‘สุรเชษฐ์’ แฉขบวนการ‘3ป.’ทำค่ารถไฟฟ้าแพง แบ่งเค้กไม่เห็นหัวปชช. ม.44ซุกปัญหาใต้พรม


‘สุรเชษฐ์’ แฉขบวนการ ‘3 ป.’ ทำค่ารถไฟฟ้าแพง แบ่งปันผลประโยชน์ไม่เห็นหัวปชช. ใช้ม.44 กลบปัญหาไว้ใต้พรม

เมื่อวันที่ 17 ก.พ. การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ที่ดำเนินมาต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ต่อมาเวลา 21.55 น. นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดย ระบุว่า ตนจะอภิปรายเรื่อง กระบวนการ 3 ป. กับค่ารถไฟฟ้าแพง ซึ่งตนเห็นด้วยกับการพัฒนาระบบการขนส่งสาธารณะ แต่ปัญหาคือค่ารถไฟฟ้ามีราคาแพง ยกตัวอย่างเทียบ ในลอนดอนและปารีส ใช้อัตราค่าโดยสารคงที่ ในโตเกียว กับสิงคโปร์ใช้โดยสารตามระยะทาง แต่ของไทยใช้ผู้ประกอบการเป็นตัวตั้ง บางโครงการก็ไร้มาตรฐาน และมีค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน เมื่อเปลี่ยนไปสายสีอื่น โชคดีที่ประชาชนตื่นรู้ จึงเกิดการยับยั้งการขึ้นราคารถไฟฟ้าสายสีเขียวจาก 158 และรถมา 104 บาทแต่ก็ยังแพงอยู่ดี

รถไฟฟ้าดีจริงแต่ใช้เงินเยอะมาก ซึ่งต้องมีคนจ่าย การลงทุนรถไฟฟ้าตกสายละประมาณ 100,000 ล้านบาท ตกกิโลเมตรละ 2,000 – 9,000 ล้านบาท ถือเป็นเงินมหาศาล สำหรับรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ พล.อ.ประยุทธ์ อนุมัติเงินไปแล้ว 508,609 ล้านบาท (เทียบกับงบลงทุนทั้งประเทศ 2564 คือ 513,379 ล้านบาท) การจัดสรรการขนส่งสาธารณะล้มเหลวทำให้คนมาใช้บริการน้อย การบริหารจัดการที่ห่วย ทำให้ค่าโดยสารแพง เพราะขาดการวางแผนอย่างเป็นระบบ ไม่คิดว่าอะไรทำก่อนทำหลัง การเจรจาแบ่งเค้กเป็นรายๆ เป็นการกระทำที่ไม่ได้เอาประชาชนเป็นตัวตั้ง สุดท้ายโครงการก็ไม่โปร่งใส มีการใช้มาตรา 44 ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นการเอื้อนายทุนให้ได้รับสัมปทานหรือไม่ ค่าโดยสารแพงแค่ไหนขึ้นอยู่กับกับการอุดหนุน ต้นทุนหลักของระบบรถไฟฟ้าอยู่ที่ 1.การเวนคืน 2.งานโยธา 3.งานระบบ 4.ค่าบริหารจัดการและซ่อมบำรุงรายปี การเลือกระบบคนสั่งประสานงานในแต่ละเส้นทางจึงสำคัญมาก

ส่วนตั๋วร่วมก็ไม่เกิดสักที มีแต่โฆษณาเอาหน้าไปเรื่อย รัฐต้องทำตั๋วร่วมให้เสร็จก่อน จึงจะแก้ปัญหาค่าโดยสารร่วมได้แต่รัฐบาลก็ทำได้ล้มเหลว เทคโนโลยีไม่ใช่ปัญหา แต่ไม่มีปัญญาหรือเกรงใจขาใหญ่ ทำให้เกิดค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน และต้องถือบัตรหลายใบ ระบบของตั๋วร่วมตอนนี้กลายเป็นซากอารยธรรมอยู่ที่ รฟม. คนอนุมัติรวย ประชาชนจ่าย แต่ใช้ไม่ได้ เสียเงินฟรีไป 648 ล้านบาท อีกประเด็นคือค่าระยะทางเมื่อข้ามสาย เช่นการขึ้นรถเมล์แล้วมาต่อด้วยรถไฟฟ้า

Advertisement

ปัญหาค่ารถไฟฟ้าแพงเกิดจากการอุดหนุนไม่เพียงพอ เพราะการลงทุนแบบไม่พอเพียง การบริหารจัดการห่วย มัวแต่หาทางรวยจากกระบวนการสาม ป. คือ ป. การปั่นตัวเลข เพราะพล.อ.ประยุทธ์ สั่งการแบบมีธง ไม่ได้จะให้ศึกษาอย่างจริงจังและเป็นกลาง ทำทุกอย่างตามใจตัวเองโดยไม่ถามประชาชน มีการปั่นตัวเลขให้ดูคุ้มทุนทางเศรษฐกิจ จะได้อนุมัติให้ทำโครงการได้ โดยเฉลี่ยรัฐอุดหนุน 80% เอกชนร่วมลงทุนแค่ 20% แต่ได้สินทรัพย์ 100% ไปหารายได้ รถไฟฟ้าแต่ละสายลงทุนประมาณ 100,000 ล้านบาท หากซ่อนตัวเลขแค่ 1% ก็ได้ไป 1000 ล้านบาท

ดังนั้นการเจรจาต้องเจรจาบนโต๊ะตามกฎหมาย ตามกระบวนการ เพราะสุดท้ายคนที่รับภาระคือประชาชน การปั้นตัวเลขคือการปล้นประชาชน ยิ่งในช่วงรัฐประหารระบบการตรวจสอบมันล้มเหลวไม่มีใครกล้าขวางธงจากผู้นำ เสกมาว่าโครงการคุ้มค่าแต่ของจริงไม่ แค่อยากหากินกับการอนุมัติโครงการขนาดใหญ่แต่มันเสียหายมากกว่าคอรัปชั่นมาก

นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า ต่อมา ป. ปั่นโครงการ มีการเร่งรีบอยากแต่จะสร้าง หวังแต่หัวคิว ก่อให้เกิดปัญหารถติดมลพิษมาก ทั้งยังต้องหาเรื่องขยายสัมปทานเพราะรัฐไม่เหลือเงินไปอุดหนุน รถไฟฟ้าดีจริง แต่ใช้เงินเยอะ และใหญ่เกินจำเป็นในหลายเส้นทาง ทำให้เราต้องอุดหนุนมาก ไม่เช่นนั้นก็จะแพงมาก กรณีของกรุงเทพฯ ควรจะอุดหนุนระบบรถเมล์ เพราะมีผู้มีรายได้น้อยจำนวนมาก การที่พล.อ.ประยุทธ์ สร้างรถไฟเยอะไม่ได้แปลว่าเก่ง เพราะพล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้เป็นคนลงมือสร้าง แต่อาจเป็นคนมาจัดสรรผลประโยชน์ ซึ่งตนรู้สึกเสียดายเงินภาษีมาก เพราะสามารถนำเงินไปทำประโยชน์หรือทำอะไรที่คุ้มค่ากว่านี้เยอะ

นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า ป. ปันผลประโยชน์ ยกตัวอย่างรถไฟฟ้าสายสีเขียว ตนถือว่าเป็นเมกกะโปรเจ็กต์อยู่ในตำนานของพล.อ.ประยุทธ์ สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นคือใช้ระบบใหญ่ลากออกไปยาวเกินจำเป็น ที่มีส่วนต่อขยาย จนกทม. อุดหนุนไม่ไหว แต่พลเอกประยุทธ์ก็ใช้มาตรา 44 มากลบเกลื่อนปัญหา ซุกปัญหาสารพัดไว้ใต้พรม ที่เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2562 มีการคำสั่งคสช. ที่ 3 / 2562 มีการลัดขั้นตอนไม่ดำเนินการตามพระราชบัญญัติร่วมลงทุนฯ และแต่งตั้งคณะกรรมการพิเศษมามุบมิบเจรจาแบบพิเศษ ทุกวันนี้ยังไม่ยอมเปิดเผยรายงานการประชุม ซึ่งทางสภาบอกอย่างเป็นทางการว่าเมื่อวันที่ห้ากันยา 2562 ต้องให้มีการเจรจาใหม่ ทำให้รัฐมนตรีต้องลาออก

ส่วนสายสีส้ม ปัญหาคือเอกชนแย่งสัมปทานกันเพราะรัฐช่วยอุดหนุนมาก เมื่อเทียบกับสายสีเขียว เกิดศึกระหว่าง BEM ซึ่งเป็นขาใหญ่ในกระทรวงคมนาคม และ BTS ซึ่งเป็นขาใหญ่ของ กทม. เป็นเรื่องฉาวโฉ่ในกระทรวงคมนาคม เพราะมีการเปลี่ยนเกณฑ์การตัดสินให้คะแนนกลางอากาศ เพราะมีผลกับผู้ประมูลอย่างชัดเจน จนเรื่องยังอยู่ที่ศาลปกครองกลาง เรื่องนี้คนที่ทำกล้ามาก เป็นการโกงกันอย่างน่าเกลียด สุดท้ายยังต้องรอ พล.อ.ประยุทธ์เคลียร์ คำถามคือประชาชนอยู่ตรงไหนในสมการปันผลประโยชน์กัน ตนจึงขอลงมติไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.อนุพงษ์ และนายศักดิ์สยาม

คำถามคือค่ารถไฟไฟแพงจะแก้ปัญหาที่ตัวเองก่ออย่างไร ตัวรูปจะเสร็จเมื่อไหร่และค่าโดยสารร่วมจะแก้ไขปัญหาอะไรบ้าง จะยอมสั่งการให้เปิดเผยข้อมูลทั้งหมดแล้วมาถกเถียงกันด้วยเหตุผลหรือไม่ รถไฟฟ้าสายสีเขียวจะกลับไปแก้ปัญหาด้านสัมปทานด้วยมาตรา 44 ต่อส่วนสายสีส้มจะใช้เกณฑ์เดิม หรือเกณฑ์ใหม่ หากอยากทำเพื่อประชาชนจริงคงไม่ทำแบบนี้ที่หากินกับการสร้างรถไฟฟ้าและทิ้งปัญหาไว้ เมื่อสามป. มาเจอกัน บ้านเมืองบรรลัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image