‘โจ้’ ยก รธน. ชี้ หากนายกฯ-มท.1 ยังไม่เบรกปมรถไฟฟ้าสายสีเขียว ไปศาล รธน. แน่

‘โจ้’ ยก รธน. ชี้ หากนายกฯ-มท.1 ยังไม่เบรกปมรถไฟฟ้าสายสีเขียวไปศาล รธน. แน่

เมื่อเวลา 19.20 น. วันที่ 17 กุมภาพันธ์ ที่รัฐสภา นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคราม พรรคเพื่อไทย (พท.) อภิปรายว่า การขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ตนกล่าวหาพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สมคบ รู้เห็นเป็นใจ แบ่งหน้าที่ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล กับพล.อ.อนุพงษ์ ในฐานะที่กำกับ กทม. ในการต่อสัมปทานรถไไฟ้าสานสีเขียวซึ่ง

1.ผิดรัฐธรรมนูญ 2.ผิดกฎหมาย พ.ร.บ.ร่วมทุน 3.ผิดมติครม. 4.เป็นการรกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ ด้วยการผูกขาด ตัดตอนเอื้อประโยชน์ให้กับเจ้าสัวบีทีเอสเจ้าเดียว มีการจัดฉากสร้างหนี้เพื่อยกสัมปทานให้บริษัทเอกชน 5.สร้างความเดือดร้อนให้กับคน กทม.

ท่านนายกฯ และมท.1 รู้หรือไม่ว่า ท่านถูก กทม. หลอกท่าน ไม่พูดความจริง สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ผ่านจุดไข่แดงของ กทม. นี้ ที่จะหมดสัปทานในปี 72 นั้น ความจริงไม่ได้หมดในปี 72 แต่มีการจ้างบริษัทบีทีเอสวิ่งรถไปถึงปี 2585 แล้ว ทั้งที่เส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่ดีที่สุด ผ่านย่านธุรกิจ ฯลฯ เมื่อหมดสัมปทาน กทม.จะเอากลับมาเป็นของรัฐบาล แล้วบริหารจัดการ แต่กลับจ้างต่อถึงปี 85

นอกจากนี้ สัญญาจ้างวิ่งรถ เวลาจ้าง กทม.ผ่านกรุงเทพธนาคม (เคที) แล้วเคทีก็ไปจ้างบีทีเอสต่อแบบไม่ต้องประมูลเลย แบบนี้ผิดกฎหมาย เป็นการใช้วิธีพิเศษ ก่อนหน้านี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ และเขียวใต้ยังเป็นของ รฟม. แล้ว กทม. มีอำนาจอะไรไปจ้างให้บีทีเอสมาวิ่งตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม ปี 59 พร้อมทำสัญญาล่วงหน้าอีกว่า 1.6 แสนล้านบาท

Advertisement

นายยุทธพงศ์ กล่าวอีกว่า มติครม. ให้มีการโอนส่วนต่อขยายเขียวเหนือ-เขียวใต้ ให้โอนจาก รฟม. เป็นของกทม. และให้ กทม.ไปรับหนี้มาด้วย โดยให้ไปกู้เงินจากกระทรวงการคลังที่ต้องไปหาแหล่งเงินกู้มาจ่ายชำระหนี้ และต้องดูแลค่าโดยสารไม่ให้แพงแล้ววันนี้จะขึ้นเป็น 104 บาท ซึ่งโคตรจะแพง มติครม. ยังบอกว่า ให้บริหารสัญญาให้หมดพร้อมกัน แล้วให้มีการเปิดประมูลใหม่ด้วย แต่ กทม. และกระทรวงมหาดไทยไม่ดำเนินการตามมติครม.นี้ตั้งแต่ปี 61 แต่กลับไปมีคำสั่งมาตรา 44 ให้เจรจากับบีทีเอส ให้ขยายสัมปทานแลกหนี้ แล้วอนุโลมให้การแก้ไขพ.ร.บ.ร่วมทุน แบบนี้เป็นการเอื้อประโยชน์หรือไม่ ต่อมาสภาฯ ได้มีมติเมื่อวันที่ 5 กันยายน 62 ไม่ให้มีการต่อขยายสัมปทาน พร้อมส่งเรื่องไปให้ ครม. พิจารณา นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรว่าการกระทรวงคมนาคม ก่อนหน้านี้ก็เห็นชอบให้ต่อขยายสัมปทาน แต่ปัจจุบันกลับเกิดเปลี่ยนใจ

เรื่องนี้ยังมีการดำเนินการที่ผิดกฎหมาย หนีพ.ร.บ.ร่วมทุน โดยใช้นิติกรรมอำพราง โดยใช้ตัวแทนเพื่อหลีกหนีพ.ร.บ.ร่วมทุน และพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างของรัฐ ผิดกฎหมายอาญามาตรา 157 และ ปี 62 รฟม.ได้ทำหนังสือถามกฤษฎีกาเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวหนือ และเขียวใต้ ซึ่งได้รับคำตอบว่าต้องเป็นพ.ร.บ.ร่วมทุน ต่อมา ปี 56 พรรคพท.ได้ร้อง ป.ป.ชง และดีเอสไอให้ตรวจสอบ กทม. จนวันนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ ทำไมถึงกลัว พ.ร.บ.ร่วมทุนกันหนักหนา และไม่ว่าจะต่อขยายไปไหนก็ต้องเป็น พ.ร.บ.ร่วมทุนตลอดสาย วันนี้คนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดคือ บริษัทบีทีเอส สัมปทานที่จะได้ต่อไปในอนาคตมีมูลค่ามากกว่า 6 แสนล้านบาท

Advertisement

นายยุทธพงษ์ กล่าวต่อว่า วันนี้เหตุที่นยกฯต้องไปศาลรัฐธรรมนูญ เพราะท่านไปออกมาตรา 44 ขัดพ.ร.บ.ร่วมทุน และผิดรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะหัวหน้า คสช. ได้ออกคำสั่งที่ 3/2562 เรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว แล้วทำให้เกิดการทุจริต ผูกขาด ตัดตอน หนีการแข่งขัน หนี พ.ร.บ.ร่วมทุน เอื้อประโยชน์ให้บีทีเอสเจ้าเดียว ท่านทำผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 56 มาตรา 164 มาตรา 185 มาตรา 279 และ มาตรา 265 วรรค 2

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image