วงเสวนายัน กลับ ‘ใจแผ่นดิน’ คือความชอบธรรม แนะกรมป่าไม้ยอมรับปวศ. กะเหรี่ยงอยู่ก่อนตั้งอุทยานฯ

วงเสวนายัน กลับ ‘ใจแผ่นดิน’ คือความชอบธรรม แนะกรมป่าไม้ยอมรับปวศ. กะเหรี่ยงอยู่ก่อนตั้งอุทยานฯ

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ที่ทำเนียบรัฐบาล กลุ่มภาคีsaveบางกลอย จัดกิจกรรม ‘พาชาวบางกลอยกลับบ้าน’ ประกาศปักหลักที่สะพานชมัยมรุเชฐ ตั้งแต่เวลาประมาณ 10.00 น. โดยมีการผลัดกันปราศรัยในประเด็นต่างๆอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การดูแลความสงบเรียบร้อยของเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 10 นาย

กระทั่งเวลาประมาณ 16.00 น. มีการร่วมกันสร้างเพิงพักขนาดเล็กจากไม้ไผ่และตับหญ้าคาบนถนนพระรามที่ 5 ภายในเพิงติดตั้งภาพ ‘ปู่คออี้’ และนายพอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่

แขวนเครื่องจักสานและผ้าพื้นเมือง มีการแขวนป้ายชื่อหมู่บ้านใจแผ่นดิน จากนั้นเป็นการผลัดกันขึ้นกล่าวปราศรัยในประเด็นต่างๆ

เวลาประมาณ 18.20 น. เป็นการเสวนาหัวข้อ ‘ทำไมต้อง Save บางกลอย’

Advertisement

นายณัฐวุฒิ อุปปะ จากภาคีsaveบางกลอย กล่าวว่า เมื่อนึกถึงใจแผ่นดิน นึกถึงการจัดการที่ดินที่ล้มเหลวของรัฐไทยซึ่งไม่เพียงกระทบต่อชาวบ้านแต่กระทบถึงทุกคนในประเทศ นึกถึงความบิดเบี้ยวในการจัดการที่ดิน ชุมชนหลายแห่งมีหลักฐานการตั้งถิ่นฐานมานานกว่า 120 ปี ก่อนการสถาปนาของกรมป่าไม้ใน พ.ศ.2439 กรมป่าไม้ที่บอกว่ารักป่านักหนา ถามว่าตั้งขึ้นครั้งแรกเพราะอะไร คำตอบคือเพื่อการตัดไม้ โลโก้ยังเป็นรูปท่อนซุง เพิ่งมาอนุรักษ์ป่าในภายหลัง นี่คือประวัติศาสตร์ที่ต้องยอมรับ

“ใจแผ่นดิน มีหลักฐานการมีอยู่ตั้งแต่ พ.ศ.2455 ในขณะที่เพิ่งประกาศอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเมื่อ พ.ศ.2524 นี้เอง ทำไมวันนี้บอกว่าชุมชนใจแผ่นดินบุกรุกอุทยาน การพูดความจริงคือสิ่งที่ต้องยอมรับก่อน การกลับใจแผ่นดินคือความชอบธรรม ต้องทำได้ ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่นั่น แต่เกิดขึ้นทั่วประเทศ” นายณัฐวุฒิกล่าวและว่า ตนต้องกล่าวขอโทษชาวกลุ่มชาติพันธุ์เนื่องจากในอดีตเมื่อครั้งตอบช้อสอบในคำถามที่ว่า ทำไมป่าเมืองไทยลดลง ถ้าจะให้ได้คะแนนต้องตอบว่าเพราะชาวเขาทำไร่เลื่อนลอย ทำลายป่า ซึ่งตอนนี้รู้แล้วว่าไม่เป็นความจริง

นายณัฐวุฒิกล่าวว่า รัฐต้องปรับวิธีคิด ปรับทัศนคติ การใช้โมเดลจากต่างประเทศมาใช้เป็นที่พิสูจน์แล้วว่าการทำป่าให้ปลอดคน ไม่ดีเท่าการให้คนอยู่กับป่า ต้องออกจากมายาคติที่ถูกหลอก ออกมาอยู่กับข้อเท็จจริง ต้องช่วยกันเรียกร้องการจัดการป่าไม้ในสังคมพหุวัฒนธรรม ไม่ใช่ใช้โมเดลเดียวในทุกพื้นที่ ต้องยอมรับความหลากหลาย ออกแบบกฎหมายให้สอดคล้อง

นายบัญชา มุแฮ ชาวปกาเกอะญอจากบ้านดอยช้างป่าแป๋ จังหวัดลำพูน กล่าวว่า ถ้าไทยอยากรักษาทรัพยากรให้คงอยู่ ต้องปกป้องวิถีชีวิตชาติพันธุ์ โดยเฉพาะกะเหรี่ยง ในวัยเด็ก ตนเคยสะเทือนใจว่าทำไมพ่อแม่ต้องตัดต้นไม้ แต่ต่อมาได้เห็นภูเขาหัวโล้นที่นายทุนสนับสนุนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว วิถึชีวิตพังทลาย วัฒนธรรมหายวับไปกับสายน้ำ แต่จุดที่ทำไร่ซึ่งถูกเรียกว่าทำไร่เลื่อนลอย ไม่นานต้นไม้กลับมา สัตว์ป่าก็กลับมา งานหนักที่สุดของพวกตนไม่ใช่การทำไร่ทำสวน แต่คือการดับไฟป่าทั้งกลางวันกลางคืน ในขณะที่เจ้าหน้าที่ที่มาช่วยดับไฟเสร็จกลับลงไปไม่ถึงชั่วโมงไฟลุกขึ้นมาใหม่ ปี 63 ชาวบ้านดอยช้างป่าแป๋ไม่เคยพัก เตรียมรับมือกับไฟป่าตลอด

“การแก้ไขปัญหาหมอกควัน รัฐยังแก้ปัญหาแบบเดิมๆ แก้ไม่ตก เปลืองงบประมาณอยู่อย่างนั้น คนบนดอยก็ยังเป็นจำเลยตลอด ขอให้ภาครัฐจริงใจในการแก้ปัญหา ประชาชนที่มาในวันนนี้ส่วนหนึ่งเป็นคนในเมืองที่เปิดใจเรียนรู้ การสื่อสารออกไปจะมีผลอย่างยิ่ง และขอให้พี่น้องชาติพันธุ์ยืนหยัดมุ่งมั่นในวิถีบรรพชนที่ดีวามตามวัฒนธรรมของเรา” นายบัญชากล่าว

นายสุรินทร์ อ้นพรม นักวิชาการด้านวนศาสตร์ กล่าวว่า รัฐไม่ยอมปรับตัว ถึงเวลาแล้วที่จะทบทวนการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ให้สอดคล้องกับบริบทความซับซ้อน การจัดการทรัพยากรยังอยู่ใต้การรวมศูนย์ ขบวนการต่อสู้ต้องเปิดเพดานให้สูงขึ้น

นายพงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร ชาวปกากะเญอบ้านบางกลอย กล่าวว่า เราไม่ได้ต้องการท้าทายอำนาจรัฐ แต่มาเพื่อปากท้อง หากเจ็บป่วยก็อยากตายที่บ้าน พวกเรายืนยันว่าจะอยู่ที่ใจแผ่นดิน จะไม่ไปไหน อยากให้เข้าใจวิถีของเรามากกว่านี้ ลำพังพวกเราเองไม่สามารถทำอะไรได้มาก ที่ผ่านมาเราเสียมาเยอะแล้ว ครั้งนี้อยากให้พี่น้องในเมืองช่วยส่งเสียงว่าใจแผ่นดินมีอยู่จริง

“ที่เราต้องกลับไปใจแผ่นดิน เพราะเราสามารถบริหารจัดการสิ่งต่างๆได้ด้วยตัวเอง เป็นวิถีชีวิตของเรา เมื่อวิถีชีวิตเปลี่ยน กลายเป็นเราต้องอยู่ในกรอบ พึ่งธรรมชาติไม่ได้ วัฒนธรรมกะเหรี่ยงก็อาจสูญไป การอยู่ที่ใจแผ่นดิน ชีวิตดีกว่านี้ ไม่ใช่ต้องไปรับจ้างทุกวัน ไม่ทำงานก็ไม่มีกิน แต่ถ้าเราทำไร่ ได้ข้าวก็พอกินแล้ว ปัจจุบันต้องซื้อข้าวกิน เดิมไม่เคยขายของให้กัน ตอนนี้ต้องซื้อของกิน” นายพงษ์ศักดิ์กล่าว และว่า จากเดิมลำบากอยู่แล้ว โควิดมาซ้ำเติมอีก ปัญหาเรื่องบ้านบางกลอยมีมานานแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข แก้ไม่ตรงจุด ตนพยายามสื่อสาร และออกสื่อ แต่ก็ยังไม่มีการแก้ไขอย่างจริงจัง

ต่อมา เวลา 21.10 น. เป็นการแสดงละครเนื้อหาเกี่ยวกับวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงเฝ้าสังเกตการณ์โดยรอบ

จากนั้น เวลาประมาณ 21.20 น.วงสามัญชนขับร้อง ‘บทเพลงของสามัญชน’

สำหรับกิจกรรมในคืนนี้คาดว่าจะมีไปจนถึงเวลา 22.00 น. โดยมีการปักหลักกางเต็นท์ค้างคืนบนทางเท้าริมถนนพระรามที่ 5 ข้างทำเนียบรัฐบาล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image