สนช.เล็งไม่ใช้เสียง2ใน3ดัน1นายกฯคนนอก แจง ไม่เขียนคำถามพ่วงให้ชัด หวั่นขัดรธน.

สนช.เล็งไม่ใช้เสียง2ใน3ดันคนนอก รับไม่ได้แจงชาวบ้านให้ส.ว.ชงชื่อนายกฯ

เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ กรรมาธิการสามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะ และรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) กล่าวว่า ในวันที่ 23 สิงหาคมเวลา 14.00 น.จะมีการประชุม กมธ. เพื่อพิจารณาข้อสังเกตที่กมธ.ยื่นข้อเสนอต่อกรธ. เรื่องการแก้ไขบทเฉพาะกาลร่างรัฐธรรมนูญให้สอดรับกับคำถามพ่วงประชามติ ทั้งนี้จากคำถามพ่วงที่ระบุให้ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น สนช.มีเจตนารมณ์หมายถึงให้ส.ว.สามารถเสนอชื่อนายกฯ และโหวตเลือกนายกฯได้อยู่แล้ว ไม่ได้ตีความเพิ่มเติมภายหลัง แต่ขั้นตอนการให้ส.ว.เสนอชื่อนายกฯได้ ต้องเกิดขึ้นหลังจากที่ไม่สามารถเลือกนายกฯจากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอมาได้ แต่ขณะนี้คนส่วนมากเข้าใจผิดว่า จะให้ส.ว.เข้าไปเสนอชื่อนายกฯตั้งแต่ขั้นตอนแรกเลย ซึ่งไม่เป็นความจริง นอกจากนี้ตามเจตนารมณ์ของคำถามพ่วงยังหมายถึง หากไม่สามารถเลือกนายกฯจากบัญชีพรรคการเมืองได้ในรอบแรก ก็ไม่จำเป็นต้องใช้เสียงจากที่ประชุมรัฐสภา 2 ใน 3 เพื่อขอยกเว้นการเลือกนายกฯนอกบัญชีพรรคการเมืองด้วย เพราะในคำถามพ่วงบอกให้การเลือกนายกฯเป็นหน้าที่ร่วมกันของที่ประชุมรัฐสภา จึงไม่มีความจำเป็นต้องมาขออนุญาตยกเว้นจากที่ประชุมรัฐสภา

นพ.เจตน์ กล่าวว่า ส่วนเหตุที่สนช.ไม่เขียนลงไปในคำถามพ่วงให้ชัดเจนว่า ให้ที่ประชุมรัฐสภาเสนอรายชื่อนายกฯ และให้ความเห็นชอบคนที่จะมาเป็นนายกฯ เพื่อให้เกิดความชัดเจน ไม่คลุมเครือ เนื่องจากคำถามพ่วงต้องมีเพียงประเด็นเดียว หากไปเขียนละเอียดกว่าที่ถาม จะกลายเป็นถามมากว่า 1 ประเด็นในคำถามพ่วง สุ่มเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ผู้สื่อข่าวถามว่า ช่วงการลงพื้นที่ชี้แจงประชาชนเรื่องคำถามพ่วง ได้บอกให้ประชาชนทราบหรือไม่ว่า ส.ว.สามารถเสนอชื่อนายกฯได้ด้วย นอกจากการโหวตเลือกนายกฯ นพ.เจตน์ตอบว่า ในส่วนคณะของตนมีหน้าที่แค่ไปตอบคำถามข้อสงสัยจากประชาชน ซึ่งประชาชนไม่ได้ถามในเรื่องดังกล่าว ส่วนสนช.คณะอื่นๆไปชี้แจงอย่างไร ตนไม่ทราบ

พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ สนช. กล่าวว่า ส่วนตัวไม่ทราบว่า ข้อเสนอของสนช.เป็นการตีความเกินเจตนารมณ์คำถามพ่วงหรือไม่ เพราะไม่ใช่นักกฎหมาย แต่จากการลงพื้นที่ชี้แจงต่อประชาชนบอกเพียงแต่ว่า ที่ประชุมรัฐสภามีหน้าที่ใช้ดุลยพินิจว่า ใครเหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ได้ลงลึกไปถึงขั้นว่า ส.ว.สามารถเสนอชื่อนายกฯได้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image