หญิงหน่อย หวั่น ปชช.ผิดหวังแก้ รธน.อีก ‘พงศ์เทพ’ ยัน ส.ส.ร.เลือกตั้ง จะยกร่างได้ดีกว่าปี 60

‘คุณหญิงสุดารัตน์’ หวั่นประชาชนผิดหวังกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้ง หลังฝ่ายอำนาจพยายามสร้างอภินิหาร หยุดการแก้ไข ด้าน ‘พงศ์เทพ’ ระบุ ส.ส.ร.เลือกตั้ง จะยกร่างได้ดีกว่าปี 60 ‘โภคิน’ ชี้ หาก รธน.แก้ไม่ได้ เท่ากับกำลังปกป้องอำนาจรัฐประหาร

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ที่ Benz Thonglor Club ซอยสุขุมวิท 55 สถาบันสร้างอนาคตไทย จัดงานเสวนาเรื่องรัฐธรรมนูญ : “ฝ่าด่านอรหันต์ หยุดกระบวนการล้มรัฐธรรมนูญประชาชน” วิทยากรโดย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานกลุ่มสร้างไทย, รองศาสตราจารย์ ดร.โภคิน พลกุล, นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ ดำเนินรายการโดย ลักขณา ปันวิชัย หรือคำ ผกา

คุณหญิงสุดารัตน์ ตั้งคำถามว่า เหตุใดการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญจึงทำได้ง่ายและไม่เคยมีความผิด แต่เมื่อประชาชนจะแก้ไขรัฐธรรมนูญของของตนเองกลับยากเย็น โดยเห็นว่า สังคมอยู่ในช่วงเวลาที่ถูกหลอกให้มีความหวัง เช่นเดียวกับตอนร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ฝ่ายผู้มีอำนาจบอกให้ลงประชามติไปก่อน เพื่อจะได้มีการเลือกตั้ง

คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า รัฐบาลกำลังเล่น 2 หน้า สร้างความหวังอีกครั้งว่าจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ท้ายที่สุดประชาชนจะไม่ได้เป็นผู้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ส.ส.ร.จะไม่เกิด แต่กลุ่มเผด็จการ และ ส.ว.ที่มาจากเผด็จการจะเป็นผู้ได้แก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อความได้เปรียบและเสริมความแข็งแกร่งของตนเองให้มากขึ้น

Advertisement


“สำหรับ ส.ส.บางคนที่โยนอำนาจของตนเองให้ผู้อื่นวินิจฉัย เป็นสิ่งที่น่าอับอายมาก ซึ่งนับแต่ทำงานการเมืองมา 29 ปี ไม่เคยเห็นว่ามีสมาชิกรัฐสภายุคไหนจะมีพฤติกรรมที่น่าอับอายเช่นนี้ จึงไม่แปลกที่หลายส่วนในสังคมจึงตั้งคำถามว่า ส.ว.มีไว้ทำไม”
คุณหญิงสุดารัตน์กล่าว

ท้ายสุด คุณหญิงสุดารัตน์ เรียกร้องให้ทุกฝ่าย โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญร่วมกันหาทางออกให้ประเทศ อย่าทำให้ประเทศถึงทางตัน เพราะประชาชนคนตัวเล็กๆ กำลังเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส เกมที่ผู้มีอำนาจกำลังทำ จะให้ไม่มีใครชนะ ประเทศแพ้ ประชาชนแพ้ จึงขอเรียกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยผลประโยชน์ประชาชน และควรมีคำวินิจฉัยออกมาก่อนการลงมติในวาระ 3

Advertisement

นายพงศ์เทพ ระบุว่า รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ไม่มีมาตราใดบัญญัติว่าไม่สามารถยกร่างฉบับใหม่ได้ ระบุเพียงแค่ห้ามเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐและระบอบการปกครองเท่านั้น จึงต้องตั้งคำถามว่า หากห้ามมิให้ยกร่างใหม่ทั้งฉบับ เหตุใดไม่ระบุไว้ หรือหากมีการแก้ไขทุกมาตรายกเว้นเฉพาะเรื่องของรูปแบบของรัฐ รวมถึงรูปแบบการปกครอง มีความต่างกับการยกร่างใหม่ทั้งฉบับอย่างไร

สำหรับศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไร นายพงศ์เทพ เห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญเข้าใจดีว่ารัฐสภาจะลงมติในวาระ 3 เมื่อใด และมีเวลาพอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยให้แล้วเสร็จ ก่อนที่รัฐสภาจะลงมติในวาระ 3 ซึ่งตนเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญจะเข้าใจถึงความจำเป็น ไม่เช่นนั้นก็เป็นเรื่องที่น่ากังวล


“ผมเชื่อว่าไม่ว่าระบบการเลือกตั้ง ส.ส.ร.จะเป็นอย่างไร แต่ ส.ส.ร.ที่ได้จะน่าเชื่อถือ และสามารถยกร่างได้ดีกว่าที่ผ่านมา (ปี 2560) และสุดท้ายประชาชนจะเป็นผู้ตัดสิน เพราะหาก ส.ส.ร.ยกร่างไม่ดีพอ ประชาชนก็จะลงมติไม่เห็นชอบ เพื่อให้เกิดกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่อีกครั้ง”
นายพงศ์เทพกล่าว

ขณะที่ นายโภคิน แสดงความกังวลว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังแก้ไขจะไม่ผ่านวาระ 3 ซึ่งที่ผ่านมาตนเองได้ผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญมายาวนาน ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งมีที่มาจากประชาชน และถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดฉบับหนึ่งของประเทศ อย่างไรก็ตาม จากวิกฤตทางการเมืองที่ต่อเนื่องยาวนานกว่า 10 ปี จึงจำเป็นที่ต้องขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือกัน เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เดินหน้าได้ตามกระบวนการ นำพาประเทศเดินออกจากทางตัน ผลักดันให้เกิดร่างรัฐธรรมนูญโดยประชาชน และผ่านความเห็นชอบโดยประชาชน

ทั้งนี้ นายโภคิน เห็นว่า กรณีที่มี ส.ว.และ ส.ส.ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สามารถแก้ไขได้หรือไม่นั้น คงต้องรอศาลรัฐธรรมนูญว่าจะวินิจฉัยออกมาเมื่อใด หากรัฐสภาให้ความเห็นชอบวาระที่ 3 ไปแล้ว จะไปสู่ขั้นตอนการลงประชามติ ซึ่งถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยหลังผ่านวาระ 3 ว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทำไม่ได้ ผลที่ตามมาจะทำให้ฝ่ายรัฐบาลร่วมกับ ส.ว. จะแก้ไขประเด็นใดก็ได้ และจะแก้ไขประเด็นที่เป็นประโยชน์กับฝ่ายรัฐบาล เพราะฝ่ายค้านไม่มีอำนาจคานกับฝ่ายรัฐบาลและ สว.ได้อีกต่อไป


นายโภคิน
ตั้งข้อสังเกตว่า นับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง สถาปนารัฐธรรมนูญฉบับแรก ทุกฉบับจะมีหมวดที่ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นสิ่งที่เข้าใจตรงกันว่าสามารถแก้ไขรายมาตรา หรือจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้

“สำหรับร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านวาระ 1 และ 2 ของรัฐสภาขณะนี้ ไม่ได้ไปแตะต้องหมวด 1 และ 2 ซึ่งในอดีตก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว มองว่าหากการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่สามารถยกร่างใหม่ได้เท่ากับเป็นการปกป้อง อำนาจของเผด็จการ” นายโภคินกล่าว

ด้าน นายยิ่งชีพ ระบุเห็นด้วยกับการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ทั้งหมด 200 คน ส่วนกรณีใช้เขตเลือกตั้งแบบ 1 เขต 1 คน รวม 200 เขต 200 คนนั้น ถือเป็นเรื่องน่าประหลาด และเชื่อว่าจะมีปัญหาเกิดขึ้นอีกมาก แต่เพื่อเป็นทางออกของปัญหา ศาลรัฐธรรมนูญควรมีคำวินิจฉัยออกมา ก่อนรัฐสภาลงมติวาระ 3

ส่วนกรณีที่ ส.ว.ยื่นคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญ นายยิ่งชีพกล่าวว่า ไม่แน่ใจว่า ส.ว.มีความกังวลในประเด็นใด หรืออาจกังวลว่าหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตนเองจะหมดอำนาจ

อย่างไรก็ตาม หาก ส.ส.หรือ ส.ว.บางคนเห็นว่าไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ได้ก็ให้ลงมติไม่ผ่านในวาระ 3 แล้วชี้แจงกับสังคมให้ได้ว่าเพราะเหตุใด ขออย่าใช้วิธียืมมือศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาช่วยเหลือ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image