ทีมงานทำเนียบ ออกคำชี้แจงชุดใหญ่ โต้ 6 ข้อกล่าวหาศก. ชี้ไทยเหลื่อมล้ำลดลง

ทีมงานทำเนียบ ออกคำชี้แจงชุดใหญ่ โต้ 6 ข้อกล่าวหาศก. ชี้ไทยเหลื่อมล้ำลดลง-ฐานะการคลังไม่ถังแตก

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ทีมงานทำเนียบรัฐบาล ได้ออกคำชี้แจงชุดใหญ่ โต้ 6 ข้อกล่าวหาในประเด็นเศรษฐกิจต่างๆ ทั้งเรื่อง หนี้สาธารณะ ต่อ GDP หนี้ครัวเรือน และ เงินกู้โควิด

1 ในประเด็นคำกล่าวหาที่ว่า “สุดช็อค ธนาคารโลกประจานเศรษฐกิจไทยกำลังเจ๊งทั้งระบบเพราะรัฐบาลโกง ยอดคนอดตายพุ่งเกินครึ่งของประชากรหรือราว 40 ล้านคน (57%) คนไทยรายได้ต่ำกว่า 150 บาท/วัน เพิ่มขึ้น 100% ตัวเลขหนี้ประเทศพุ่งทะลุเพดานสูงสุดในรอบ 18 ปี รวม 13 ล้านล้านบาท สูงแตะ 88-90% ต่อจีดีพี การคลังถังแตก-คนจนไม่มีจะแดก รัฐบาลกู้มือเติบ 7 ล้านล้านบาท ผลาญงบประมาณต่อท่อน้ำเลี้ยงคอร์รัปชั่น ธนาคารโลก (World Bank) เปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจไทยในสภาวะวิกฤติ ผู้มีรายได้น้อย/คนไม่มีรายได้พุ่ง 40 ล้านคน หรือเกือบเท่ากับ 2 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ จากการขอรับสิทธิ์ช่วยเหลือช่วงโควิดจากรัฐบาล”

ทีมงานทำเนียบ เปิดเผยว่า อ้างอิงจาก กระทรวงการคลังและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในปี 2563 จากสถานการณ์โควิทเศรษฐกิจประเทศต่างๆทั่วโลก ต่างก็มี GDP หดตัวเศรษฐกิจไทยหดตัวที่ร้อยละ -6.1 ต่อปี ซึ่งไม่ได้เป็นประเทศที่หดตัวต่ำที่สุดในอาเซียนแต่อย่างใด เศรษฐกิจประเทศอื่น ๆ ทั้งในอาเซียนและทั่วโลกต่างก็มีเศรษฐกิจที่หดตัวในระดับสูงเช่นกัน เช่น สหราชอาณาจักรหดตัวร้อยละ -9.9 ฟิลิปปินส์หดตัวร้อยละ -9.5 ยูโรโซนหดตัวร้อยละ -6.8 ฮ่องกงหดตัวร้อยละ -6.1 สิงคโปร์หดตัวร้อยละ -5.8 และมาเลเซียหดตัวร้อยละ -5.6 เป็นต้น

ประเทศไทยยังคงรักษาอันดับความน่าเชื่อถือ (Sovereign credit rating) และมุมมองความน่าเชื่อถือ (Outlook) จากทั้งบริษัท S&P Moody’s และ Fitch ที่เป็นสถาบันจัดอันดับเครดิตแนวหน้าของโลก จากเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง เสถียรภาพทางการคลังและวินัยทางการคลังที่อยู่ในเกณฑ์ดี ฐานะการคลังของประเทศไม่ได้ถังแตกอย่างที่กล่าวหา ระดับเงินคงคลังปลายงวด ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 อยู่ที่ 473,000 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าปีงบประมาณก่อนหน้า ถึงร้อยละ 49.5

Advertisement

มาตรการช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐในช่วงที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากโควิทผ่านโครงการเราไม่ทิ้งกัน เราชนะ ม.33 เรารักกัน คนละครึ่ง บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้ได้รับประโยชน์ครอบคลุม เกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย ผู้ประกอบการรายย่อย พ่อค้าแม่ค้าในตลาด ชุมชน ร้านค้าขนาดเล็ก ให้ก้าวพ้นผลกระทบทางเศรษฐกิจไปพร้อมกัน การที่ประชาชนได้รับความช่วยเหลือราว 40 ล้านคน ไม่ได้แปลว่าเป็นคนอดตายอย่างที่กล่าวหา

หนี้สาธารณะต่อ GDP ของประเทศไทยปัจจุบันอยู่ที่ 52% ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายวินัยการเงินการคลังไม่เกิน 60% ของ GDP ในขณะที่ประเทศอื่นมีหนี้สาธารณะต่อ GDP สูงกว่าไทยมาก บางประเทศอยู่ในระดับเกินกว่า 100% เช่น ญี่ปุ่น 226% กรีซ 205% อิตาลี 162% สหรัฐอเมริกา 131% เป็นไปในทิศทางเดียวกับหลายประเทศในกลุ่มภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่หนี้สาธารณะต่อ GDP สูงกว่าไทย เช่น สิงคโปร์ 131% มาเลเซีย 68%

2. คำกล่าวหาว่า เจ๊งทั้งประเทศ คอร์รัปชั่นรัฐบาลประยุทธ์ฉุดประเทศถอยหลัง เศรษฐกิจพุ่งดิ่งลงเหว การคลังถังแตก-คนจนไม่มีจะแดก สอดคล้องกับตัวเลขคนจนที่พุ่งสูงขึ้น 100% โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าวันละ 150 บาท (ครึ่งนึงของค่าแรงขั้นต่ำ) มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 4.7 ล้านคน เป็น 9.7 ล้านคนในปัจจุบัน นอกจากนี้ธนาคารโลกยังงัดตัวเลขตอกย้ำความเน่าเฟะในยุคลุงตู่อีกด้วยว่า อัตราความยากจนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7.2 ปี 2558 เป็นร้อยละ 9.8 ปี 2561 สวนทางกับการเติบโตของเศรษฐกิจ

Advertisement

ทีมงานทำเนียบ ชี้แจงว่า ความจริงแล้ว คือการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนทั้งประเทศ ข้อมูลจาก กระทรวงการคลัง และ สภาพัฒน์ฯ ภาพรวมในปี 2563 จากสถานการณ์โควิด เศรษฐกิจประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างก็มี GDP หดตัว เศรษฐกิจไทยหดตัวที่ร้อยละ -6.1 ต่อปี ซึ่งไม่ได้เป็นประเทศที่หดตัวต่ำที่สุดในอาเซียนแต่อย่างใด เศรษฐกิจประเทศอื่น ๆ ทั้งในอาเซียนและทั่วโลกต่างก็มีเศรษฐกิจที่หดตัวในระดับสูงเช่นกัน เช่น สหราชอาณาจักรหดตัวร้อยละ -9.9 ฟิลิปปินส์หดตัวร้อยละ -9.5 ยูโรโซนหดตัวร้อยละ -6.8 ฮ่องกงหดตัวร้อยละ -6.1 สิงคโปร์หดตัวร้อยละ -5.8 และมาเลเซียหดตัวร้อยละ -5.6 เป็นต้น

ฐานะการคลังของประเทศไม่ได้ถังแตกอย่างที่กล่าวหา ระดับเงินคงคลังปลายงวด ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 อยู่ที่ 473,000 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าปีงบประมาณก่อนหน้า ถึงร้อยละ 49.5

รายงานธนาคารโลก (World Bank) สถานการณ์ความยากจนในประเทศไทยภาพรวม ช่วง 30 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มลดลง อัตราการลดลงของความยากจนในประเทศไทย ลดลงจากร้อยละ 65.2 ในปี 2531 ไปสู่ร้อยละ 9.9 ในปี 2561

ความเหลื่อมล้ำมีแนวโน้มลดลงในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ในปี 2531 ลดลงจาก 0.44 ไปสู่ 0.36 ในปี 2561 และจากการสำรวจล่าสุดถึง ตุลาคม 2563 พบว่าไทยมีแนวโน้มความเหลื่อมล้ำลดลงมากที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน

รายงานสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่าสถานการณ์ความยากจนในปี 2562 ปรับตัวในทิศทางดีขึ้น เมื่อเทียบกับปี 2557 โดยสัดส่วนคนจนลดลงจากร้อยละ 10.53 ในปี 2557 มาอยู่ที่ร้อยละ 6.24 ในปี 2562 จำนวนคนจน 4.3 ล้านคน ในปี 2562 ลดลงจากปี 2556 ที่มีอยู่ประมาณ 7.3 ล้านคน และ

สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำปรับตัวดีขึ้น เมื่อเปรียบเทียบจากปี 2556 ถึงปี 2562 ดัชนีความเหลื่อมล้ำปรับตัวดีขึ้นจาก ปี 2556 อยู่ที่ 0.465 เป็น 0.430 ในปี 2562 โดยเฉพาะ สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำด้านรายจ่าย ด้านการศึกษาและด้านสวัสดิการปรับตัวดีขึ้น เมื่อเปรียบเทียบจากปี 2556 ถึง ปี 2562

3. คำกล่าวหาว่า หนี้ท่วมทะลุเพดาน ‘ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ รัฐบาลที่สร้างหนี้มากสุดในประวัติศาสตร์ แต่เศรษฐกิจไทยก็เจ๊งมากสุดในประวัติศาสตร์เช่นกัน ตัวเลขหนี้ล้นเพดานเติบโตพุ่งพรวดไปพ้อมกับความเหลื่อมล้ำ ตอกย้ำเศรษฐกิจลิเกหลวงที่ใช้ระบบเอื้อศักดินาแล้วปล่อยปลาเล็กปลาน้อยตายเรียบ

คำอธิบายโดย อ้างอิงจาก กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ สำนักงบประมาณ ระบุว่า หนี้สาธารณะต่อ GDP ของประเทศไทยปัจจุบันอยู่ที่ 52% ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายวินัยการเงินการคลังไม่เกิน 60% ของ GDP ในขณะที่ประเทศอื่นมีหนี้สาธารณะต่อ GDP สูงกว่าไทยมาก บางประเทศอยู่ในระดับเกินกว่า 100% เช่น ญี่ปุ่น 226% กรีซ 205% อิตาลี 162% สหรัฐอเมริกา 131% เป็นไปในทิศทางเดียวกับหลายประเทศในกลุ่มภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่หนี้สาธารณะต่อ GDP สูงกว่าประเทศไทย เช่น สิงคโปร์ 131% มาเลเซีย 68%

ทุกวันนี้เรามีภาระที่ต้องจ่ายในเรื่องผลการขาดทุนจำนำข้าว ของรัฐบาลปี 2555 ที่รัฐบาลปัจจุบัน ยังต้องตั้งงบประมาณชดใช้หลายปีแล้ว ตั้งแต่ดำเนินโครงการนี้มา มีภาระที่รัฐชดเชยใช้ไปแล้วกว่า 705,018.05 ล้านบาท เดือนธันวาคม 2563 เราเหลือหนี้จำนำข้าว อยู่ประมาณ 288,401.35 ล้านบาท ไม่รวมดอกเบี้ยอีก 803.08 ล้านบาท ยังต้องตั้งงบประมาณชดใช้แบบไม่ได้อะไรปีละประมาณ 23,000 ล้านบาท และต้องตั้งไปอีก 12 ปี จึงจะหมด

นอกจากนี้ยังมีภาระหนี้จากโครงการบ้านเอื้ออาทรที่ดำเนินการไปแล้ว ทิ้งหนี้ไว้ให้การเคหะฯ กว่า 20,000 ล้านบาท มีบ้านที่สร้างเสร็จแล้วขายไม่ได้หลายหมื่นยูนิต สิบปีที่ผ่านมา การเคหะฯ แบกรับภาระจากโครงการบ้านเอื้ออาทร ที่ล้มเหลว ยอดความเสียหายกว่า 10,000 ล้านบาท ไม่รวมหนี้เน่า ภาระดอกเบี้ยที่กู้มาสร้างแล้วขายไม่ได้ ค่าส่วนกลางที่ต้องจ่าย เพราะไม่มีผู้เช่าห้อง ค่าซ่อมแซมห้องที่ชำรุดเพราะสร้างมานาน 10 ปีแล้ว ซึ่งก็กลายมาเป็นภาระของรัฐบาลนี้ทั้งสิ้น

4. คำกล่าวหาว่า ไทยเหลื่อมล้ำพุ่งรอบ 10 ปี รวยจนห่างกันสูงสุด 20 เท่า หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีเพิ่มทะลุ 80% คนจนมีโอกาสเรียน ป.ตรีแค่ 3% เมื่อพิจารณาในส่วนของผู้ที่มีรายได้มากที่สุดแตกต่างจากผู้ที่มีรายได้น้อยสุดกว่า 20 เท่า โดยมีกลุ่มคนชนชั้นกลางอยู่ประมาณ 35% สะท้อนถึงการกระจุกตัวของรายได้ในกลุ่มบน และการแบ่งปันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ทั่วถึงไปสู่คนกลุ่มล่าง แม้ดูจะดีขึ้นจากปี 2550-2561 แต่จำนวนคนยากจนในปี 2560-2563 มีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณว่าจำนวนคนจนจะเพิ่มขึ้นมาในช่วง 3 ปีหลัง

ทีมงานทำเนียบ อธิบายว่า รายงานธนาคารโลก (World Bank) สถานการณ์ความยากจนในประเทศไทยภาพรวม ช่วง 30 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มลดลง อัตราการลดลงของความยากจนในประเทศไทย ลดลงจากร้อยละ 65.2 ในปี 2531 ไปสู่ร้อยละ 9.9 ในปี 2561 และ ความเหลื่อมล้ำมีแนวโน้มลดลงในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ในปี 2531 ลดลงจาก 0.44 ไปสู่ 0.36 ในปี 2561 และจากการสำรวจล่าสุดถึง ตุลาคม 2563 พบว่าไทยมีแนวโน้มความเหลื่อมล้ำลดลงมากที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน

รายงานสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่าสถานการณ์ความยากจนในปี 2562 ปรับตัวในทิศทางดีขึ้น เมื่อเทียบกับปี 2557 โดยสัดส่วนคนจนลดลงจากร้อยละ 10.53 ในปี 2557 มาอยู่ที่ร้อยละ 6.24 ในปี 2562 จำนวนคนจน 4.3 ล้านคน ในปี 2562 ลดลงจากปี 2556 ที่มีอยู่ประมาณ 7.3 ล้านคน

สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำปรับตัวดีขึ้น เมื่อเปรียบเทียบจากปี 2556 ถึงปี 2562 ดัชนีความเหลื่อมล้ำปรับตัวดีขึ้นจาก ปี 2556 อยู่ที่ 0.465 เป็น 0.430 ในปี 2562 โดยเฉพาะ สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำด้านรายจ่าย ด้านการศึกษาและด้านสวัสดิการปรับตัวดีขึ้น เมื่อเปรียบเทียบจากปี 2556 ถึง ปี 2562

มาตรการของรัฐที่ช่วยลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ/การจัดที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อย บ้านเช่า บ้านผู้สูงอายุ /การจัดสรรที่ดินทำกินให้กับเกษตรกร / การคืนโฉนดให้กับประชาชนผู้ยากไร้ / การปราบปรามหนี้นอกระบบ / การแก้ปัญหาคนไร้รัฐที่พึ่งมาทำสำเร็จในช่วง 6 ปี ที่ผ่านมา / การแก้ไขกฎหมายให้ประชาชนมีโอกาสหารายได้จากการปลูกไม้มีค่า 58 ชนิด ในพื้นที่ของตัวเอง / การจัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา / การจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ / โครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิ์ทุกที่ / การให้เงินอุดหนุนเบี้ยคนชรา /การเพิ่มเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด เป็น 600 บาท ให้ถึง 6 ปี / การเพิ่มเบี้ยคนพิการ จาก 800 บาท เป็น 1,000 บาทต่อเดือน

5. จากข้อกล่าวหาว่า เลขหนี้ครัวเรือนของประเทศพุ่งสูงแตะ 88-90% ต่อจีดีพี สูงสุดในรอบ 18 ปี สอดคล้องกับปัญหาเศรษฐกิจพังจากฐานราก คนไทยชักหน้าไม่ถึงหลัง รายได้เท่าเดิมแต่หนี้สินเพิ่มขึ้น

ทีมทำเนียบ ชี้แจงว่า หนี้สินครัวเรือนของประเทศไทยในไตรมาส 4 ปี 2562 อยู่ที่ 13.49 ล้านล้านบาท ในขณะที่ ไตรมาส 3 ปี 2563 อยู่ที่ 13.77 ล้านล้านบาท จะเห็นได้ว่าเพิ่มประมาณ 2%

แต่พอเทียบสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP แล้ว กลับเพิ่มขึ้น 6.7% (เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 79.9 ในปี 2562 เป็นร้อยละ 86.6 ในไตรมาส 3 ของปี 2563)

ทำไมตัวเลขหนี้ครัวเรือนของ GDP ถึงเพิ่มขึ้น เพราะ GDP ที่นำมาคำนวณสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ในไตรมาส 1 – 3 ของปี 2563 หดตัวลงถึง 7.74%ในปี 2563 ที่ผ่านมา ทั่วโลกต้องประสบกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด ทำให้ GDP ของไทยและประเทศต่าง ๆ แทบทุกประเทศ ลดลงอย่างมาก

หลาย ๆ ประเทศก็มีหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับประเทศไทย เช่น ออสเตรเลีย นอร์เวย์ สวีเดน เนเธอแลนด์ แคนาดา ฮ่องกง เกาหลีใต้ มาเลเซีย ประเทศต่าง ๆ เหล่านี้ มีหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ตั้งแต่ ร้อยละ 87.5 ไปจนถึงร้อยละ 128.1

หนี้ครัวเรือนที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ ร้อยละ 67 ถูกใช้เพื่อซื้อสังหาริมทรัพย์ รถยนต์ จักรยานยนต์ การศึกษา ซึ่งเป็นหนี้ที่สร้างประโยชน์ให้กับประชาชน สร้างอาชีพสร้างรายได้ในอนาคต

เพื่อให้ประชาชนเห็นภาพที่เข้าใจมากยิ่งขึ้น หนี้ครัวเรือนตั้งแต่ปี 2557 จนถึงไตรมาสที่ 3 ปี 2563 ถ้าเอาตัวเลขมาคำนวณจะพบว่าในรอบ 6 ปีที่ผ่านมาหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 48,000 ล้านบาท ในขณะที่หากย้อนกลับไปดูในไตรมาส 1/2555 จนถึงไตรมาส 2/2557 จะเห็นว่าตัวเลขหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นจาก 7.76 ล้านล้านบาท เป็น 10.14 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 87,000 ล้านบาท มากกว่าช่วงรัฐบาลนี้ 80%

สำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ NPL ของหนี้ครัวเรือน ณ ไตรมาส 3 ปี 2563 ยังอยู่ในระดับต่ำ ร้อยละ 2.91 ของสินเชื่อรวม

รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ ไม่ว่าจะเป็นการขยายระยะเวลาชำระหนี้ การพักหนี้ การลดอัตราดอกเบี้ย การปรับโครงสร้างหนี้ การยกหรือผ่อนปรนดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ การให้สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด ที่เรียกว่า สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ เพื่อเพิ่มช่องทางให้ประชาชนที่ต้องการเข้าถึงเงินกู้ แต่ไม่มีสินทรัพย์และรายได้ที่มั่นคง สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้ง่ายกว่าเดิม และลดการกู้หนี้นอกระบบได้อีกทาง และ เพื่อช่วยเหลือประชาชนไม่ให้เกิดปัญหาข้อมูลเครดิต การผิดนัดชำระหนี้ จนกระทบต่อการประกอบอาชีพในระยะยาว เนื่องจากสถานการณ์โควิด

ล่าสุดรัฐบาลโดยกรมบังคับคดี และธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกับผู้ให้บริการบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล กว่า 22 แห่ง จัดงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล สำหรับลูกนี้ 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มลูกหนี้ NPL ที่มีคำพิพากษาและเข้าสู่กระบวนการบังคับคดีแล้ว กลุ่มลูกหนี้ NPL ที่ยังไม่ถูกฟ้องหรือถูกฟ้องแล้ว และกลุ่มที่ขาดสภาพคล่องชั่วคราว ค้างชำระหนี้เกิน 3 เดือน ประชาชนที่มีปัญหาด้านการชำระหนี้สามารถเข้าร่วมมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ดังกล่าวได้ด้วยการลงทะเบียนผ่านช่องทางออนไลน์ ระหว่างวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ถึง 14 เมษายน 2564 ทาง website ของกรมบังคับคดี หรือธนาคารแห่งประเทศไทย หรือศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน

จากมาตรการต่างๆ ทำให้ภาพรวมการชำระหนี้ของลูกหนี้ปรับตัวดีขึ้น โดยภาพรวมลูกหนี้ที่ขอรับการช่วยเหลือทยอยลดลงจาก 7.2 ล้านล้านบาท ในเดือนกรกฎาคม 2563 เป็น 6 ล้านล้านบาท ในเดือนตุลาคม 2563 และ เมื่อครบกำหนดมาตรการการพักชำระหนี้ ลูกหนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้ขอรับความช่วยเหลือต่อ และสามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ ลูกหนี้รายย่อยที่มียอดหนี้รวม 1.23 ล้านล้านบาท ขณะนี้สามารถกลับมากชำระหนี้ตามเงื่อนไขปกติได้ถึง 70% และอีก 29% มีการปรับโครงสร้างหนี้หรือมีมาตรการผ่อนปรนมารองรับ

โดยอ้างอิงจาก ข้อมูลของกระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ ธนาคารแห่งประเทศไทย

และ 6 ข้อกล่าวหาว่า ทั้งที่รัฐบาลไทยกู้เงินมือเติบ 1.9 ล้านล้านบาท ถือว่ามากสุดในภูมิภาคอาเซียน คิดเป็น 13% ของ GDP แต่ผลที่ได้คือเศรษฐกิจเจ๊งมากสุดในเอเชีย กระตุ้นเศรษฐกิจได้แค่ 6 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 4% ของ GDP และทำเงินหายไป 1.3 ล้านล้านบาท

ทีมงานทำเนียบ เผยว่า ความจริง คือ รัฐบาลกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาโควิด 1 ล้านล้านบาท ไม่ใช่ 1.9 ล้านล้านบาท

เงินกู้โควิด 1 ล้านล้านบาทนั้น ปัจจุบันได้อนุมัติเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลด้านสาธารณสุข จำนวน 16 โครงการ วงเงิน 19,698 ล้านบาท และเป็นค่าใช้จ่ายในการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด รอบที่ 1 ประมาณ 41 ล้านราย และรอบที่ 2 ประมาณ 40.37 ล้านราย วงเงินประมาณ 577,059 ล้านบาท ครอบคลุมกลุ่มผู้มีรายได้น้อย อาชีพอิสระ เกษตรกร กลุ่มเปราะบาง แรงงานประกันสังคม ผ่านโครงการเราไม่ทิ้งกัน โครงการเราชนะ โครงการ ม.33 เรารักกัน ผู้ประกอบการที่เข้าร่วม โครงการต่าง ๆ เหล่านี้ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการรายย่อย เช่น ร้านค้าธงฟ้า ร้านค้าชุมชน ตลาดสด รถแท็กซี่ รถตู้ให้บริการ จักรยานยนต์รับจ้าง สามล้อเครื่อง รถสองแถว เรือโดยสาร ร้านนวด ร้านทำผม หอพัก เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีเงินกู้ที่เป็นค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 232 โครงการ วงเงิน 133,121 ล้านบาท โครงการสำคัญ ๆ ได้แก่ โครงการคนละครึ่ง มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการแล้ว 14.7 ล้านคน มีร้านค้าเข้าร่วมโครงการ ประมาณ 1.3 ล้านแห่ง ได้แก่ ผู้ประกอบการรายย่อย โดยเฉพาะ ตลาดสด กลุ่มหาบเร่ แผงลอย ร้านค้าเล็ก ๆ ในชุมชน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศอีกด้วย โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เพื่อฟื้นฟูภาคธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ วงเงิน 15,000 ล้านบาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image