง ส่วนของไทย ถ้าคนไม่มีเงินเราก็ต้องช่วยเขา แล้วต้องไม่ให้คนใดคนหนึ่งยากจนเพราะความเจ็บป่วย การที่ให้คนที่สามารถจ่ายได้ ร่วมจ่ายจะช่วยให้ระบบของประเทศในระยะยาวมั่นคง การรักษามีคุณภาพซึ่งเป็นประโยชน์กับคนไข้อย่างแน่นอน

นายแพทย์สมศักดิ์ ยังกล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดการกำหนดเพดานของงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ เพราะการดูแลจะถูกเปลี่ยนแปลงไปทำให้สนใจแต่งบประมาณ ไม่สนใจคุณภาพการรักษาหรือไม่โรงพยาบาลก็อยู่ไม่ได้ แต่ควรหาวิธีการให้ทุกคนมีส่วนร่วมและรับรู้ ปัญหาก็จะน้อยลง เพราะโรคบางอย่างไม่สามารถมากำหนดงบประมาณในการรักษาได้

 

22 พฤษภาคม 2560

ช่วงเวลาดังกล่าวเกิดเหตุการณ์วางระเบิดป่วนรพ.พระมงกุฎเกล้าฯ (ภายหลังตำรวจจับกุมนาย นายวัฒนา ภุมเรศ อายุ 62 ปี สารภาพวางระเบิด รพ.พระมงกุฎ โดยทำคนเดียว ไม่มีกลุ่มการเมืองสนับสนุน ขอโทษมีคนเจ็บ อ้างว่ามีแรงจูงใจไม่ชอบทหารปฏิวัติ)

โดยแพทยสภา แถลงการณ์ประณามเหตุระเบิดโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ระบุว่า เป็นพื้นที่สันติภาพ พร้อมให้กำลังใจแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ในการดูแลผู้บาดเจ็บ

“แพทยสภา ในฐานะองค์กรวิชาชีพแพทย์ ออกแถลงการณ์ภายหลังรับทราบเหตุระเบิดบริเวณชั้น 1 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โดยผู้เกี่ยวข้องยืนยันว่าเป็นเหตุวางระเบิดจริง ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บเป็นจำนวนมาก”

“แพทยสภา ขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ขอให้กำลังใจแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลทุกฝ่ายในการแก้ไขสถานการณ์ และดูแลรักษาผู้บาดเจ็บ แพทยสภาขอประณามความรุนแรงทุกชนิดที่กระทำต่อสถานพยาบาล อันเป็นพื้นที่สันติภาพ อันสงวนไว้รักษาผู้เจ็บป่วย ถือว่าเป็นการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมที่วิญญูชนไม่พึงกระทำ”

2 ตุลาคม 2563

ช่วงปี 2562 มีประชาชนไปร้องเรียนสำนักงานเลขาธิการแพทยสภา กระทรวงสาธารณสุข เพื่อยื่นหนังสือถึงเลขาธิการแพทยสภา เพื่อขอให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะของ พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ มีพฤติกรรมที่เลือกปฏิบัติและใช้วาจาไม่เหมาะสม ประกาศไม่รับรักษาคนไข้บางกลุ่ม

แพทยสภามีมติยกข้อกล่าวโทษหมอเหรียญทอง เหตุพฤติกรรมการเหยียดคนไข้ไม่เกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพ โดยเฟซบุ๊กเอกชัย หงส์กังวาน เปิดเผยว่า แพทยสภามีมติยกข้อกล่าวโทษ นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฏวัฒนะ หลังเอกชัยร้องให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมจากกรณีที่ใช้วาจาไม่เหมาะสมต่อวิชาชีพหลายครั้ง เช่น ควายในร่างคน, หญิงสามานย์ และไอ้กุ๊ย เป็นต้น โดยแพทยสภาให้เหตุผลว่า พฤติกรรมดังกล่าวของ นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ไม่เกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพเวชกรรม

 

15 กุมภาพันธ์ 2564

-เกิดเหตุปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน กับประชาชนเมื่อคืนวันที่ 13 ก.พ. ต่อมามีภาพอาสาพยาบาล ถูกตำรวจควบคุมฝูงชนทำร้ายร่างการในระหว่างการสลายการชุมนุม จนได้รับบาดเจ็บ และถูกจับไปยังตชด.ภาค1

1. ขอแสดงความไม่เห็นด้วยกับการกระทำที่เป็นการยั่วยุ การละเมิดกฎหมาย และการใช้กำลังที่เกินความเหมาะสมของทุกฝ่าย ซึ่งอาจนำไปสู่เหตุการณ์ที่รุนแรงขึ้น ส่งผลต่อสุขภาวะของผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชนที่อยู่ในบริเวณ หรือสัญจรผ่านพื้นที่ใกล้เคียง

2. ขอให้ทุกฝ่ายให้เกียรติและระมัดระวังที่จะไม่ทำให้เกิดอันตราย หรือความเสียหายใดๆ ต่อบุคลากร และอาสาสมัครทางการแพทย์ ตลอดจนอุปกรณ์ทางการแพทย์ และรถพยาบาลตามหลักกาชาดสากล

3. ขอหน่วยงานที่รับผิดชอบ จัดให้มีระบบการให้การดูแลทางการแพทย์ที่เหมาะสม มีการติดสัญลักษณ์ที่ระบุว่าเป็นบุคลากรหรืออาสาสมัครทางการแพทย์ที่ชัดเจน เพื่อให้บุคลากรเหล่านี้สามารถปฏิบัติการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บได้อย่างปลอดภัย ตามหลักสากล ที่สำคัญคือ ไม่เลือกปฏิบัติ ยึดถือความเป็นกลาง มีคุณธรรม จริยธรรม และปฏิบัติตามจรรยาบรรณของวิชาชีพอย่างเคร่งครัด

4. ขอแสดงความชื่นชมต่อบุคลากรและอาสาสมัครทางการแพทย์ทุกท่าน ที่เสียสละและมีจิตอาสา ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์การชุมนุมต่างๆ โดยมิได้หวังผลตอบแทนใด ๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image