สถานีคิดเลขที่12 : ผลงานรัฐสภา โดย นฤตย์ เสกธีระ

ผลงานรัฐสภาชิ้นก่อนปิดสมัยประชุมนั้นน่าประทับใจ

การประชุมร่วม 2 สภา ในการพิจารณาวาระ 2 ของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ก่อนหน้านี้มีปัญหาความขัดแย้งระหว่าง ส.ส.และ ส.ว. โดยเฉพาะเรื่องการคืนอำนาจให้ประชาชน

วุฒิสภาไม่เห็นด้วยเรื่องการเลือกตั้ง ส.ส.ร. 200 คน ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่

Advertisement

แม้ว่าฝ่ายค้านอยากให้เปิดทางให้ประชาชนเลือกตัวแทนมาเป็นผู้ยกร่าง จะได้ไม่มีปัญหาเรื่องวุฒิสภา ไม่มีปัญหาเรื่องสภาผู้แทนราษฎร

จะได้เป็นเรื่องของ ส.ส.ร.ล้วนๆ แต่ก็ยังตกลงกันไม่ได้

กระทั่ง ภายหลังจากคณะกรรมาธิการ 3 ฝ่าย คือ พรรคร่วมรัฐบาล ฝ่ายค้าน และวุฒิสภา ประชุมร่วมกันแล้ว

Advertisement

ที่ประชุมมีมติเป็นเสียงส่วนใหญ่ ยอมให้ ส.ส.ร.เลือกตั้งทั้ง 200 คน

เมื่อเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในวาระ 2

รัฐสภาก็มีมติเป็นเสียงส่วนใหญ่ให้เลือกตั้ง ส.ส.ร.ทั้ง 200 คน เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

นอกจากนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่ใช้แนวทาง “แก้ยาก” คือ ให้ใช้เสียง 2 ใน 3 ในวาระ 1 และวาระ 3

ที่ประชุมถกเถียงแสดงเหตุผลแล้วสรุปเปลี่ยนให้ใช้เสียง 3 ใน 5 คือแก้ไขได้ง่ายเข้า

เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังใช้อยู่นี้อยู่ในยุคที่ไม่เป็นประชาธิปไตย การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงควรจะ “ง่าย” มากกว่า “ยาก”

ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดย ส.ส.ร.นั้นก็ต้องไปขึ้นกับดุลพินิจของ ส.ส.ร.กันต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมรัฐสภายังเห็นด้วยเป็นส่วนใหญ่ว่า เมื่อ ส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญกันแล้วส่งให้รัฐสภาให้ความเห็น แต่ไม่ให้โหวต

เมื่อได้แสดงความคิดเห็นกันเต็มที่แล้ว ให้นำร่างรัฐธรรมนูญที่ร่างใหม่ไปทำประชามติกันเลย

ทั้งกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จึงเปิดทางให้ประชาชนดำเนินการเต็มๆ

ทั้งเลือกตัวแทนมายกร่าง ทั้งให้สิทธิประชาชนตัดสินหลังจากยกร่างเสร็จ

นี่คือผลงานของรัฐสภาก่อนปิดสมัยประชุม

นับจากวันที่รัฐสภามีมติผ่านวาระ 2 นับต่อไปอีก 15 วัน การโหวตวาระ 3 จะเกิดขึ้น

หากผ่านวาระ 3 ไปได้ก็ยังต้องผ่านการทำประชามติอีก

ถ้าประชามติผ่าน ความหวังที่จะได้เห็นประเทศไทยคืนกลับสู่ความสมานฉันท์ก็มีอยู่มาก

เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกลายเป็น “ตัวปัญหา” ในสายตากลุ่มผู้เห็นต่าง

และบังเอิญว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเกิดขึ้นในยุครัฐประหาร มีภารกิจหนึ่งคือปูทางให้แก่ผู้รัฐประหาร

ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจึงไม่ควรจะอยู่นาน หรือแก้ไขยาก

การที่ที่ประชุมรัฐสภาเห็นพ้องกับรายละเอียด จึงเป็นนิมิตหมายที่ดีในการสร้างความสมานฉันท์

และเชื่อว่าเมื่อรัฐสภาผ่านวาระ 3 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปได้

นี่จะเป็นผลงานชิ้นเอกของรัฐสภาชุดปัจจุบัน

ผลงานที่รัฐสภาเคยตั้งเป้าหมายในการลดความขัดแย้ง

ขจัดความขัดแย้งด้วยการยกร่างกติกาใหม่โดยคนที่ถูกปกครอง

เป็นรัฐธรรมนูญที่น่าจะได้รับการยอมรับมากกว่าเดิม

เพราะประชาชนเลือกคนมายกร่าง

และประชาชนก็เป็นคนลงประชามติโหวตรัฐธรรมนูญที่ตัวแทนไปยกร่างมากับมือด้วยเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image