รู้จัก คดีดัง ‘โฮปเวลล์’

 

กรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย ยื่นฟ้อง “สุทิน คลังแสง ส.ส.เพื่อไทย” ต่อศาล ฐาน “หมิ่นประมาท” จากอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ฝ่ายค้านซักฟอกรัฐบาล พาดพิงถึงเรื่องโครงการโฮปเวลล์ ขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร

สำหรับคดีนี้เริ่มต้นมาจากในช่วงปี 2533 มีการเปิดประมูลโครงการถนนและทางรถไฟยกระดับในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยผู้ชนะการประมูลคือ บริษัท โฮปเวลล์โฮลดิ้ง ยักษ์ใหญ่แห่งวงการก่อสร้างของฮ่องกงเเละมีการเซ็นสัญญาในวันที่ 9 พ.ย. 2533 โดยสัญญาสัมปทานมีอายุยาวนานถึง 30 ปี โดยบริษัทโฮปเวลล์จะเป็นผู้ลงทุนออกแบบเองทั้งหมใช้วงเงินลงทุนทั้งโครงการประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 8 ปี

เเต่ต่อมาเกิดการก่อสร้างล่าช้ากว่าเเผนที่วางไว้มาก โดยบริษัท โฮปเวลล์ อ้างเหตุที่ก่อสร้างล่าช้าเนื่องจากการรถไฟฯ ไม่ส่งมอบที่ดินให้ได้ตามข้อตกลง ซึ่งเป็นช่วงที่ บริษัทขาดสภาพคล่องทางการเงินเเละปัญหาเศรษฐกิจหลายด้านทำให้โครงการต้องล้มเลิกโครงการเเละเริ่มทำต่อในหลายรัฐบาลก่อนจะ หยุดการก่อสร้างอย่างสิ้นเชิง ในช่วงปี2540-41

Advertisement

ต่อมาบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย)ยื่น ฟ้อง กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ เป็นจำนวน 5.6 หมื่นล้านบาท จากกรณีบอกเลิกสัญญา โดยที่การรถไฟฯ เองก็ฟ้องเรียกค่าเสียหายในการเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์จากโครงการเป็นจำนวน 2 แสนล้านบาท

ต่อมาใน พ.ศ. 2551 คณะอนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยชี้ขาดให้กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ คืนเงินชดเชยแก่บริษัท โฮปเวลล์ 1.1 หมื่นล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีให้แก่โฮปเวลล์ จากการบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรม

กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ จึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ในกรณีพิพาทการบอกเลิกสัญญา โดยเมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2557

Advertisement

ต่อมาศาลปกครอง มีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ วันที่ 30 ก.ย. 2551 และ 15 ต.ค. 2551 และให้ปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ทำให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายในการบอกเลิกสัญญาแก่โฮปเวลล์ ตามเหตุผลข้างต้น

ทั้งนี้บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลาง ที่สั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ที่ให้กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) จ่ายคืนเงินค่าก่อสร้างและค่าใช้จ่ายอื่นๆ แก่บริษัทโฮปเวลล์รวม 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ทำให้รฟท.ไม่ต้องจ่ายคืนเงินจำนวนดังกล่าว

คำสั่งศาลปกครองสูงสุด

เมื่อวันที่ 22 ก.ค.2562 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาว่า คำชี้ขาดคณะอนุญาโตตุลาการข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 หมายเลขแดงที่ 64/2551 ลงวันที่ 30 ก.ย.2551 ซึ่งตัดสินให้กระทรวงคมนาคม และรฟท. ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นเงินต้น พร้อมดอกเบี้ยรวม 2.4 หมื่นล้านบาท ชอบด้วยกฎหมาย ขณะที่ปัจจุบันเงินต้นและดอกเบี้ยได้เพิ่มเป็น 2.5 หมื่นล้านบาท

โดยกระทรวงคมนาคม กับพวกรวม 2 คน ยื่นฟ้องว่า คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดตามข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551 ให้ผู้ร้องทั้ง2 คืนเงินค่าตอบแทนและเงินอื่นให้แก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด

โดยอ้างว่าผู้ร้องทั้ง2 บอกเลิกสัญญาสัมปทานระบบการขนส่งทางรถไฟ และถนนยกระดับในกรุงเทพมหานครและการใช้ประโยชน์จากที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยโดยไม่ชอบ ซึ่งผู้ร้องทั้งสองเห็นว่าข้อพิพาทดังกล่าวไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการที่สามารถระงับข้อพิพาททางอนุญาโตตุลาการได้ เนื่องจากมิใช่ข้อพิพาทในการปฏิบัติตามสัญญาฯ ในการนี้สำนักระงับข้อพิพาทในการปฏิบัติตามสัญญาฯ ในการนี้สำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม ได้ส่งสำเนาคำชี้ขาดให้ผู้ร้องทราบตามหนังสือลงวันที่ 3ต.ค.51)

คดีนี้ ศาลปกครองชั้นต้น พิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551 ลงวันที่ 30 กันยายน 2551 ทั้งหมด และเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 44/2550 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 70/2551 ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2551 ทั้งหมด และมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551 ลงวันที่ 30 กันยายน 2551 และให้คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดแก่ผู้ร้องทั้งสอง

เนื่องจากศาลได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อคำนวณนับระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่ผู้คัดค้านรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการเสนอข้อพิพาทแล้ว ระยะเวลาของการเสนอข้อพิพาทจะครบกำหนด 5 ปี คือ ในวันที่ 30 มกราคม 2546 ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้คัดค้านยื่นข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2547 การเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ จึงเกินกว่ากำหนดระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดตามนัยมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 และเมื่อระยะเวลาการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเป็นเรื่องสำคัญ ถือได้ว่าเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลปกครองสามารถยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ดังนั้น ศาลจึงเห็นว่าในกรณีนี้ คณะอนุญาโตตุลาการไม่มีอำนาจรับข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ที่ผู้คัดค้านยื่นต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการไว้พิจารณาเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดได้

การที่คณะอนุญาโตตุลาการรับข้อพิพาทดังกล่าวไว้พิจารณาและต่อมามีคำชี้ขาดข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551 และการที่ผู้ร้องทั้ง 2 ยื่นข้อเรียกร้องแย้งเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2548 จึงเกินกำหนดระยะเวลาตามนัยมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ดังกล่าว เมื่อคณะอนุญาโตตุลาการรับข้อเรียกร้องแย้งของผู้ร้องทั้งสองไว้พิจารณา และต่อมามีคำชี้ขาดข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 44/2550 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 70/2551 จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ผู้ถูกฟ้องคดีจึงยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด

สำหรับ คดีหมายเลขดำ ที่ 107/2552,2038/2551,1379/2552 คดีหมายเลขแดงที่ 366-368/2557 เป็นคดีระหว่าง กระทรวงคมนาคม ที่ 1 การรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ 2 เป็นผู้ร้อง กับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัดเป็นผู้คัดค้าน

ฝ่ายผู้ร้องต้องการให้มีการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่ เพราะมีข้อโต้แย้งใน 2 ประเด็นคือ

1. หลักฐานใหม่ที่ศาลปกครองสูงสุดยังไม่พิจารณา คือการที่กรมทะเบียนการค้า (กรมพัฒนาธุรกิจการค้าในปัจจุบัน) รับจดทะเบียนนิติบุคคลบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2533 เป็นการประกอบธุรกิจที่ฝ่าฝืนคำสั่งคณะปฏิวัติที่ 281 (ปว.281) เพราะขณะนั้นโฮปเวลล์มีสถานะเป็นนิติบุคคลต่างด้าว ซึ่งมีข้อกำกับห้ามมีวัตถุประสงค์ตามบัญชีแนบท้าย

2. การที่โฮปเวลล์ไม่ได้รับการยกเว้นให้ประกอบการและไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แต่ปรากฎพบว่ามีการลงนามในสัญญากับรัฐในวันที่ 29 พ.ย. 2533 และเข้าปฏิบัติตามสัญญาในวันที่ 6 ธ.ค. 2534 จึงเป็นการปฏิบัติที่ขัดต่อกฎหมายดังกล่าว

โดยศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองชั้นต้น ไม่รับคำร้องของกระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท. เนื่องจากข้ออ้างที่ว่ารับจดทะเบียนนิติบุคคลขัดกับ ปว.281 นั้นศาลเห็นว่า ข้อเท็จจริงปรากฎในช่วงทำสัญญา ผู้คัดค้านทั้ง 2 (คมนาคม-ร.ฟ.ท.) ได้ออกหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลของโฮปเวลล์ไว้แล้ว

และในสัญญาระบุให้บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด บริษ้ทแม่ที่ฮ่องกงเข้าพื้นที่ก่อสร้างและพัฒนาทึ่ดินตามเงื่อนไขในสัญญา โดยทางโฮปเวลล์ฮ่องกงได้จดจัดตั้ง บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัดขึ้นตามกฎหมายของประเทศไทย ซึ่งทั้งกระทรวงคมนาคมและ ร.ฟ.ท.จะต้องทราบอยู่แล้วว่า โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) มีบริษัทแม่อยู่ฮ่องกง

อีกเหตุผลหนึ่งที่อ้างว่ายังไม่ได้รับการยกเว้นหรือการส่งเสริมการลงทุน ศาลเห็นว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในฐานะผู้ลงนามร่วมจะต้องทราบตั้งแต่แรกว่า โฮปเวลล์ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)

อีกทั้งในคำขอพิจารณาคดีใหม่ กระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท.ก็ระบุเองว่า ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามบัญชีแนบท้าย ปว.281 แล้ว ส่วนการอ้างว่านิติบุคคลต่างด้าวต้องขออนุญาตจากอธิบดีกรมทะเบียนการค้าก่อนนั้น เป็นเรื่องที่ทั้งกระทรวงและร.ฟ.ท.จะปฏิเสธการรับรู้ไม่ได้

และทั้งสองจะต้องมีการตรวจสอบประเด็นดังกล่าวก่อนลงนามในสัญญาด้วย และส้ญญาที่ลงนามต้องผ่านการพิจารณาของกรมอัยการ (อัยการสูงสุด) ก่อน ยิ่งต้องมีการตรวจสอบและต้องรู้ถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวก่อน จึงถือว่ากรณีนี้เป็นความบกพร่องเองของกระทรวงคมนาคมและ ร.ฟ.ท.จึงไม่อาจถือเป็นหลักฐานใหม่ได้

ส่วนที่อ้างศาลปกครองสูงสุดไม่ย้อนสำนวนให้ศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาเนื้อหาในคดีก่อนนั้น ทั้งศาลปกครองชั้นต้นและศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า ในชั้นการแสวงหาข้อเท็จจริง คู่กรณีได้รับทราบข้อเท็จจริงและมีการโต้แย้งชี้แจงไปแล้ว ถือว่าหลักฐานและข้อเท็จจริงเพียงพอสำหรับการพิจารณาคดี ข้ออ้างนี้จึงตกไป

ทั้งนี้ สุรพล สุประดิษฐ์ ณ อยุธยา  คอลัมนิสต์คอลัมน์เดินหน้าชน หนังสือพิมพ์มติชนรายวันได้เขียนเรื่องราวของมหากาพย์ โฮปเวลล์  ในมุมมองของอดีตนักข่าวกระทรวงคมนาคม ไว้เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2562 ระบุว่า

ในฐานะนักข่าวประจำกระทรวงคมนาคม และอยู่ในเหตุการณ์โครงการโฮปเวลล์ ตั้งแต่สมัย พ.อ.วินัย สมพงษ์ จากพรรคพลังธรรม ที่มี พลตรี จำลอง ศรีเมือง เป็นหัวหน้าพรรค เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

จนกระทั่งมาถึงสมัยรัฐบาล ชวน 2 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และเป็นช่วงที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยความเห็นชอบจาก ครม.บอกเลิกสัญญากับโฮปเวลล์

ในช่วงดังกล่าวนั้น เป็นที่รู้กันดีในกระทรวงว่า ไม่ว่ารัฐมนตรีคนไหนเข้ามาดูแล หรือผู้ว่าการ รฟท.คนไหนเข้ามาดูแล

ล้วนแล้วแต่มีความพยายามจะเข็นให้โครงการโฮปเวลล์เดินหน้า และสำเร็จตามเป้าหมายให้ได้

ทั้ง พ.อ.วินัย สมพงษ์ นายวิชิต สุรพงษ์ชัย นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ หรือแม้กระทั่ง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รมว.คมนาคมคนสุดท้ายก่อนทางรัฐบาลไทยจะบอกเลิกสัญญากับทางโฮปเวลล์ก็ตาม

เพราะทุกคนรู้ดีว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดี ช่วยแก้ปัญหาการจราจรได้

แต่ปัญหาของโครงการนี้เกิดจากการทำสัญญาหละหลวม ไม่ละเอียดรอบคอบ จะด้วยเหตุผลเรื่องความไม่โปร่งใส เร่งรีบ มีเบื้องหน้าเบื้องหลังหรืออะไรก็แล้วแต่

ทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย จนกระทั่งนำไปสู่การเลิกสัญญา

โครงการนี้เกิดขึ้นสมัย นายมนตรี พงษ์พานิช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลชาติชาย ก่อนถูก รสช.ปฏิวัติ

รัฐบาลอานันท์ ที่มี นายนุกูล ประจวบเหมาะ เป็น รมว.คมนาคม บอกเลิกสัญญาโฮปเวลล์ไปแล้ว และให้กลุ่มลาวาลินมาดำเนินการต่อ แต่ยังไม่ทันได้ทำอะไร มีการเปลี่ยนรัฐบาลก่อน

มาถึงสมัย พ.อ.วินัย พยายามเคี่ยวเข็ญโฮปเวลล์เต็มที่ มีการเจรจาให้โอกาสหลายครั้งหลายหน เพราะรู้ว่าเป็นโครงการที่ดี จึงให้โอกาสดำเนินการต่อ

แต่ดูเหมือนโฮปเวลล์จะไม่มีทีท่าว่าจะสามารถดำเนินการต่อไปได้

ท่ามกลางกระแสข่าวลือตลบอบอวลรู้กันดีในกระทรวงคมนาคม หรือที่เรียกว่า “กระทรวงหูกวาง” มาทุกยุคทุกสมัยว่า

ตอนนี้โฮปเวลล์ “บักโกรก” แล้ว เพราะถูกรีดเกือบจะทุกยุคทุกสมัย

ในขณะที่ความเป็นจริงอีกด้านก็คือ โฮปเวลล์เองก็ไม่ได้มีความพร้อมจะดำเนินโครงการมากนัก ทำยึกๆ ยักๆ อยากจะได้พื้นที่รถไฟไปพัฒนามาหารายได้ เพื่อใช้ก่อสร้างโครงการก่อน เพราะประสบปัญหาด้านการเงินอย่างหนัก

จึงกลายเป็นว่าโครงการนี้อาการหนักขึ้นเรื่อยๆ เพราะนอกจากจะป่วยจากร่างกายอ่อนแอตั้งแต่เกิดเองแล้ว แถมยังมาเจอเชื้อร้ายจากข้างนอกเข้าไปอีก

จึงทำให้ในที่สุดจึงต้องเกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ถึงขั้นต้องยกเลิกโครงการ

แต่ยังไม่จบแค่นั้น เพราะผู้ที่ได้รับผลกระทบที่แท้จริงก็คือคนไทยและประเทศไทย

เพราะนอกจากจะต้องมาเสียค่าโง่ 1 หมื่นกว่าล้านบาทแล้ว ยังต้องเสียค่ารื้อถอนตอม่อโฮปเวลล์ที่ใช้งานไม่ได้อีกต่างหาก

ถามว่าเรื่องนี้ใครจะต้องรับผิดชอบ คงตอบยาก เพราะมีผู้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องจำนวนมาก

แต่ถ้าหากถามว่าใครรู้เรื่องนี้ดีที่สุดว่ามีใครเกี่ยวข้องบ้าง คงต้องให้ไปถามคนชื่อ อนุศักดิ์ อินทรภูวศักดิ์ จากซีทีไอ กรุ๊ป บริษัทขนส่งระหว่างประเทศชื่อดัง และเป็นเจ้าของบริษัท เอเอเอส ออโต เซอร์วิส ผู้แทนจำหน่ายรถหรูอย่าง ปอร์เช่ เบนท์ลีย์ ในประเทศไทย

เพราะเป็นอดีตผู้ประสานงานระหว่าง นายกอร์ดอน วู นักธุรกิจชาวฮ่องกงเจ้าของโฮปเวลล์ ตั้งแต่เริ่มทำสัญญาสมัย นายมนตรี พงษ์พานิช ก่อนจะมาเป็นกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเดินเรือทะเล หรือ บทด. รัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคม ก่อนจะถูกยุบไป

และนายอนุศักดิ์เป็นผู้ที่มีคอนเน็กชั่นที่ดีกับนักการเมืองจำนวนมาก โดยเฉพาะ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในปัจจุบัน

เชื่อว่าน่าจะเป็นผู้ที่รู้เรื่อง “โฮปเวลล์” เมกะโปรเจ็กต์มหากาพย์แห่งความอัปยศของประเทศไทยได้ดีที่สุดคนหนึ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image