‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ย้ำจุดยืนปชต.เต็มใบ-เท่าเทียม

‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ย้ำจุดยืนปชต.เต็มใบ-เท่าเทียม

หมายเหตุ – “มติชน” สัมภาษณ์พิเศษ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กับเส้นทางจากนักธุรกิจสู่การเมือง กับการปรับตัววางแผนทำพรรคให้เป็น “สถาบัน” ตั้งเป้าเปลี่ยนประเทศเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ

การทำงานตลอดเวลา 1 ปี หลังพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ถูกยุบ

ตลอด 1 ปีที่ผมเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ก็ต้องยอมรับว่า ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ผมขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองอันดับ 2 ของฝ่ายค้านในช่วงที่ประเทศไทยพบกับวิกฤตโควิด-19 ช่วงที่มีคนกรอกยาฆ่าแมลงฆ่าตัวตายหน้ากระทรวงการคลัง

ช่วงที่มีคนเป็นแม่บางคนฆ่าตัวตาย เพราะหาเงินซื้อนมให้ลูกกินไม่ได้ แต่แน่นอนว่าก็เป็นสิ่งที่คาดไว้อยู่แล้ว เพราะผมคลุกคลีอยู่กับการเมืองทั้งในไทยและต่างประเทศ ฉะนั้น จึงรู้ความหนักและความลึกของการเมือง

Advertisement

ในช่วงที่วิกฤตของประเทศนี้ จะหนักหนาสาหัสขนาดไหน ทั้งปัญหาประเทศภายนอก ปัญหาของแต่ละจังหวัด ปัญหาสังคม ปัญหาในสภาผู้แทนราษฎร และปัญหาในพรรค ผมคิดตลอดว่า คนเราล้มได้ ลุกเป็น ไม่ได้คิดว่าจะต้องเป็นผู้นำที่ไม่มีข้อเสียอะไร

แต่เป็นการรู้ว่ามีข้อเสียอะไรแล้วพร้อมปรับปรุงข้อเสียนั้น และพร้อมที่จะพาพรรคเดินต่อไปได้ ก็ค่อยๆ แก้ปัญหาไป

ในขณะเดียวกันต้องมีวิสัยทัศน์ที่จะเปลี่ยนกระบวนทัศน์ เปลี่ยนวิสัยทัศน์ และยุทธศาสตร์ในการทำการเมือง ที่เป็นการทำงานทางความคิดกับคน ว่า เมื่อประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ และสังคมมีความเท่าเทียม ทุกคนจะได้ประโยชน์

Advertisement

ผมจะมองการเมืองในภาพใหญ่ ส่วนเรื่องที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ที่ดูแล้วหนักหน่วงเหลือเกิน ก็จะกลายเป็นเรื่องเล็กๆ ไป หรือในมุมมองกลับกัน ผมไปมองในวันสุดท้ายของชีวิตนักการเมือง ที่กำลังจะขึ้นปราศรัยเพื่อปิดหน้าที่การเป็นนักการเมือง

แล้วมองกลับมาว่าตัวเองได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง หรือไม่ได้ทำอะไรไปบ้าง ก็จะได้รู้สึกว่าอุปสรรค และเส้นทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

ไม่ได้ทำให้รู้สึกว่า อยากจะท้อถอย หรือปล่อยปละละเลยหน้าที่ตัวเองแต่อย่างใด ซึ่งก็ไม่ได้คาดหวังว่าปัญหาจะน้อยลง เพียงแต่คาดหวังว่า ผม และ ส.ส.ของพรรค มีกำลังมากพอที่จะแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน ให้พวกเขาสามารถกินดีอยู่ดีมากขึ้น

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ตอนนี้คนบางกลุ่มก็อยากจะกอดอดีตเอาไว้ อีกกลุ่มก็โหยหาอนาคตที่ยังหาไม่เจอ ถ้าให้สรุปภายในประโยคเดียว คือ การยังหาฉันทามติไม่ได้ คนวัยกลางคนอย่างผมจึงเสนอตัวเข้ามา เพราะผมเข้าใจว่าคนที่อายุมากกว่าผมเป็นอย่างไร และขณะเดียวกันผมก็ยังไม่ห่างจากคนรุ่นใหม่ที่โหยหาอนาคต

นี่คือแพลตฟอร์มของพรรคผมที่อยากจะทำงานเพื่อศตวรรษที่ 21 ที่จะพาประเทศไทยไปให้ได้ และก้าวข้ามความบาดหมาง ความขัดแย้งในอดีตที่ขีดเส้นเป็นสองส่วน เพื่อให้ผู้มีอำนาจได้ปกครองง่ายๆ เราก็มาขีดเส้นใหม่

ถ้าดูการเมืองทั่วโลกตอนนี้แทบจะไม่ใช่เรื่องของซ้าย กับขวาอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องของข้างบน กับข้างล่าง คือ คน 1 เปอร์เซ็นต์ และ 99 เปอร์เซ็นต์

ผมต้องการทำการเมืองกับ 99 เปอร์เซ็นต์ เพราะผมเชื่อว่า หากทำการเมืองกับคนกลุ่มนี้ คน 1 เปอร์เซ็นต์จะได้ประโยชน์ หากเรากระจายอำนาจ และโอกาสในการทำมาหากิน จะทำให้ประเทศไทยไปต่อได้

ถึงแม้จำนวน ส.ส.จาก 80 กว่าคน จะเหลือ 53 คน เราจะต้องไม่ทำให้การทำกิจกรรมมีคุณภาพลดลง ผมเชื่อว่าเราได้พิสูจน์ตัวเองไม่มากก็น้อยว่าพรรคการเมืองที่มีอายุแค่ 1 ปี ก็ทำได้ไม่แพ้พรรคการเมืองที่อยู่มา 40-50 ปี ถือว่าประสบความสำเร็จ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้คิดว่าพรรคของผมเพอร์เฟ็กต์ คือยังมีจุดอ่อน เรื่องการทำงานภายในพรรค เกี่ยวกับการหากลยุทธ์ของพรรคในระยะยาว

และการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ผมเคยอยู่ภาคเอกชนมาก่อน ฉะนั้นผมจึงมีความเข้าใจในวิถีชีวิต และแนวการบริหารสถาบันทั้งเอกชน หรือรัฐบาล แม้การบริหารพรรคการเมืองกับการบริหารภาคเอกชนจะต่างกัน

แต่ก็ต้องแสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง โดยในเดือนมีนาคม จะเปิดตัวหลักสูตรทางการเมืองของพรรคในชื่อ Future Candidate Program เป็นกระบวนการคัดเลือกผู้ที่จะมาเป็นว่าที่ผู้สมัคร ที่ต้องมีความพร้อม อุดมการณ์ที่สอดคล้องกับพรรค ที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ ให้คนไทยเท่าเทียมกัน เท่าทันโลก มีความเป็นสากล และมีทักษะของนักการเมืองที่ดี

เช่น การอภิปราย การสรุปประเด็น และการเข้าหาผู้คน ผมมีเวลาอีก 2 ปีในการทำงาน และไม่มีข้ออ้างว่า เราเป็นพรรคการเมืองใหม่ จึงต้องรีบจัดการทรัพยากรบุคคลให้เสร็จ เพื่อให้เขาได้ลงพื้นที่

และให้ผมได้เข้าไปสนับสนุนเขา เพื่อให้เขาเข้าใจเรื่องเกี่ยวกับปัญหาในท้องถิ่นอย่างถึงลูกถึงคน ไม่ใช่แค่รู้ว่าปัญหาจากการทำเหมืองนี้เกิดจากการปล่อยควันอย่างเดียว แต่ต้องเข้าใจว่า

การตั้งโรงงานแบบนี้ได้ เป็นผลมาจากกฎหมายอีไอเอ พ.ร.บ.แร่ 2560 และมีนายทุนที่หนุนหลังอยู่ คือต้องมีความลึกในการแก้ไขปัญหา เราต้องเติมคนที่เก่งขึ้น เติมนโยบายให้ดีขึ้น

เพื่อแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชน แต่ในกรณีที่เกิดการยุบสภา ก็ยิ่งต้องทำให้กระบวนการนี้ชัดมากยิ่งขึ้น ต้องทำกลยุทธ์ และนำจุดแข็งของพรรคไปเชื่อมกับความต้องการภายนอก

ในขณะเดียวกันก็ต้องอุดรูสิ่งที่เป็นจุดอ่อนของพรรคมาตลอดอย่างกล้าหาญ และมีกระบวนทัศน์ที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้พรรค ก.ก.เป็นสถาบันทางการเมืองต่อไปในอนาคต ไม่ใช่พรรคชั่วคราว

⦁จะให้คะแนนประเมินผลงานของพรรคจาก 100 คะแนน

ผมไม่หลงกล และให้คะแนนตัวเอง แต่ให้ประชาชนให้คะแนนพวกผมดีกว่า แต่ก็เกินความคาดหมายของผม เช่น การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ผ่านมา ซึ่งรู้สึกภูมิใจกับ ส.ส.ทุกคนที่ได้ตั้งใจเตรียมตัวและข้อมูลกันหลายเดือน และมียุทธการตามเรื่องต่อ

ทันเกมในงานในทางการเมืองบ้างหรือไม่

ผมไม่ได้เตรียมตัวมาเป็นนักธุรกิจอย่างเดียว เพราะเมื่อปี 2545 ก็เริ่มอยู่ในทำเนียบรัฐบาล และในกระทรวงพาณิชย์ ก่อนไปเรียนต่อการเมืองการปกครองที่สหรัฐอเมริกา ตอนนี้เพื่อนของผมเป็นรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ที่สิงคโปร์ เป็นรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมที่โคลัมเบีย

อีกคนเป็นลูกของ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ซึ่งก็พูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกันเสมอ แต่ผมก็ไม่ได้เก่งไปเสียทุกเรื่อง ยังมีเรื่องต้องเรียนรู้อีกเยอะ แม้ไม่ได้ดีดนิ้วเปลี่ยนมาเป็นนักการเมืองเลย แต่ก็เตรียมตัวมาอย่างน้อย 15 ปี ศึกษาทั้งการเมืองไทย และการเมืองโลก สิ่งไหนที่นำมาใช้ได้กับการทำพรรคเมืองไทยก็นำมาปรับ

อธิบายคำว่า การเมืองสั้นๆ ได้ว่า “ใครได้อะไร เมื่อไหร่” รวมถึง ส.ส. ประชาชน และรัฐมนตรีด้วย เราอยากจะทำการเมืองในแนวทางของตัวเอง และหาสมดุลระหว่างผลลัพธ์กับกระบวนการ ระหว่างชัยชนะกับความเป็นนักการเมืองที่ดีอย่างที่ตั้งใจที่จะเข้ามาทำการเมือง ไม่ใช่เล่นการเมือง ยกตัวอย่างให้เป็นรูปธรรมคือ ในอนาคต พรรค ก.ก.ต้องมีหัวคะแนน

ซึ่งไม่ใช่แบบเก่าที่มีผลประโยชน์ และแจกเงิน แต่เป็นหัวคะแนนทางอุดมการณ์ และความเชื่อว่าประเทศไทยเปลี่ยนแปลงได้ มีความเข้าใจความต้องการ และปัญหาของพื้นที่ บอกคนในพื้นที่ได้ว่า เมื่อเลือกผมมาเป็นนักการเมือง นี่คือสิ่งที่ผมจะทำให้คุณ

แล้วเขาก็จะพร้อมมาเป็นหัวคะแนนให้ผม และไปพูดกับคนที่รู้จักทุกคนว่าต้องเลือกพรรค ก.ก.เป็นรัฐบาล เพราะพรรคนี้เข้าใจปัญหาถึงแก่น

และรู้ว่าดาวเหนือของการคมนาคม สิ่งแวดล้อม การทำเหมืองคืออะไร ทั้งปัญหาระดับที่ผิวเผินที่สุด จนมาถึงระบบกฎหมาย และผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจ หากผมหันหลังไปแล้วมีคนอยู่ข้างหลังผมเยอะพอ ก็จะสามารถทำให้สิ่งที่เราตั้งใจทั้งการผลักดันกฎหมายต่างๆ สามารถไปได้ไกล

⦁จุดยืนและอุดมการณ์มีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่ ในภาวะการเมืองเช่นนี้

อุดมการณ์ และจุดยืนเรายังเหมือนเดิม ยืนยันว่าต้องการเห็นประชาธิปไตยเต็มใบ สังคมเท่าเทียม และเศรษฐกิจที่ก้าวหน้า แต่ถ้าจุดยืน 10 ปี ไม่เปลี่ยนแปลงเลย ในขณะที่สถานการณ์เปลี่ยนไปหมด หรือหากปีต่อๆ ไปประชาชน และเยาวชนจำนวนมากกำลังได้รับผลกระทบจากกฎหมายที่สามารถทำลายชีวิตคนได้ หากมโนธรรมสำนึกเราไม่สามารถที่จะตอบสนองได้

ผมว่ามันก็ไม่ใช่ มันไม่ใช่ว่าก่อนหน้านี้เคยพูดว่าอะไร แต่เมื่อประชาชนลำบาก เราก็ต้องปรับเพื่อให้สอดคล้องกับสังคม หากสภาไม่สามารถทำสิ่งที่สอดคล้องกับสังคมได้ ก็ไม่ควรมีสภา ฉะนั้น จุดยืนยังเหมือนเดิม แต่ก็ต้องมีการปรับให้เข้ากับสถานการณ์ เป็นตรรกะและสามัญสำนึกที่คนทั่วไปเข้าใจได้

ทั้งนี้ เราก็ต้องคาดหวังกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นไว้ ว่าจะแย่ได้มากสุดขั้นไหน ชีวิตคนเราก็ทำได้แค่นี้ จะกลัวไปเสียทุกอย่างแล้วไม่ทำอะไรเลย มันก็ไม่ได้ แต่จะให้ทำแบบบ้าบิ่น ทำตามหัวใจ ไม่เอาสมองไปด้วย ก็ไม่ได้อีกเช่นเดียวกัน มันคือความเป็นจริงของมนุษย์

ถ้ามันถึงเวลาต้องเดินต่อก็ต้องเดินต่อ และรับฟังความคิดเห็นของทุกคน เพื่อให้เกิดการตกผลึก เมื่อต้องก้าวก็ต้องก้าว อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ก็แค่นั้น

⦁ประสบการณ์นักเรียนนอก ปรับใช้กับการเมืองไทย

ผมเรียนและเติบโตที่ต่างประเทศทำให้ได้ซึบซับความหลากหลายของวิถีชีวิต ในช่วงทำธุรกิจเกี่ยวกับข้าว ต้องพบกับพี่น้องชาวนาชาวไร่ที่ประสบปัญหาที่ดินทำกิน ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย เทคโนโลยี เมื่อต้องเกี่ยวก็ไม่รู้ว่าราคาข้าวเปลือกอยู่เท่าไหร่ ผมก็เดินทางตั้งแต่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ชัยนาท นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก ก็จะรู้ถึงชีวิตของโรงสีข้าว ท่าข้าว

รู้ว่าชีวิตของคนทุกชนชั้นเป็นอย่างไร โดยในวันปกติก็เดินทางไปต่างประเทศ เพื่อเจรจานำสินค้าไปขาย จึงได้เห็นทั้งไทยและเทศ ในทุกระดับของห่วงโซ่ จริงอยู่ที่เรียนและใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศ

แต่ก็ไม่ได้ลดความเป็นไทยผมแน่นอน และเชื่อว่าผมมีความเข้าใจในคนที่ทำงาน 3-4 อย่าง แต่ก็ยังยากลำบากดูแลครอบครัวไม่ได้มันเป็นอย่างไร นอนกลางดิน กินกลางทรายได้แน่นอน

ผมเกิดความสนใจการเมืองเมื่อตอนอายุประมาณ 10 กว่าขวบ ครั้งไปเรียนต่อที่นิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศเกษตรกรรม ที่มีทีวีอยู่ 3-4 ช่อง สมัยนายกรัฐมนตรี จิม โบลเจอร์ หนึ่งในช่องนั้นคือ ช่องของรัฐสภา เปิดเข้าไปก็เห็นนายกฯ กำลังอธิบายวิสัยทัศน์ของประเทศ ตอนนั้นก็เริ่มสนใจการเมือง เมื่อไปเรียนที่รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา

ก็เป็นช่วงการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ ระหว่าง จอร์จ ดับเบิลยู. บุช กับ อัล กอร์ ที่ต้องนับคะแนนกันใหม่ ผมได้มีโอกาสคลุกคลีกับการรณรงค์หาเสียง นอกจากนี้ ยังได้เรียนการเมืองการปกครองที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่มีนักเรียนนานาชาติ 60 เปอร์เซ็นต์ และอเมริกัน 40 เปอร์เซ็นต์

ดังนั้น จึงได้พบกับคนซิมบับเว คนฟิลิปปินส์ คนเบอร์มิวด้า คนจาไมก้า ที่เป็นประเทศที่กำลังพัฒนาคล้ายกับไทย แต่ยืนยันว่า ความเป็นไทย วิธีคิด และความเข้าใจประวัติศาสตร์การเมืองไทยไม่ได้ลดน้อยลง

⦁เป้าหมายสูงสุดของการทำงานการเมืองจะไปไกลถึงการเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่

กินข้าวทีละคำ กินชาทีละถ้วย ตอนนี้ก็ต้องทำให้พรรคเข้มแข็ง เป็นพรรคที่หัวหน้าไม่ต้องคิดทุกเรื่อง มีเวลาบริหารจัดการจนสมองโล่งว่างยาวๆ คิดไปข้างหน้าอย่างที่ผู้นำควรจะทำ

ถ้า ส.ส.ให้การสนับสนุน เห็นด้วยกับวิสัยทัศน์ของผม และประชาชนให้ฉันทามติ เพื่อให้ผมเป็นผู้นำประเทศ เมื่อถึงเวลานั้น ก็คงต้องตอบว่าพร้อม แต่ตอนนี้คงเรียงลำดับความสำคัญ เร็วช้าหนักเบาทีละเรื่อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image