“สิระ” โวย “สมพงษ์” รับคำสั่งคนดูไบ ยืนยันญัตติเข้าสภา ลั่น หมิ่นเหม่เมื่อไหร่ จะประท้วง

สภาฯ เปิดศึกซักฟอก แค่เริ่มก็ล่าช้า เถียงกันวุ่นไม่จบ ด้าน”สิระ” ปูดข่าว”คนดูไบ” สั่งผู้นำฝ่ายค้าน บรรจุญัตติให้ได้

เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 16 กุมภาพันธ์ ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นัดพิเศษ โดยมี นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล จำนวน 10 คน โดยเมื่อถึงเวลานัดประชุม มีสมาชิกลงชื่อเพียง 68 คน จาก 487 คน ซึ่งไม่ถึงครึ่ง จึงไม่สามารถเปิดการประชุม เพื่อเข้าสู่ระเบียบวาระได้ จนกระทั่งเวลา 09.42 น. ที่ประชุมได้เปิดให้หารือ โดย นายวิรัตน์ วรศสิริน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย หารือว่า ถ้าประท้วงตามเหตุผลเรายอมรับได้ แต่ถ้าประท้วงแบบอันธพาล เรายอมรับไม่ได้ ดังนั้น ขอให้ประธานควบคุมการประชุมให้เป็นไปตามข้อบังคับที่ถูกต้องและเป็นกลาง และขอให้ประธานสั่งการไปยังผู้ที่ทำหน้าที่ประธานท่านอื่นด้วย ให้สมกับเป็นประธาน มิฉะนั้นอาจจะมีสมาชิกเรียกท่านว่าท่านประธานที่ไม่น่าเคารพ

ด้าน นายนิโรธ สุทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ หารือว่า พรรคร่วมรัฐบาลไม่มีเจตนาที่จะไปประท้วงเป็นเรื่องนักเลงหรือเกเรอย่างที่ท่านว่า ถ้าเราจะทำ เราจะเอาข้อบังคับที่ 54 ยื่นญัตติด่วนคัดค้านคำวินิจฉัยของประธานฯ ว่าวินิจฉัยบรรจุญัตตินี้ชอบหรือไม่ชอบ โดยอาศัยข้อบังคับที่ 185 เพื่อให้สภาฯมาอภิปราย แล้วลงมติ เสียงข้างมากของรัฐบาลถ้าลงมติขัดขวางญัตตินี้ท่านก็ต้องนำญัตตินี้กลับไป แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่มีเจตนาเช่นนั้น ทำตามความเห็นคำวินิจฉัยของประธาน ฯ ดังนั้น ท่านอย่ากังวลอย่าคิดว่า ฝ่ายรัฐบาลไม่มีกึ๋นในเรื่องข้อบังคับ ข้อกฎหมาย เราประท้วงอยู่ในข้อบังคับ แต่ขอให้ฝ่ายค้านอภิปรายอยู่ในข้อบังคับ

ด้าน นายชวน กล่าวว่า ตนไม่เชื่อว่าจะมีการประท้วงแหลกลานอย่างที่บางฝ่ายหรือผู้เชี่ยวชาญการเมืองนอกสภาคิดกัน เพราะว่าห้องประชุมนี้แต่ละคนที่ผ่านกระบวนการเลือกตั้งไม่ได้มาง่าย ๆเพราะทุกคนต่างมีวุฒิภาวะ อาจจะไม่เท่ากัน แต่วุฒิภาวะความเป็นส.ส.นั้น ประชาชนที่เลือกเราจับตามอง ใครที่ประพฤติไม่เหมาะสมประธานคุมไม่ได้ แต่ประชาชนคุมได้ ดังนั้น อย่าไปกังวล เมื่อถึงวาระนั้นตนจะแจ้งระเบียบและกฎเกณฑ์เพื่อความเข้าใข เพราะเชื่อว่าบางคนประท้วงโดยไม่เข้าใจกฎเกณฑ์ กติกา หากเราเข้าใจก็จะลดบรรยากาศประท้วงไปได้ระดับหนึ่ง

จากนั้น เวลา 09.48 น. นายชวนได้ประกาศว่ามีสมาชิกลงชื่อ จำนวน 279 คน ขอเปิดประชุมญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจฯ แต่ นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวว่า สำหรับกรอบเวลาครั้งนี้ ฝ่ายค้านมีเวลาอภิปรายทั้งหมด 42 ชั่วโมงในวันที่ 16-19 กุมภาพันธ์ และลงมติวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ซึ่งการอภิปรายนั้นจะจบหลังเวลา 24.00 น. แต่หากมีช่วงหนึ่งช่วงใดก็ขอความกรุณาฝ่ายค้านอย่างน้อยต้องใช้เวลาอภิปรายไม่น้อยกว่าวันละ 11 ชั่วโมง ซึ่งจะทำให้การอภิปรายทั้ง 4 วันเป็นเวลาใกล้เคียงกับที่ฝ่ายค้านได้เวลาไป ส่วนของฝ่ายรัฐบาลวันนี้เป็นปลายเปิด แต่มีข้อจำกัดอยู่ประมาณ 20 ชั่วโมง แต่ได้แจ้งรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจว่าให้ตอบเน้นตรงประเด็นเนื้อหาสาระทั้งหมด แก้ข้อกล่าวหาที่เป็นประโยชน์

Advertisement

นายวิรัช กล่าวว่า ส่วนความไม่สบายใจตั้งแต่ที่มีการยื่นญัตติเมื่อวันที่ 25 มกราคม มีการทักท้วงญัตตินี้มาโดยตลอด จนกระทั่งประธานสภาฯได้นัดหารือและยืนยันว่าญัตติที่ฝ่ายค้านยื่นมานั้นบรรจุระเบียบวาระแน่นอน ไม่มีเหตุผลที่จะไม่บรรจุญัตติ แต่ระหว่างการหารือทางประธานสภาฯได้สอบถามผู้นำฝ่ายค้านว่าถ้าแก้ในส่วนของญัตติได้ก็ควรดำเนินการ ซึ่งผู้นำฝ่ายค้านถามตนกลับว่าจะให้แก้ส่วนใด ตนตอบว่าไม่ยากแค่ขีดฆ่าและเซ็นชื่อกำกับ ซึ่งผู้นำฝ่ายค้านขอเอากลับไปแก้ไขใหม่และจะกลับมายื่นอีกครั้ง แต่สุดท้ายผู้นำฝ่ายค้านขอยืนยันญัตติเหมือนเดิม เพราะเป็นเสียงเดียวไม่อาจทัดทานของทุกคนได้ เพราะฉะนั้น ถ้าวันนั้นไม่ได้แก้ไข วันนี้อ่านข้ามได้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถาบันได้หรือไม่ เพราะจะทำให้การประชุมวันนี้ราบรื่น แต่หากไม่อ่านข้าม ขณะนี้ก็มีญัตติที่ของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ที่ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งถูกบรรจุระเบียบวาระการประชุมแล้ว

ด้าน นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า เรื่องเวลาที่ประธานวิปรัฐบาลพูดนั้นถูกต้องทั้งหมด แต่มีข้อกังวล เรื่องเกี่ยวกับเรื่องญัตติชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย และวันนี้หากผู้นำฝ่ายค้านอ่านตรงนี้ก็จะมีปัญหาเกิดขึ้น และประธานวิปรัฐบาลบอกว่านี่คือการป้องปราม ซึ่งหลักที่เราควรยึดกันสำหรับการทำงานกับนหมู่มาก และงานใหญ่ของประเทศ คือหลักนิติรัฐ หลักข้อกฎหมาย หลักจริยธรรม และหลักข้อตกลงการให้ความร่วมมือกัน เรื่องญัตตินี้ได้มีการหารือ แม้จะถูกต้อง แต่เพื่อไม่ให้มีการตีรวนกันได้ ซึ่งจะเกิดความไม่ราบรื่น เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์อย่างนั้นได้ ฝ่านค้านก็จะกลับไปแก้ไขญัตติ แต่เมื่อญัตติครบถ้วน แม้จะกังวลเรื่องความไม่ราบรื่นไม่เรียบร้อยก็ตาม แต่หลักนิติคงต้องยึดไว้ถ้าถูกต้องแล้วไปแก้ไขก็จะเป็นบรรทัดฐานในอนาคต ซึ่งจะถูกใช้จนกลายเป็นผิดหลักกฎหมายและหลักนิติ ที่ควรถูกต้อง ส่วนข้อกังวลว่า จะเป็นช่องว่างสร้างความไม่ราบรื่นนั้น ควรแก้ที่ความสำนึกมากกว่าแก้ที่หลักกฎหมาย ดังนั้นในเมื่อถูกกฎหมายแล้วก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไปเอาช่องว่างขึ้นมาสร้างความไม่เรียบร้อย เราต้องคำนึงถึงบรรยากาศของสังคม ดังนั้นข้อกังวลสามารถแก้ได้โดยการพูดคุย กระตุ้นสำนึกว่าอันไหนควรไม่ควร

“ดังนั้นวันนี้หากญัตติเขียนแล้วอ่านญัตติไม่ครบ ก็เหมือนกับยอมรับว่าคำวินิจฉัยของประธานฯไม่ชอบ และการบรรจุญัตติครั้งนี้ผิด พวกเราทำไม่ได้ ก็คงจะต้องอาศัยบารมีประธานฯและจุดยืนของประธานฯ เรียนว่าไม่สบายใจจริงๆ แต่จำเป็นต้องยึดหลักเอาบรรทัดนี้ไว้ให้คนรุ่นหลัง และการอภิปรายเราเตือนกันอยู่แล้ว และมีความรับผิดชอบสูงอยู่แล้วว่า เรื่องอ่างนี้ควรไม่ควร ทุกคนต้องตระหนักและยกไว้เป็นวุฒิภาวะเบื้องสูง”นายสุทิน กล่าว

Advertisement

ขณะที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ตนเป็นห่วงญัตติที่เสนอมานั้นมีข้อความที่มีปัญหา ไปเกี่ยวข้องกับสภาบันฯ กระบวนการที่พยายามให้แก้ไขก็ได้ดำเนินการไปแล้ว แต่ก็ได้รับการยืนยันจากพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่ประสงค์จะแก้ไขญัตติดังกล่าว ตนจึงไม่มีหนทางอื่น จึงต้องเสนอเป็นญัตติด่วน เพื่อขอให้สภาฯ มีมติขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิฉัยปัยหาหน้าที่และอำนาจของสภาฯ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 (2) เพื่อพิจารณาญัตติที่ประกฎข้อความนำสถาบันฯมาเกี่ยวข้องกับการเมืองนั้นสภาฯจะมีอำนาจดำเนินการได้หรือไม่ ซึ่งสภาฯรับญัตติดังกล่าวไปแล้ว และบรรจุในระเบียบวาระแล้ว และเห็นว่าหากให้ผู้นำฝ่ายค้านอ่านญัตติดังกล่าวมีปัญหาเพราะเป็นการกระทำต้องห้ามที่เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)เสนอให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ หากผู้นำฝ่ายค้านอภิปรายก็ขอใช้สิทธิ์ประท้วงอย่างเต็มที่ และถ้าไม่มีทางเลือกอื่นก็จะเสนอให้เลื่อนญัตติด่วนดังกล่าวขึ้นมา

ด้าน นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า วันที่หารือร่วมกันทางผู้นำฝ่ายค้านรับปากในที่ประชุมว่า ญัตตินี้ก็ไม่สบายใจและสะเทือนใจ ยินดีกลับไปแก้ไข ตนจึงได้กราบที่ตักท่าน แต่หลังจากออกนอกห้องผู้นำฝ่ายค้านได้รับโทรศัพท์จากดูไบ ให้บรรจญัตติให้ได้ ดังนั้นเรื่องนี้ผู้นำฝ่ายค้านโดนแทรกแซงจากต่างประเทศ ตนรับไม่ได้ หากวันนี้กล่าวถึงสถาบันตนก็จะขอปกป้องสถาบันอันเป็นที่รักของประชาชน “ผมขอประท้วง”

จากนั้น น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ได้ขอประท้วงนายชวน โดยขอให้ทำหน้าที่เป็นกลาง เมื่อฝ่ายค้านพูดให้พูดเต็มที่ แต่ฝ่ายรัฐบาลท่านกลับให้พอได้แล้ว เพราะว่าวันนี้รัฐสภากลายเป็นเวทีหนึ่งที่เปิดให้จาบจ้วงสถาบัน ดังนั้นขอให้ฟังฝ่ายรัฐบาลด้วย

ขณะที่ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวว่า ขอทำความเข้าใจกับประธานวิปรัฐบาลและผู้อภิปรายที่พาดพิงเรื่องการแก้ไขคำพูดในญัตตินั้น ตนเข้าใจถึงความกังวลของประธาน วิปรัฐบาลในฐานะคุ้นเคยกัน จึงแจ้งว่าหากมีหนทางใดที่จะแก้ไขก็จะเป็นต้องแก้ ทั้งนี้การอภิปรายยื่นญัตติไม่ไว้วางใจ ฝ่ายค้านเรากระทำร่วมกัน ไม่ใช่ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แล้วพรรคเป็นผู้เปิดอภิปรายคนเดียว จึงจำเป็นต้องนำมาปรึกษาหารือกับหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน และผลสรุปออกมาตามที่ได้รับทราบ ขอทำความเข้าใจว่า ไม่ใช่หมายความว่าได้มีการรับปากในที่ประชุมต่อหน้าท่านประธานสภาฯแต่เราปรึกษาหารือและนำกลับมาหารือกับทางหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านและผลสรุปออกมาตามที่ได้ชี้แจง

ทั้งนี้ ประชุมใช้เวลาประมาณ 30 นาทีถกเถียงถึงเนื้อหาในญัตติ จนนายชวน ตัดบทเข้าสู่วาระการประชุมทันที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image