เดินหน้าชน : มีนาฯ ร้อน

นับว่าครึ่งหลังของเดือนกุมภาพันธ์ต่อเนื่องไปถึงช่วงครึ่งแรกของเดือนมีนาคม มีเรื่องราวทางการเมืองต้องติดตามปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในรัฐสภา

อีเวนต์แรกแม้การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคลผ่านพ้นไป แต่อาฟเตอร์ช็อกกำลังมาจากการที่พรรคฝ่ายค้านเตรียมยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้ตรวจสอบเอาผิดรัฐมนตรีบางคนที่ถูกซักฟอก อาทิ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อาศัยบ้านพักทหาร

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย โครงการเตาเผาขยะ

Advertisement

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและ รมว.พาณิชย์ การจัดซื้อถุงมือยางขององค์การคลังสินค้า

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ผลักดันพวกพ้องนั่งเก้าอี้ใหญ่ในกระทรวงศึกษาธิการ

ช็อตนี้คงต้องดูกันยาวๆ ใครออกหัว ออกก้อย

Advertisement

แต่เร็ววันนี้ระหว่างวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ เป็นคิวประชุมรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
วาระที่ 2 เปิดทางตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ต้องไปดูกันว่าเนื้อหาจะมีการปรับเปลี่ยนไปจากสิ่งที่คณะกรรมาธิการนำเสนอหรือไม่ อย่างไร

ที่สุดแล้ว เชื่อกันว่าในวาระที่ 2 น่าจะผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาไปได้

ที่ต้องลุ้นกันตัวเก็งจะเกิดขึ้นคือ ระหว่างวันที่ 16-17 มีนาคม ในวาระประชุมสมัยวิสามัญที่รัฐสภาต้องพิจารณาและลงมติร่างแก้รัฐธรรมนูญในวาระที่ 3

มีเรื่องชวนระทึก 2 รอบ

เด้งแรก เป็นปมที่ผูกโดยญัตติ นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 ที่เปิดช่องให้ตั้ง ส.ส.ร.มาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

ขณะนี้ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องดังกล่าวไว้เรียบร้อย พร้อมทั้งขอแรงผู้เชี่ยวชาญกฎหมาย นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ฉบับที่ใช้อยู่ปัจจุบัน นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตกรรมการ กรธ. นายอุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการ กรธ. และ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่ถูกคว่ำไป) ช่วยทำความเห็นประเด็นปัญหานี้เสนอมายังศาลรัฐธรรมนูญภายในวันที่ 3 มีนาคม ต้องย้ำอีกครั้ง 3 ใน 4 คนข้างต้นร่วมยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

นายอุดมเคยให้ความเห็นถึงการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับว่า บทบัญญัติมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ มุ่งหมายให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราเท่านั้น ไม่ได้มุ่งหมายให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และไมมีบทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้จัดทำทั้งฉบับได้

จากนั้นศาลรัฐธรรมนูญจะมีการประชุมพิจารณาในวันที่ 4 มีนาคม

คาดหมายกันว่า มีความเป็นไปได้ศาลจะมีคำวินิจฉัยในวันนั้นเลย

หากผลออกมาให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกร่างใหม่ได้ รัฐสภาก็เดินหน้าต่อ

แต่ถ้าออกในทางตรงข้าม ก็เป็นอันปิดจ๊อบเลิกรากันไป

สมมุติหลุดรอดจากศาลมาได้ ก็มาเจอเด้งที่สอง รัฐสภาจะประชุมสมัยวิสามัญลงมติในวาระ 3 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากจะผ่านความเห็นชอบต้องใช้เสียงเกินกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา ที่สำคัญต้อง ส.ว.ร่วมเห็นชอบไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของ ส.ว.ที่มีอยู่ นับในปัจจุบันคือ ต้องไม่น้อยกว่า 84 เสียง

สำรวจท่าทีที่่ผ่านมาของ ส.ว. ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ก็พอจะเห็นเค้าลางการโหวตอยู่บ้าง

เดือนมีนาคมปีนี้ อุณหภูมิการเมืองร้อนระอุ

สัญญา รัตนสร้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image