รัฐสภารับหลักการ ร่างพ.ร.บ.ตำรวจฯ ตั้งกมธ. 49 คน ด้านภท.ไม่ส่งคนร่วมสังฆกรรม

รัฐสภารับหลักการ ร่างพ.ร.บ.ตำรวจฯ ตั้งกมธ. 49 คน ด้านภท. ไม่ส่งคนร่วมสังฆกรรม

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมรัฐสภา มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ… ซึ่งคณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ โดยเป็นการพิจารณาต่อจากการประชุมร่วมรัฐสภาครั้งที่ผ่านมา ทั้งนี้ มีสมาชิกอภิปรายแสดงความเห็นและข้อเสนอแนะอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับการใช้อิทธิพลทางการเมือง เพื่อแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้าย รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจที่ใช้หน้าที่และอำนาจรีดไถประชาชน จนถูกตั้งฉายาให้เป็นโจรในเครื่องแบบ รวมถึงกรณีการได้สิทธิพิเศษต่อการได้รับยศ หรือตำแหน่งที่สูงขึ้น พร้อมทั้งเสนอแนะให้กรรมาธิการที่แต่งตั้งพิจารณาปัญหาเพื่อปรับปรุงบทบัญญัติให้แก้ปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะปัญหาส่วยตำรวจที่ทำให้เกิดปัญหามากที่สุด

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายตอนหนึ่งว่า ในปัจจุบันการแทรกแซงการทำงานของตำรวจค่อนข้างยาก เพราะตำรวจอยู่ภายใต้นายกฯที่มาจากฝ่ายการเมืองเพียงคนเดียว แม้กระทั่งรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆก็เข้าไปแทรกแซงตำรวจค่อนข้างยาก ฉะนั้นการที่มีข้อกล่าวหาว่าการเมืองเข้าไปแทรกแซงตำรวจนั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ด้วยความลำบากในกฎหมายปัจจุบันนี้ ในขณะที่ยังไม่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ฉะนั้นปัญหาในปัจจุบันนี้อยู่ตรงที่ การบริหารตำรวจเกิดการรวมศูนย์อยู่ที่ผบ.ตร.เพียงคนเดียว ไม่ได้มีการกระจายอำนาจไปที่ผู้บัญชาการภาคต่างๆ อย่างแท้จริง เพราะเกิดจาก ม.44 สมัยที่คสช.ได้เปลี่ยนแปลงการบริหารงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยเฉพาะเรื่องของการแต่งตั้งโยกย้าย ดังนั้น สิ่งที่จะแสดงความคิดเห็นจากนี้ไปก็คงจะเลยในส่วนที่ทาง ครม.ได้เสนอกฎหมายในการรับหลักการไปแล้ว ในเรื่องนี้ตนขอตั้งข้อสังเกต 3 เรื่อง

เรื่องแรก เราจะเห็นว่า เรื่องของการแต่งตั้งโยกย้ายในอดีต เราจะเห็นผู้บัญชาการภาคนั้นมีอำนาจในการแต่งตั้งโยกย้าย แต่ในปัจจุบันนี้รวมศูนย์อยู่ที่ผบ.ตร.สิ่งเหล่านี้ตนอยากจะเห็นการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นดูแลโดยเฉพาะ อบจ. นั้นได้เข้ามาดูแลตำรวจในพื้นที่ และเราก็จะได้เห็นผบ.ตร. ดูแลจากส่วนกลางลงไป เวลามีการแต่งตั้งโยกย้ายก็ย้ายกัน แล้วก็บริหารจัดการจังหวัดนั้นๆด้วยตัวเอง และหากมีคดีสำคัญก็มีตำรวจจากส่วนกลางเข้าไปร่วมดำเนินการสอบสวนแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเรื่องความมั่นคง คดีสำคัญ คดีร้ายแรง ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทุกคนอยากจะเห็น การบริหารจัดการดูแลกันเองในท้องถิ่น โดยมีการคณะกรรมการจังหวัด โดยมีผู้ว่าการจังหวัดมีนายกอบจ.แล้วก็ให้อบจ.นั้น บริหารจัดการตำรวจแต่ละจังหวัดเอง สิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นข้อเสนอที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ในการกระจายอำนาจในการบริหารองค์กรตำรวจ

ประการที่ 2 ก็คือเรื่องการทำสำนวน ปัจจุบันนี้มีข้อร้องเรียนว่าสำนวนที่ตำรวจเป็นผู้ดำเนินการเมื่อไปถึงชั้นอัยการแล้วไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ตนจึงอยากเสนอว่า ในชั้นของการแปรญัตติหากเป็นไปได้ ก็อยากให้อัยการนั้นสามารถเข้ามาทำสำนวน ในคดีที่มีผู้ร้องเรียนหรือเป็นลักษณะคดีพิเศษ โดยเปิดโอกาสให้อัยการร่วมพิจารณาทำสำนวนได้ตั้งแต่ชั้นต้น ซึ่งจะสามารถทำให้เกิดเรื่องของการคานอำนาจกับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้และ ประการที่ 3 ปัจจุบันนี้ มีการนำตำรวจสายหลักกลับไปอยู่สายรอง สายรองกลับมาอยู่สายหลัก ก็คือนำพนักงานสอบสวนมาจับปืน และนำตำรวจที่จับปืนมาทำเอกสาร จากข่าวสารพบว่า ตำรวจเกิดความเครียดเพราะถูกจับไปวางอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ชำนาญ เรื่องนี้ถือว่าเป็นผลกระทบกับชีวิตข้าราชการตำรวจ แต่ไปกระทบถึงประชาชนด้วยเพราะว่าตำรวจที่เป็นสายปราบปรามมาอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวนส่งผลให้คดีต่างๆไม่มีความคืบหน้า ส่วนตัวจึงอยากเห็นการปฏิรูปตำรวจ ที่มีกฎหมายใหม่เข้ามา จะเกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชน เกิดประโยชน์กับตำรวจ

Advertisement

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ เป็นกฎหมายเพื่อวางระบบ แต่การวางระบบจะดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคน หรือ ตำรวจ 2.1 แสนคน ตำรวจมีคนที่ดี คนที่เลว แต่การวางระบบที่กำหนดไว้ดีแล้ว มีสมาชิกรัฐสภาสอบถามว่าหากทำกฎหมายแล้วส่วยจะหมดไป ตั๋วจะหมดไป หรือตำรวจจะดี ประชาชนนอนตาหลับหรือไม่ ตนมองว่าหากทำระบบให้ดีที่สุด ต่อไปคือการเคี่ยวเข็ญคนให้เข้าสู่ระบบและอาศัยการติดตาม หลักการคือ ปรับปรุงระบบตำรวจ ปรับปรุงอย่างไม่ถูกมัด ข้อสังเกตที่สมาชิกรัฐสภาเสนอเป็นคำแนะนำที่มีประโยชน์

จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ตำรวจด้วยเสียง 565 เสียง ต่อ 2 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง และตั้งคณะกรรมมาธิการวิสามัญฯ 49 คน มีรายชื่อที่น่าสนใจ

สำหรับรายชื่อ กมธ.การตั้งกรรมาธิการวิสามัญฯ จำนวน 49 คน ที่จัดสรรโควต้าให้ฝ่ายต่างๆ นั้น พบว่า สัดส่วนของพรรคภูมิใจไทยที่ได้โควต้า 3 คน ไม่ประสงค์ส่งชื่อร่วมเป็นกรรมาธิการ ส่วนรายชื่อกรรมาธิการ ที่น่าสนใจ อาทิ นายวิชา มหาคุณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต, พล.ต.อ.ปิยะ อุทาโย รอง ผบ.ตร., พล.ต.อ.อำนวย นิ่มมะโน กรรมการปฏิรูป ประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม, นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ, นายศุภชัย ยาวะประภาษ อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นายกล้านรงค์ จันทิก ส.ว. น.ส.จิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image