เปิดข้อกม. เหตุศาลอาญาส่งคำร้องขอประกันสุเทพ-3อดีตรมต.กับพวกให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา

เปิดข้อกม. เหตุศาลอาญาส่งคำร้องขอประกันสุเทพ-3 อดีตรมต.กับพวกให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา เผยเป็นไปตาม วิ.อาญา+ข้อบังคับ ปธ.ศาลฎีกา

เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 64 เฟซบุ๊คคดีโลกคดีธรรมซี่งเป็นเพจกฎหมายชื่อดังได้อธิบายข้อกฎหมายกรณีที่ศาลอาญามีคำสั่งกรณีการยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว นายสุเทพกับพวกรวม 8 คนให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาประกันซึ่งต่างจากกรณีจำเลยรายอื่นที่ได้ประกัน

ความว่า ตาม​ ป.วิ.อาญา​ มาตรา106(4)กฎหมายบอกว่า​ “เมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาแล้ว​ แม้ว่าคดียังไม่มีการอุทธรณ์​ ให้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวต่อศาลชั้นต้นได้​ ถ้าศาลชั้นต้นเห็นสมควรให้ปล่อยชั่วคราว​ ก็ให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งได้เลย​ แต่ถ้าศาลชั้นต้นไม่มีคำสั่งเองก็ให้รีบส่งคำร้องพร้อมด้วยสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้สั่ง

แต่เนื่อง​ ป.วิ.อาญา​ มาตรา​106(4) ไม่ได้กำหนดให้ชัดเจนลงไปว่า​ ศาลชั้นต้นมีอำนาจสั่งคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวได้ทุกกรณีเลยหรือไม่​

ดังนั้น​ ทางประธานศาลฎีกา​ จึงได้ออกระเบียบชื่อว่า​ “”ระเบียบราชการฝ่ายตุลาการ​ศาลยุติธรรม​ ว่าด้วย​ การปล่อยตัวชั่วคราว​ พ.ศ.2548โดยกำหนดให้​ ศาลชั้นต้นมีอำนาจสั่งคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวได้เฉพาะอัตราโทษจำคุกไม่กิน​ 3 ปี​ และ​จำเลยเคยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวมาแล้วในระหว่างการพิจารณาคดี​หากเกินจากนี้ให้ส่งคำร้องให้ศาลอุทธรณ์สั่ง หรือโทษสูงกว่า 3ปี​ และศาลชั้นต้นเห็นสมควร​ (เป็นไปตาม​ ข้อ​4,5 )​

Advertisement

ดังนั้น​ในคดีนี้ของแกนนำ​ กปปส.​ จำเลยบางคนที่ โทษน้อย​ ศาลชั้นต้นเห็นสมควรสั่งคำร้องเอง​ ส่วนจำเลยที่โทษหนัก ศาลชั้นต้นเห็นสมควรให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้สั่ง​ซึ่งก็เป็นไปตามตัวบทกฎหมายและดุลยพินิจ​

จำเลยที่ศาลชั้นต้นยังไม่ได้มีคำสั่งในเรื่องปล่อยตัวชั่วคราวก็​ ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำก่อน ตามหมายขังระหว่างพิจารณาที่ศาลออกหลังจากอ่านคำพิพากษาเพื่อรอการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์​ ตามปกติก็ใช้เวลา​1-2วันทำการ​แต่บางคดีอาจจะเป็นสัปดาห์ก็มีเช่นกัน​ แล้วแต่ศาลท่าน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image