รัฐสภา โหวต ‘ห้ามสสร.แก้หมวด1-2’ ส.ว.ชงอีก 38มาตรา ‘พระราชอำนาจ’ แต่ไม่เป็นผล

รัฐสภา- “ฝ่ายค้าน” ขออำนาจ ส.ส.ร.แก้หมวด1-หมวด 2 ด้าน รบ.- ส.ว.ค้านสุดตัว พร้อมเสนอห้ามแตะอีก 38 มาตราที่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจด้วย สุดท้ายโหวตตาม กมธ.เสียงข้างมาก

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ ที่รัฐสภา ในการประชุมรัฐสภา ที่มี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ. … แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญได้พิจารณาเสร็จแล้ว ต่อเนื่องเป็นวันที่สอง โดยเป็นการพิจารณาในมาตรา 256/10 เกี่ยวกับการสิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส.ร. และหลักเกณฑ์ว่าด้วยกรณีที่ส.ส.ร.ว่างลงนั้น กมธ.ได้ปรับแก้เนื้อหาในหลักการสำคัญ คือ กรณีที่ตำแหน่ง ส.ส.ร.ว่างลง ให้จัดการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง ภายใน 45 วัน ยกเว้นเวลาทำรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่ถึง 90 วัน โดย นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะ กมธ.ขอความเห็นจากที่ประชุมว่า เพื่อไม่ให้เกิดเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญที่ ส.ส.ร.มีส่วนเข้าไปร่าง จึงขอกำหนดข้อห้าม ไม่ให้ ส.ส.ร.ลงสมัครรับเลือกตั้งภายใน 2 ปี หลังจากที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ ก่อนที่ที่ประชุมลงมติเห็นด้วยตาม กมธ.แก้ไข ด้วยคะแนน 569 ไม่เห็นด้วย 1 งดออกเสียง 13 ไม่ลงคะแนน 4 เสียง

ส่วนการพิจารณาในมาตรา 2562/13 ว่าด้วยระยะเวลาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ โดย นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ตนขอเสนอให้ตัดบางวรรคออกไป โดยเฉพาะวรรคที่เขียนว่า “การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม หมวด 1 และหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจะกระทำมิได้” หากกรณีที่รัฐสภาวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญ มีลักษณะตามวรรค 5 ให้ร่างรัฐธรรมนูญเป็นอันตกไป ทั้งนี้เหตุผลที่ตนเสนอให้ตัดออกมี 2 ข้อ คือ 1.การแก้รัฐธรรมนูญอยู่ภายใต้มาตรา 255 ซึ่งกำหนดว่าการแก้รัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงระบอบประชาธิปไตยอันทรงมีพระมหากษัติย์เป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ จะกระทำมิได้ ดังนั้น ที่กังวลกันว่าการล้มล้างรัฐธรรมนูญจะเป็นการล้มล้างสถาบันหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองทำไม่ได้อยู่แล้ว

“ในทางตรงกันข้ามการห้ามแบบนี้ ทำให้ประชาชนสงสัยว่า ทำไมต้องห้าม เพราะในอดีตก็มีการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะกับกาลสมัยอยู่ตลอดเวลา เช่นการแก้รัฐธรรมนูญปี 60 ที่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐรรมนูญหลังการทำประชามติ โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ อ้างว่า มีพระราชกระแสรับสั่งให้มีการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ ใน 3-4 มาตรา จึงต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญที่นำขึ้นทูลเกล้าฯไปแล้ว โดยครั้งนั้นมาตราที่แก้ไขอยู่ในหมวดพระมหากษัตริย์ทั้งหมด แสดงว่าการแก้หมวด 1 และหมวด 2 เป็นเรื่องที่สามารถกระทำได้ ไม่ใช่เรื่องที่อยู่ๆ อยากจะทำก็ทำ แต่เป็นเรื่องที่กระทำมาโดยตลอด แต่ที่ผ่านมาเราพูดราวกับว่าทั้ง 2 หมวดนี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ ทั้งที่เมื่อมีการทำรัฐประหารก็มีความกระทบกระเทือนถึงเรื่องเหล่านี้แล้ว เหตุใดการตั้งส.ส.ร.ถึงไม่ให้ส.ส.ร.ทำรัฐธรรมนูญตามที่เขาคิดว่าเหมาะกับกาลสมัย ไปห้ามว่า หมวดนี้มาตรานี้ห้ามแตะแบบนี้ไม่เป็นผลดีต่อสถาบันฯ ยิ่งห้ามยิ่งเป็นผลเสีย” นายรังสิมันต์ กล่าว

นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า 2.การตั้งส.ส.ร.คือการให้มีคณะหนึ่งเพื่อไปกระทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในความเป็นจริงแล้วอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญก็ควรให้อยู่ที่ส.ส.ร.ด้วย ขณะที่สภาฯแห่งนี้ก็ยังคงมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญอยู่ แต่กลับไปห้าม ส.ส.ร.แตะหมวด1หมวด2 ขณะที่หากดูแล้วสภายังสามารถแก้หมวด 1 หมวด 2 ได้ หากแก้รายมาตรา อย่างนี้ไม่ตลกหรือ ตนจึงตั้งคำถามว่า การกำหนดไม่ให้ ส.ส.ร.แก้หมวด1หมวด2 เป็นความประหลาด ไม่สมเหตุสมผล ตนไม่เข้าใจจริงๆ ว่า เพื่อนสมาชิกจากฟากรัฐบาล และส.ว.จะเป็นปัญหาอะไรกับเรื่องนี้ถึงขนาดนี้ อย่าล็อกหรือบีบคอ ส.ส.ร.ให้เชื่อเหมือนพวกท่าน ควรปล่อยให้พวกเขาได้ทำหน้าที่อย่างอิสระ เชื่อว่า จะได้รัฐธรรมนูญที่ดีกว่าที่เป็นอยู่อย่างแน่นอน

Advertisement

ทั้งนี้ ระหว่างการอภิปราย นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว.ประท้วงว่า “มากเกินไปแล้ว พอแล้ว แตะสถาบันฯจนกระทั่งเลือกตั้งแพ้ทุกคราว พอเถอะ ถ้าอยากทำเรื่องสถาบันฯไปตอนหาเสียงหรือไม่ จบไหม”

ขณะที่ นายสมชาย แสวงการ ส.ว. อภิปรายเสนอว่า อยากให้ระบุอีก 38 มาตรา ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯเข้าไปในวรรค 5 ของมาตรา 256/13 ด้วย ว่า หากแตะต้อง เพราะหากแม้จะห้ามแตะต้องหมวด 1หมวด 2 แต่อีก 38 มาตรา ก็ยังแตะต้องได้ เช่นเดียวกับ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล

ส่วน นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรค ก.ก. อภิปรายว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องเอาไปบอก ส.ส.ร.ที่จะมีในอนาคต ไม่ใช่มาบอกพวกเรา เพราะ ส.ส.ร.ก็มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ไม่ได้มาจากการแต่งตั้งที่ไหน ดังนั้นไม่ต้องห่วงว่าจะมีใครไปบอกว่าให้ ส.ส.ร.เขียนรัฐธรรมนูญอย่างไรได้อยู่แล้ว

ทำให้มีการถกเถียงกันในประเด็นนี้อย่างมาก จน นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกมธ. เสนอขอพักการประชุม 5 นาที เพื่อปรึกษาในกมธ.ว่า จะขอเติมถ้อยคำถามที่ ส.ว.เสนอ เกี่ยวกับพระราชอำนาจ อีก 38 มาตรา เข้าไปในวรรค 5 มาตรา 256/13 หรือไม่ นายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ในฐานะประธานการประชุม ต้องสั่งพักการประชุม เพื่อให้กมธ.ไปหารือกัน

ต่อมา เวลา 17.55 น. ที่ประชุมกลับมาประชุมอีกครั้ง โดยเป็นการลงมติในมาตราดังกล่าว ซึ่งสมาชิกเห็นด้วยกับ กมธ.เสียงข้างมาก 349 คะแนน ไม่เห็นด้วย 200 คะแนน งดออกเสียง 58 ไม่ลงคะแนน 2 เสียง ซึ่งเท่ากับไม่มีการเติมข้อความในวรรค 5 เกี่ยวกับเรื่องพระราชอำนาจเข้าไปในร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 256/13

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image