ประธาน กมธ.ที่ดินฯ กระตุกรัฐ อย่าผิดข้อตกลงที่ให้ไว้กับชาวบ้านบางกลอย

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ นายอภิชาติ ศิริสุนทร ประธานคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนฯ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวกรณีปัญหาสถานการณ์ชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในพื้นป่าแก่งกระจาน ที่รัฐจะดำเนินการจัดการ ระบุว่า

รัฐอย่าผิดข้อตกลงที่ให้ไว้กับชาวบ้านบางกลอย …ความห่วงกังวลต่อสถานการณ์ชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในพื้นป่าแก่งกระจาน (กรณีชาวบ้านเดินทางกลับ “ใจแผ่นดิน”)

…จากกรณีที่รัฐเปิด ”ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร” สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนในพื้นที่เกิดความตึงเครียดขึ้นจากปฏิบัติการสนธิกำลังของเจ้าหน้าที่ในเช้าวันนี้ ผมในฐานะประธานกรรมการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร มีความห่วงกังวลอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ และมีข้อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่าควรฟังข้อมูลรอบด้านทั้งจากชาวบ้านในพื้นที่ ภาคประชาชน องค์ระหว่างประเทศ เพื่อถ่วงน้ำหนักกับวิธีคิดของราชการ และควรตระหนักเสมอว่า “เราไม่สามารถผลักดันป่าแก่งกระจานให้เป็นมรดกโลกได้หากยังมีรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่”

เพราะฉะนั้นรูปแบบการจัดการป่าอนุรักษ์ที่ยอมรับสิทธิชุมชนดั้งเดิมของชนชาติพันธุ์ในพื้นที่ คือ “โอกาส” ไม่ใช่อุปสรรคในการผลักดันป่าแก่งกระจานให้เป็นมรดกโลก นอกจากนี้การดำเนินนโยบายใดๆ ควรคำนึงถึงปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง (United Nations Declaration on the Rights of Indigenous Peoples) ที่ประเทศไทยเป็น 1 ใน 143 ประเทศที่ลงมติเห็นชอบ

Advertisement

…ผมกังวลเป็นอย่างยิ่งถึงการบิดพลิ้วข้อตกลงที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ทำไว้กับประชาชนในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 และอาสาขอลงพื้นที่ร่วมไปกับทีมของท่านรัฐมนตรีในฐานะตัวแทนของสภาที่มาจากประชาชน เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือของการลงพื้นที่และนำข้อมูลที่ปราศจากอคติมาร่วมกันแก้ปัญหา และอยากจะชวนให้สังคมขบคิดถึงการแก้ไขปัญหาชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์ที่ผ่านมาว่า “เมื่อวิธีคิดผิดและล้าสมัยนำไปสู่การจัดการป่าอนุรักษ์ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง” ใช่หรือไม่ และเราควรปรับวิธีคิดก้าวให้พ้นความคิด ”ป่าปลอดคน” เพื่อแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนใช่หรือไม่ ถ้าใช่…ทั้งนี้ ผมอยากจะขอเสนอข้อเสนอในระดับนโยบายดังต่อไปนี้

– รัฐมนตรีควรผลักดันนโยบายด้วย “กระบวนทัศน์ใหม่” ของพื้นที่ป่าอนุรักษ์ (New paradigm’ for protected areas) ที่วางอยู่บนหลักการของการยอมรับสิทธิของชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นในการจัดการป่าอนุรักษ์ หรือที่เรียกกันว่า พื้นที่ป่าอนุรักษ์ของชนพื้นเมืองและชุมชน (Indigenous People’s Protected Areas and Community Conserved Areas — ICCAs)

-วางแนวนโยบายใหม่ด้วยการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติอย่างยั่งยืน ต้องรับรองสิทธิในที่ดินทำกินตามวัฒนธรรมแก่ชุมชนชาติพันธุ์ รับรองสิทธิร่วมในการจัดการที่ดินให้กับชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์แทนการให้รายบุคคล ส่งเสริมทางการเกษตรแบบยั่งยืนในพื้นที่ อาทิ เกษตรปลอดสารพิษ ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเดิมจากวัฒนธรรมประเพณีอย่างมหาศาล สร้างสวนป่า สร้างรายได้ที่ยั่งยืน ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ ส่งเสริมงานศึกษาและวิจัยด้านทรัพยากรป่าไม้และบริการจากระบบนิเวศป่าไม้ รวมถึงงานวิจัยต่อยอดผลิตภัณฑ์/ผลผลิตจากป่า ส่งเสริม และจัดตั้งเขตป่าอนุรักษ์ที่ร่วมดูแลโดยชุมชน เพื่อให้ชุมชนชาติพันธุ์สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์จากป่าและร่วมอนุรักษ์ป่าได้ รวมถึงเปลี่ยนจุดอ่อนเป็นจุดแข็งสร้างการท่องเที่ยวเชิงนิเวศชุมชนให้คนในพื้นที่

Advertisement

อยากฝากถึงรัฐมนตรีและข้าราชการที่เกี่ยวข้องว่า เราควรคำนึงเสมอว่า “เราไม่ได้ต่อสู้กับชนชาติพันธุ์ที่อยู่ในป่ามาก่อน” แท้จริงแล้วเราต้องรับรองสิทธิของเขาและส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้เขาเพื่อให้เขาช่วยดูแลรักษาป่า ด้วยความเคารพในธรรมชาติและสิทธิมนุษยชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image