‘นิกร’ เชื่อ พิจารณาแก้ รธน.วาระสองไร้ปัญหา ยันทำให้แล้วเสร็จก่อนปิดสมัยประชุม 28 ก.พ.

‘นิกร’ เชื่อ พิจารณาแก้ รธน.วาระสองไร้ปัญหา ยันทำให้แล้วเสร็จก่อนปิดสมัยประชุม 28 ก.พ.

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ. … แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวดใหม่ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) กล่าวถึงการประชุมรัฐสภา วันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ ซึ่งมีวาระพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ กมธ.พิจารณาแล้วเสร็จ ว่า ระยะเวลา 1 วันครึ่งที่จะใช้พิจารณานั้นเชื่อว่าเพียงพอและไม่มีปัญหาใด และการพิจารณาในวาระสองนั้นจะแล้วเสร็จก่อนการปิดสมัยประชุมวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีสมาชิกรัฐสภาจำนวน 108 คนเสนอคำแปรญัตติไว้ โดยมี ส.ส.ของพรรคก้าวไกลจำนวนมากที่สุดคือ 47 คน รองลงมาคือ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ขณะเดียวกันมี กมธ.ที่สงวนคำแปรญัตติไว้อีกประมาณ 30 คน

ทั้งนี้ ประเด็นที่มีผู้ขอแปรญัตติจำนวนมากคือ เนื้อหาว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ส.ร. จำนวน 200 คน ซึ่งกมธ.ปรับแก้ไขให้มาจากการเลือกตั้ง โดยใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง ทั้งนี้ ยังมีผู้ที่ต้องการให้ใช้เขตประเทศ รวมถึงการแบ่งเขตเลือกตั้ง เป็นหลักเกณฑ์

Advertisement

นอกจากนั้น ยังพบรายละเอียดของการแก้ไขว่าด้วยกระบวนการแก้ไขโดย ส.ส.ร. ที่ กมธ.กำหนดกรอบให้ทำงานให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน ทั้งนี้ มีผู้ต้องการให้ลดเวลาทำงาน เหลือ 120 วัน, 180 วัน และมีผู้เสนอให้ใช้เวลาทำงาน 360 วัน เป็นต้น

ขณะเดียวกันยังมีประเด็นที่ขอให้เพิ่มเติมการเขียนกรอบกำหนดต่อการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีผู้ขอแปรญัตติจำนวนมาก สาระสำคัญ อาทิ ขอให้กำหนดกรอบยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ได้แก่ กำหนดการเลือกตั้งให้มีแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อ ด้วยบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ, กระบวนการได้มาของนายกรัฐมนตรี ให้มาจากที่ประชุมของสภาผู้แทนราษฎร, ที่มาของวุฒิสภามาจากเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง, ขอให้มีบทบัญญัติให้กรรมการองค์กรอิสระต้องยึดโยงกับประชาชน, มีกลไกถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ตุลาการ และองค์กรอิสระ เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในคำแปรญัตติของ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ยังมีผู้เสนอให้จำกัดสิทธิบุคคลที่มีตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อาทิ สภาปฏิรูปแห่งชาติ, คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุดของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน รวมถึงรัฐมนตรี และผู้ที่ได้รับประโยชน์ และเคยทำงานให้กับ คสช. ห้ามดำรงตำแหน่งเป็น ส.ส.ร. เป็นต้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image