วิเคราะห์หน้า 3 : อานุภาพ ซักฟอก ข้อมูล ฝ่ายค้าน เขย่า รบ.‘บิ๊กตู่’

วิเคราะห์หน้า 3 : อานุภาพ ซักฟอก ข้อมูล ฝ่ายค้าน เขย่า รบ.‘บิ๊กตู่’

วิเคราะห์หน้า 3 : อานุภาพ ซักฟอก ข้อมูล ฝ่ายค้าน เขย่า รบ.‘บิ๊กตู่’

การอภิปรายไม่ไว้วางใจเริ่มขึ้นแล้วเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ โดยพรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นญัตติขอซักฟอกรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล จำนวน 10 คน

ประกอบด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

Advertisement

การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ไม่เหมือนกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่แล้ว

ประการแรก การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้พรรคร่วมฝ่ายค้านได้กล่าวหารัฐบาลด้วยข้อหาที่รุนแรงกว่าครั้งที่ผ่านมา แม้แต่ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรยังออกปากบอกว่า ญัตติครั้งนี้ได้กล่าวหารัฐบาลด้วยข้อหาที่รุนแรง

ประการที่สอง การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านได้บริหารจัดการการอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ดีกว่าครั้งที่ผ่านมา จึงไม่เกิดปัญหาจนปะทุกลายเป็นความขัดแย้งภายในพรรคร่วมฝ่ายค้าน ในทางตรงกันข้าม การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ยังพบร่องรอยความไม่สามัคคีภายในพรรคร่วมรัฐบาลมากกว่า

Advertisement

ประการที่สาม พล.อ.ประยุทธ์มีความพร้อมในการตอบโต้ข้อกล่าวหาได้ดีกว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่แล้ว รวมถึงการควบคุมอารมณ์แม้จะมี “หลุด” บ้าง แต่โดยภาพรวมแล้ว พล.อ.ประยุทธ์สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้เป็นส่วนใหญ่

โดยภาพรวมของการอภิปรายไม่ไว้วางใจจึงแตกต่างจากครั้งที่ผ่านมา

การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้มีข้อน่าสังเกตเกี่ยวกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน โดยเฉพาะข้อมูลแต่ละเรื่องที่นำเสนอนั้นส่วนใหญ่มีข้อมูลมาสนับสนุน

อาทิ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร จากพรรคก้าวไกล อภิปรายเรื่องการบริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด นายประเสริฐ จันทรรวงทอง จากพรรคเพื่อไทย อภิปรายเรื่องทุจริตการจัดซื้อถุงมือยาง นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ จากพรรคก้าวไกล อภิปรายเรื่องกระบวนการ 3 ป. ที่ทำให้ค่าตั๋วรถไฟฟ้าแพง และสาเหตุที่เกิดข้อพิพาทเกี่ยวกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว น.ส.จิราพร สินธุไพร จากพรรคเพื่อไทย อภิปรายต่อยอดเรื่องผลกระทบจากการใช้ ม.44 และเหมืองทองอัครา นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ จากพรรคก้าวไกล อภิปรายต่อยอดการใช้ไอโอสร้างความแตกแยก นายรังสิมันต์ โรม จากพรรคก้าวไกลอภิปรายเรื่องการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ เป็นต้น

น่าสังเกตว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ใช้กลไกสภาทำการบ้านเพื่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ได้ดีกว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ผ่านมา

ข้อมูลที่พรรคร่วมฝ่ายค้านนำมาอภิปรายได้มาจากการปฏิบัติหน้าที่ในคณะกรรมาธิการ

ส.ส.จากพรรคร่วมฝ่ายค้านนำข้อมูลดังกล่าวมากล่าวหา และยังกล่าวหาหน่วยงานที่ปกปิดไม่ยอมส่งให้คณะกรรมาธิการพิจารณา

การทำงานของพรรคร่วมฝ่ายค้านในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้จึงรอดพ้นจากข้อครหาเมื่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่แล้ว

รอดพ้นจากข้อหา “ข้อสอบรั่ว” หลุดพ้นจากข้อหา “ล้มมวย”

สําหรับประเด็นของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ บางประเด็นเกิดจากความขัดแย้งในพื้นที่ บางประเด็นเกิดจากความขัดแย้งในคณะรัฐมนตรี

นอกจากนี้ การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ยังสะท้อนรอยร้าวในระดับพรรคการเมืองด้วย

แน่นอนว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ ส.ส.ของพรรคร่วมรัฐบาลจะโหวตสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐมนตรีที่ถูกอภิปราย

แต่ผลพวงจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ย่อมต้องติดตามผล

ทั้งนี้ เพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้มีประชาชนติดตามรับชมและรับฟังประเด็นต่างๆ จำนวนมาก

ข้อมูลข้อกล่าวหาและคำชี้แจงทั้งจากฝ่ายค้านและรัฐมนตรี รวมถึงการประท้วงของ ส.ส.ในสภา จึงอยู่ในสายตาของประชาชน

การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่อยู่ในสายตาประชาชนนี้สำคัญ เพราะการประเมินผลการอภิปรายไม่ไว้วางใจจากประชาชนนั้นมีผลต่อความเชื่อมั่นในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล

การอภิปรายครั้งนี้เป็นการแสดงข้อมูลหลักฐานในการ “ไม่ไว้วางใจ” รัฐมนตรีเป็นรายบุคคล

หลายข้อมูลและหลายหลักฐานได้ท้าทายสภาผู้แทนราษฎรว่าจะโหวตสนับสนุนหรือคัดค้าน

หลายข้อมูลและหลักฐานหลายชิ้น ท้าทาย พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลว่าจะตัดสินใจอย่างไร

สิ่งที่น่าสนใจคือ การประเมินผลของ พล.อ.ประยุทธ์ และสภา จะตรงหรือต่างจากการประเมินผลของประชาชนผู้ติดตามการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้

หากผลการประเมินที่ออกมา สภา และประชาชน เห็นสอดคล้องกัน ประโยชน์ย่อมตกเป็นของสภา

หากผลการประเมินที่ออกมา รัฐบาล และประชาชน เห็นสอดคล้องกัน ประโยชน์ย่อมตกเป็นของ พล.อ.ประยุทธ์

แต่ถ้าผลการประเมินของรัฐบาล สภา ไม่สอดคล้องกับประชาชน

ย่อมมีผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของสภา และการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล

นั่นคือ อานุภาพของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image