ยธ.ร่อนบันทึกข้อความ ‘เพนกวิน’ แจงปมโพสต์ข้อความเฟซบุ๊ก ย้ำในคุกเล่นโซเชียลไม่ได้

ยธ.ร่อนบันทึกข้อความ ‘เพนกวิน’ แจงปมโพสต์ข้อความเฟซบุ๊ก ย้ำในคุกเล่นโซเชียลไม่ได้

เลขาฯรมว.ยุติธรรม แจงยิบหลังชาวเน็ตสงสัย ย้ำเรือนจำตรวจเข้มห้ามใช้มือถือ ไม่มีใครโพสต์เฟซบุ๊กได้จากในคุก ยันปฏิบัติตามมาตรฐานเดียวกันไม่มีสิทธิพิเศษ ชี้คนตั้งคำถามเข้าใจผิดไม่มีข้อมูลเพียงพอ

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ว่าที่ร้อยตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีมีผู้ตั้งคำถามในเฟซบุ๊กกลุ่มเกาะข่าวแห่งหนึ่ง สงสัยในการทำงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ว่าการโพสต์ข้อความของนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน และนายอานนท์ นำภา แกนนำกลุ่มราษฎร มีหลายครั้งนับแต่เริ่มเข้าเรือนจำ กรมราชทัณฑ์ได้ทำการตรวจค้นภายในเรือนจำและตั้งกรรมการสอบสวนเรื่องนี้ไม่พบว่ามีการใช้เครื่องมือสื่อสารภายในเรือนจำ

จึงสันนิษฐานได้ว่าเป็นการโพสต์ข้อมูลมาจากเครื่องมือสื่อสารภายนอก ซึ่งตอนนี้ได้แจ้งความร้องทุกข์ไว้กับพนักงานสอบสวนเรียบร้อยแล้ว เพื่อหาตัวบุคคลผู้เป็นคนโพสต์ข้อความดังกล่าว และนายพริษฐ์เคยยืนยันว่าได้เขียนข้อความให้กับเพื่อนภายนอกเป็นคนโพสต์ข้อความดังกล่าว

โดยขณะนี้กรมราชทัณฑ์ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลร่มเกล้าและ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) กองบัญชาการสอบสวนกลางเรียบร้อยแล้ว

Advertisement

ว่าที่ร้อยตรีธนกฤตกล่าวอีกว่า โดยเบื้องต้นสันนิษฐานว่าเป็นการรับข้อมูลมาจากการเข้าพบผู้ต้องหาเพราะปัจจุบันอยู่ในช่วงแพร่ระบาดโควิด กรมราชทัณฑ์มีมาตรการไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าพบผู้ต้องขังในเรือนจำได้เว้นแต่ทนายความ จึงเข้าใจว่าทนายความน่าจะเป็นผู้รับข้อมูลมาจากผู้ต้องขังและมาโพสต์เองหรือให้บุคคลที่สามารถเข้ารหัสเฟซบุ๊กของนายพริษฐ์และอานนท์ได้ ที่ผ่านมามีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนภายในเรือนจำมาแล้วหนึ่งครั้ง และได้รับการยืนยันจากนายนายพริษฐ์ว่าเป็นคนเขียนให้เพื่อนโพสต์มาแล้วครั้งหนึ่ง โดยมีเอกสารเป็นลายมือรับสารภาพของนายพริษฐ์

และที่ผ่านมา นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เข้าไปตรวจภายในเรือนจำเพราะว่ามีข่าวว่าผู้ต้องขังคดีการเมืองดังกล่าวมีการถูกทำร้ายและมีความเป็นอยู่ที่ลำบาก จึงเข้าไปตรวจสอบซึ่งปฏิบัติกับผู้ต้องขังรายอื่นๆ อย่างเท่าเทียมกัน ไม่เคยเลือกปฏิบัติ ถ้าผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวกังวลเรื่องของความยุติธรรมสีเทาหากตัวท่านหรือญาติเข้าไปอยู่ในเรือนจำทางราชทัณฑ์ก็ปฏิบัติตามระเบียบและข้อกฎหมายเช่นเดียวกันและเสมอภาคกันทุกคน

Advertisement

“ส่วนที่ถามว่าคดีวัดพระธรรมกายเป็นอย่างไร ขณะนี้ส่งฟ้องแล้ว และเป็นเรื่องที่เกิดก่อนที่นายสมศักดิ์จะมารับตำแหน่ง รวมทั้งคดีของนายบอส อยู่วิทยา ซึ่งเป็นอำนาจของอัยการ ซึ่งสำนักงานอัยการไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงยุติธรรม

ดังนั้น การแต่งตั้งโยกย้ายอัยการไม่เกี่ยวข้องกับกระทรวงยุติธรรม หรือ รมว.ยุติธรรม น่าจะเกิดจากความเข้าใจผิดของผู้ตั้งคำถาม ส่วนการกล่าวหาว่านายสมศักดิ์เทาๆ มาโดยตลอดอาจเข้าข่ายหมิ่นประมาท ผลงานที่ผ่านมาสามารถตรวจสอบได้โดยผ่านเว็บไซต์กระทรวงยุติธรรมว่านายสมศักดิ์ปฏิบัติราชการอะไรไปบ้าง แก้ปัญหาอะไรไปบ้าง” ว่าที่ร้อยตรีธนกฤตกล่าว

เลขานุการ รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า เรื่องการตั้งคำถามถึงกรณีใบเสร็จ 626 บาท ที่นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ใช้ซื้ออาหารภายในเรือนจำ ใบเสร็จนี้เป็นเรื่องปกติของการใช้จ่ายภายในเรือนจำ ซึ่งมีการปรับจากเดิม 300 บาท ให้ใช้ได้วันละ 600 บาท ตั้งแต่ปีใหม่ 2564 ในช่วงการควบคุมการระบาดของไวรัสโควิดเพราะมีการห้ามเยี่ยมญาติ และเมื่อสถานการณ์คลี่คลายมีการเปิดให้เยี่ยมญาติได้

จะปรับจำนวนเงินลงมาที่ 300 บาทตามเดิม และกรณีของนายพริษฐ์เป็นการซื้อของให้ของพ่อแม่ที่ซื้อให้ลูกในวันแรกที่เข้าเรือนจำ ซึ่งกรณีการเข้าเรือนจำวันแรกจะมีการผ่อนปรนให้ซื้อเกินวงเงินได้เล็กน้อย ซึ่งเรื่องนี้นายสมศักดิ์ได้เคยชี้แจงไปแล้วว่าผู้ต้องขังทุกคนได้สิทธิเหมือนกันหมด ไม่ได้เป็นการให้อภิสิทธิ์กับใครเป็นกรณีพิเศษ และปฏิบัติกับผู้ต้องขังทุกคนตามมาตรฐานเดียวกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image